เร่งรีบผลักดันเกินไป!สตง.เสนอแนะ บิ๊กตู่ ห่วงโครงการกำจัดขยะมูลฝอยเหลว
สตง. ทำหนังสือเสนอแนะ 'บิ๊กตู่' วางแผนทำโครงการจัดการขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟให้มีประสิทธิภาพ ระบุชัดมีความเป็นห่วงรัฐบาลเร่งรีบผลักดันมากเกินไป ขาดเครื่องมือ-รับฟังความคิด ปชช. อาจนำมาซึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อม และชุมชน ระยะยาว แถมสูญเสียงบประมาณแผ่นดิน ย้ำต้องศึกษารอบคอบทุกด้าน เพื่อให้เกิดความยั่งยืน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2559 ที่ผ่านมา นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผนดิน (สตง.) มีหนังสือด่วนที่สุดถึงนายกรัฐมนตรี เรื่อง ข้อเสนอเกี่ยวกับการจัดการขยะมูลฝอยโดยใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า
ระบุข้อความว่า ตามที่รัฐบาลได้กำหนดให้การจัดการขยะมูลฝอยเป็นวาระแห่งชาติ และจัดทำ Roadmap การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย ประกอบด้วย การกำจัดขยะมูลฝอยตกค้างสะสมในสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย สร้างรูปแบบการจัดการที่เหมาะสม วางระเบียบมาตรการบริหารจัดการ และสร้างวินัยของคนในชาติมุ่งสู่การจัดการที่ยั่งยืน ซึ่งในการสร้างรูปแบการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย รัฐบาลให้ความสำคัญกับแนวทางการกำจัด โดยเทคโนโลยีแบบผสมผสาน เน้นการแปรรูปเป็นพลังงาน โดยการสนับสนุนให้เอกชนมาลงทุน หรือร่วมลงทุน และผ่อนปรนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การกำจัดขยะมูลฝอยตามนโยบายของรัฐเป็นไปอย่างรวดเร็ว คล่องตัว และทันต่อสถานการณ์ปัญหาขยะมูลฝอยของประเทศ
โดยเฉพาะการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกะทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งกฎหมายกำหนดให้โรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่มีกำลังผลิตไฟฟ้าตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ขึ้นไป จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)
ต่อมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ประกาศยกเลิกให้โครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าวที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิง ไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และให้ใช้ประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practice : CoP) แทน โดย กำหนดให้ผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า จะต้องดำเนินการตามประมวลหลักการปฏิบัติ (CoP) ซึ่งถือว่าเป็นหลักเกณฑ์การปฏิบัติขั้นต่ำ สำหรับนำไปใช้เป็นมาตรการป้องกัน แก้ไข และติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ นั้น
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีความห่วงใยต่อปัญหาขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายของประเทศ จึงได้มีหนังสือกราบเรียนนายก ฯ นำเสนอประเด็นปัญหาที่พบจากการตรวจสอบ และข้อเสนอในเชิงนโยบายเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว มาอย่างต่อเนื่อง
โดยมุ่งหวังให้การแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดความยั่งยืน ตลอดจน การใช้จ่ายเงินงบประมาณเป็นไปอย่างคุ้มค่า และเห็นว่า การจัดการขยะมูลฝอยโดยใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นแนวทางสำคัญที่จะทำให้การจัดการขยะมูลฝอยบรรลุผลสำเร็จตามเป้ามายอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้ง ยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มในการจัดการขยะมูลฝอย
อย่างไรก็ตาม การยกเว้นการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) สำหรับโครงการไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิงดังกล่าว ทำให้รัฐขาดเครื่องมือ และกลไกสำคัญในการคาดการณ์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการดำเนินโครงการ และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน อาจนำมาซึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อม และความขัดแย้งของชุมชน เนื่องจาก การเผาขยะมูลฝอยเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า อาจก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ และสารโลหะหนักบางชนิดที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชน เช่น สารไดอ๊อกซินและฟูราน ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน สารปรอท รวมทั้ง ปัญหาน้ำเสียจากขยะมูลฝอยปนเปื้อนแหล่งน้ำชุมชน
นอกจากนี้ การที่รัฐเร่งผลักดันโครงการดังกล่าว อาจทำให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความเร่งรีบ ขาดความรอบคอบ และความโปร่งใสในกระบวนการต่าง ๆ โดยเฉพาะการจัดหาสถานที่ก่อสร้าง และกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ ส่งผลให้โครงการไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย และขาดความยั่งยืน
สตง. เห็นว่า เพื่อให้การดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิง เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล เกิดความยั่งยืน โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จนกลายเป็นปัญหารูปแบบใหม่ซ้ำเติมประชาชนและชุมชน และสูญเสียเงินงบประมาณแผ่นดินในการกำจัดหรือฟื้นฟูสภาพแวดล้อม และสุขภาพประชาชนจากปัญหาดังกล่าว จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาล เพื่อพิจารณาสั่งการให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้
1.การส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิง จะต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการอย่างละเอียดรอบคอบ และคำนึงถึงศักยภาพและความพร้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งในเรื่องการจัดหาสถานที่ ปริมาณ และคุณสมบัติของขยะมูลฝอยในพื้นที่ ระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ และการยอมรับของประชาชนและชุมชน เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการให้บรรลุสำเร็จตามเป้าหมาย
2.การพิจารณาอนุมัติ อนุญาต และควบคุม กำกับดูแลการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิง จะต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง รอบคอบ เป็นไปตามกฎหมายและประมวลหลักการปฏิบัติ (CoP) ที่กำหนดอย่างเคร่งครัด
3.กำหนดแนวทางการติดตามตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดในประมวลหลักการปฏิบัติ (CoP) และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องที่เหมาะสม เพียงพอ สอดคล้องกับลักษณะโครงการและสภาพพื้นที่ดำเนินโครงการในทุกขั้นตอนของการดำเนินโครงการ รวมทั้ง การติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมบริเวณโดยรอบพื้นที่ดำเนินโครงการ ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดอย่างเคร่งครัด โดยเปิดโอกาสให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการติดตามตรวจสอบดังกล่าว
4.จัดให้มีการติดตามและประเมินผลการนำปฏิบัติตามประมวลหลักการปฏิบัติ (CoP) มาใช้แทนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยรวบรวมปัญหาอุปสรรค จุดอ่อน หรือผลกระทบที่เกิดขึ้น และนำเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อพิจารณาปรับปรุง แก้ไข หรือทบทวนการนำประมวลหลักการปฏิบัติ (CoP) มาใช้สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิง ต่อไป
อย่างไรก็ดี สตง. เห็นว่า ในการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยของประเทศให้ประสบความสำเร็จและเกิดความยั่งยืน รัฐบาลจะต้องเพิ่มความสำคัญกับการจัดการที่ต้นเหตุหรือแหล่งกำเนิดขยะมูลฝอย และดำเนินการเป็นระบบ โดยอาศัยกลไกและช่องทางต่าง ๆ โดยเฉพาะการให้ความรู้และการปลูกจิตสำนึกให้กับเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา และการรณรงค์ให้ประชาชนในชุมชนตระหนักถึงปัญหาขยะมูลฝอยและเกิดจิตสำนึกในการลดปริมาณขยะมูลฝอย (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) และการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) ตลอดจน การคัดแยกขยะมูลฝอยก่อนทิ้ง เพื่อลดภาระในการจัดการขยะมูลฝอยของประเทศในระยะยาว
จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง