ทหารวอนทุกฝ่ายร่วมปฏิเสธความรุนแรง ดันพูดคุยดับไฟใต้เดินหน้า
ช่วงก่อนหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ คณะทหารที่รับผิดชอบพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้จัดเวทีพบปะกับสื่อมวลชนและภาคประชาสังคม เพื่อชี้แจงและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความไม่สงบ และสถาปนาสันติสุขในดินแดนปลายสุดด้ามขวาน
เวทีดังกล่าวใช้ชื่อว่า “พบปะพูดคุยสันติสุข” จัดขึ้นเมื่อวันอังคารที่ 12 เม.ย.59 ที่ห้องประชุมกองพลทหารราบที่ 15 ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ฝ่ายทหารที่เข้าร่วมพบปะพูดคุยนำโดย พล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ แม่ทัพภาคที่ 4 และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (ผอ.รมน.ภาค 4)
พล.ท.วิวรรธน์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ถือเป็นโอกาสอันดีที่สื่อมวลชนกับภาคประชาสังคมได้ร่วมพูดคุยกับหน่วยงานความมั่นคง เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกันในเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐที่มีความก้าวหน้าไปมาก โดยเฉพาะเรื่องของการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้ปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี พื้นที่เกิดความสันติสุข ซึ่งถือเป็นนโยบายหลักที่ทางรัฐบาลเน้นย้ำมาโดยตลอด
“ทุกวันนี้เราต้องการคนจริง ทำจริงมาร่วมทำงาน ถ้าคนพลาดเราจะแก้ที่คน ถ้านโยบายผิดหรือถูกต้องน้อย ก็แก้ที่นโยบาย ทุกอย่างอยู่ที่เราร่วมคิดร่วมทำกัน หลังจากนี้จะขอนัดกเจอสื่อมวลชน 2เดือนครั้ง เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน และหลังจากนี้จะดำเนินการติดตามกลุ่มบุคคลที่ส่งข้อมูลผ่านสื่อออนไลน์ ทำให้คนอื่นสับสน ยืนยันว่าจะเรียกมาคุย ถ้าคุยที่นี่ไม่รู้เรื่อง ก็จะพาขึ้นฮ. (เฮลิคอปเตอร์) ไปนครฯ (จ.นครศรีธรรมราช ที่ตั้งของกองทัพภาคที่ 4)” แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าว
ประเด็นที่มีการซักถามถึงความคืบหน้า คือ กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่ง พล.ต.ชินวัฒน์ แม้นเดช รองแม่ทัพภาคที่ 4 รับหน้าที่อรรถาธิบาย
พล.ต.ชินวัฒน์ กล่าวว่า การพูดคุยไปลึกและไปไกลเกินกว่าที่จะหยุดยั้งได้ ฉะนั้นถ้าพี่น้องประชาชนไม่เข้าใจการพูดคุย และไม่รับรู้เรื่องการพูดคุย ต้องถือว่าอันตรายมาก สิ่งที่รัฐเดินหน้าโครงการประชารัฐร่วมใจ คือ การสร้างความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนด้วยงานสำคัญคือการคุมพื้นที่ให้เกิดความปลอดภัย ซึ่งก็คือการเปิดสภาพพื้นที่ให้กลุ่มเห็นต่างทั้งหมดกล้าออกมาคุย กล้าออกมาพูด กล้าออกมาแสดงความคิดเห็น กล้าออกมาระบายความเครียดที่อยู่ในใจว่าเขารู้สึกอย่างไรกับรัฐ รู้สึกอย่างไรกับการดำเนินการของรัฐ และเขาต้องการอย่างไร
ถ้าพื้นที่เดินสู้ทิศทางเดียวกันคือสันติสุขและปฏิเสธความรุนแรงร่วมกัน จะบีบบังคับให้ทุกกลุ่มกลับมาสู่กระบวนการพูดคุยทั้งหมด วันนี้เราอาจต้องยอมรับความจริงว่ามีบางกลุ่มที่ยังเดินความรุนแรงอยู่อย่างเต็มที่ และอาศัยเงื่อนไขบางประเด็นที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งพี่น้องประชาชนเองก็ยังไม่เข้าใจเงื่อนไขเหล่านั้น แล้วอ้างเงือนไขเหล่านั้นสร้างความรุนแรง
