กฤษฎีกาสวน สตง.! ยันหน้าที่ อปท.มีสิทธิ์เบิกงบฉีดยากันพิษสุนัขบ้า
กฤษฎีกาตีความสวน สตง.! ยัน อปท. มีหน้าที่ฉีดยาป้องกันพิษสุนัขบ้านตามประกาศของกรมปศุสัตว์ เหตุกฎหมายท้องถิ่นกำหนดไว้ แถมมีสิทธิ์เบิกงบประมาณเพื่อสนับสนุนด้วย ไม่ต้องเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากเจ้าของสัตว์
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตอบข้อหารือของกรมปศุสัตว์ กรณีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ระบุทำนองว่า การฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าไม่ใช่หน้าที่ของเทศบาลตำบลสุรนารี จ.นครราชสีมา แต่เป็นหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ ขณะเดียวกันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีอำนาจหน้าที่ในการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนและดำเนินการตามประกาศของกรมปศุสัตว์ กรณีการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า ตาม พ.ร.บ.โรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ.2535 หรือไม่
โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 1 และคณะที่ 10 พิจารณาข้อหารือของกรมปศุสัตว์ โดยมีผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรี (สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (สำนักงานปลัดกระทรวงและกรมปศุสัตว์) ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย (กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น) ผู้แทน สตง. ผู้แทนเทศบาลตำบลสุรนารี และผู้แทนกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริง โดยมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัย 2 ประเด็น
ประเด็นแรก การดำเนินการตาม พ.ร.บ.โรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ.2535 ถือเป็นภารกิจของหน่วยงานใด ระหว่างกรมปศุสัตว์กับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น
เห็นว่า โดยที่ พ.ร.บ.โรคพิษสุนัขบ้าฯ มุ่งประสงค์ให้กรมปศุสัตว์ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมและป้องกันโรคระบาดสัตว์ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2499 เป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมาย เนื่องจากมีสัตวแพทย์เพียงพอปฏิบัติหน้าที่อยู่ทั่วประเทศและสามารถผลิตวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าสำหรับสัตว์ได้เองในราคาถูก ตลอดจนเป็นหน่วยงานที่มีความพร้อมและเหมาะสมในการควบคุมและป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า กรมปศุสัตว์จึงมีหน้าที่ในการควบคุมและป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตาม พ.ร.บ.โรคพิษสุนัขบ้าฯ และมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดในกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ.2557 ด้วย
อย่างไรก็ดีกฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายฉบับได้กำหนดอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการป้องกันและระงับโรคติดต่อหรืออำนาจหน้าที่ในด้านการสาธารณสุขไว้ อีกทั้งบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.โรคพิษสุนัขบ้าฯ ได้กำหนดหน้าที่เกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าให้แก่เจ้าพนักงานท้องถิ่น สัตวแพทย์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และราชการส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องดำเนินการหลายประการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงมีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดในการป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าซึ่งเป็นโรคติดต่อตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อด้วย
ประเด็นที่สอง หากกรมปศุสัตว์ออกประกาศตามมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.โรคพิษสุนัขบ้าฯ กำหนดเขตท้องที่เพื่อทำการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้านโดยไม่เสียค่าธรรมเนียม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนและดำเนินการตามประกาศกรมปศุสัตว์ได้หรือไม่นั้น
เห็นว่า เมื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดในการป้องกันและระงับโรคติดต่อซึ่งรวมถึงโรคพิษสุนัขบ้าด้วย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นย่อมมีอำนาจที่จะตั้งงบประมาณเพื่อการดำเนินการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าเพื่อใช้ในการจัดซื้อและฉีดวัคซีน ตลอดจนคุมกำเนิดสัตว์ควบคุมในพื้นที่ของตนได้ โดยการใช้จ่ายเงินงบประมาณต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
แต่โดยที่ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า กรณีของเทศบาลตำบลสุรนารีตามที่หารือมานี้ ไม่มีการประกาศของอธิบดีกรมปศุสัตว์กำหนดเขตท้องที่ตามมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.โรคพิษสุนัขบ้าฯ ครอบคลุมพื้นที่เทศบาลตำบลสุรนารี เจ้าของสัตว์ควบคุมจึงต้องเสียค่าธรรมเนียมการฉีดวัคซีนสัตว์ควบคุมตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่หารือมานี้ปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า เทศบาลตำบลสุรนารีได้รับแจ้งขอความร่วมมือจากจังหวัดนครราชสีมาว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมปศุสัตว์) กระทรวงสาธารณสุข (กรมควบคุมโรค) กระทรวงมหาดไทย (กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินโครงการรณรงค์ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นประจำทุกปี โดยในปี พ.ศ. 2556 ได้กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 มีนาคม ถึง 30 เมษายน 2556
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สุนัขและแมวได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นครอบคลุมทุกพื้นที่ และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าและการดูแลสัตว์เลี้ยงอย่างถูกต้อง รวมถึงมีความรับผิดชอบต่อสัตว์เลี้ยงของตนเอง ซึ่งจะช่วยลดการเกิดโรคในสัตว์และจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าได้ และช่วยให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามแผนยุทธศาสตร์การกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปภายในปี พ.ศ. 2563
ซึ่งทำให้เทศบาลตำบลสุรนารีเชื่อโดยสุจริตว่าจะมีการออกประกาศของอธิบดีกรมปศุสัตว์กำหนดเขตท้องที่ตามมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.โรคพิษสุนัขบ้าฯ ครอบคลุมถึงพื้นที่เทศบาลตำบลสุรนารีด้วย เหมือนเช่นที่เคยปฏิบัติมาในทุก ๆ ปี ประกอบกับเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของเทศบาลตำบลสุรนารีในการป้องกันและระงับโรคติดต่อตามมาตรา 50 (4) แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496
ดังนั้น จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นจึงเห็นว่า แม้ในปี พ.ศ. 2556 ไม่มีการประกาศกำหนดเขตท้องที่ตามมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.โรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535 ครอบคลุมถึงพื้นที่เทศบาลตำบลสุรนารีก็ตาม เทศบาลตำบลสุรนารีก็ย่อมดำเนินการฉีดวัคซีนและให้ยาคุมกำเนิดสัตว์ควบคุม โดยไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากเจ้าของสัตว์ควบคุมได้ตามอำนาจหน้าที่ของตน
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก sanamkhao.com