หากพิจารณาจากสถิติ พบว่า ความรุนแรงที่เกิดอุปสรรคมากที่สุด คือความรุนแรงที่เกิดหลังเงื่อนไขปอเนาะญิฮาด (โรงเรียนญิฮาดวิทยา ถูกศาลแพ่งสั่งยึดที่ดิน แต่ครอบครัวเจ้าของที่ดินเดิมไม่อุทธรณ์ ทำให้คดีถึงที่สุด) ความรุนแรงนี้เชื่อว่าเหมือนไฟไหม้ฟาง จะขึ้นๆๆ ไปสักพักก็จะหยุดลง เมื่อกระแสสังคมปฏิเสธสิ่งเหล่านี้ เมื่อกระแสสังคมเข้าใจการดำเนินการของรัฐต่อปอเนาะญิฮาดในการแยกผิดแยกถูก แยกดีแยกชั่ว แยกความดีงามกับความชั่วร้ายของปอเนาะญิฮาดออกให้ได้ ถ้าสังคมแยกได้ เงื่อนไขนี้จะยุติลง ความรุนแรงจะค่อยๆ เบาลง และท้ายที่สุดกระบวนการพูดคุยจะเดินต่อไปได้
“ผมยกตัวอย่างง่ายๆ เรานัดกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ 3 ครั้งแล้ว ครั้งแรก ปลายเดือน ก.พ.59 พอเกิดเหตุรุนแรงก็เลือนไป ครั้งที่2 ก่อนเหตุการณ์เจาะไอร้อง (เหตุลอบวางระเบิดและบุกยึดโรงพยาบาลเพื่อโจมตีฐานทหารพราน) พอเกิดเหตุรุนแรงที่เจาะไอร้องก็เลื่อนไปอีก ครั้งที่ 3 นัดกัน แล้วเกิดเหตุรุนแรง ก็เลื่อนไปอีก การเลื่อนเช่นนี้บ่งบอกว่าถ้าความรุนแรงยังเกิดขึ้นในพื้นที่ แล้วพี่น้องประชาชนไม่ร่วมกัน ปฏิเสธความรุนแรง กระบวนการพูดคุยจะมีปัญหาทันที”
“สิ่งที่แม่ทัพภาคที่ 4 ทำทั้งหมด เพื่อต้องการให้พื้นที่นิ่ง เหตุลดลงอย่างมาก จนเปิดพื้นที่ให้พี่น้องประชาชนกล้าออกมาแสดงความคิดเห็น กล้าออกมาแสดงออก และกล้าออกมาปฏิเสธความรุนแรง มันจะบีบให้กลุ่มที่ใช้ความรุนแรงกลับเข้าสู่กระบวนการพูดคุย และการพูดคุยทุกวันนี้มันบรรลุข้อตกลงไปหลายข้อ ข้อตกลงสำคัญที่ฝ่ายโน้นเสนอมา คือให้การพูดคุยเป็นวาระแห่งชาติ ท่านนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รับเป็นวาระแห่งชาติ”
“สำหรับข้อเสนอของเราที่ยื่นให้เขาเพื่อแลกกัน คือ สร้างพื้นที่ปลอดภัย กำหนดพื้นที่ปลอดภัยร่วมกัน วันนี้ได้จัดตั้งคณะกรรมการเทคนิคร่วมระหว่างผู้เห็นต่างฯกับเรา มาคุยกันก่อนว่าพื้นที่ที่จะประกาศเป็นพื้นที่ปลอดภัย จะเอาพื้นที่ไหนและจะทำกันอย่างไร ประเด็นที่คณะพูดคุยชุดใหญ่นัดกันและต้องเลื่อนออกไป ก็จะไปคุยกันเรื่องนี้ ส่วนเรื่องกระบวนการยุติธรรม แม่ทัพภาคที่ 4สั่งการให้กระทรวงยุติธรรมศึกษากระบวนการยุติธรรมทางเลือกที่สอดคล้องและเหมาะสมกับพื้นที่ ซึ่งสอดรับกับที่ฝ่ายผู้เห็นต่างเสนอมาว่าเขาต้องการการคุ้มครองทางกฎหมายในบางกรณี”
พล.ต.ชินวัฒน์ ย้ำว่า ขณะนี้การพูดคุยไปไกลแล้ว แต่พอเกิดเหตุรุนแรงแล้วทุกอย่างชะงักลง สิ่งที่อยากเสนอก็คือ ทำอย่างไรที่พี่น้องประชาชน ภาคประชาสังคม ยืนอยู่ตรงกลาง และปฏิเสธความรุนแรงทุกรูปแบบ เพื่อให้พื้นที่นิ่งให้ได้ ถ้าทำได้ก็เชื่อว่าการพูดคุยจะบรรลุผล เราจะเห็นแสงไฟที่ปลายอุโมงค์อยู่ไม่ไกล
“อย่างที่ท่านรองนายกฯ (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) บอกว่าถ้านิ่ง เหตุการณ์ยุติลง เงินจำนวน 3 หมื่นกว่าล้านบาทต่อปีจะลงมาสู่กระบวนการพัฒนาทั้งหมด ยกระดับสังคมที่นี้ขึ้นสู่สังคมที่ทัดเทียมกับมาเลเซียได้ รัฐบาลมองเรื่องนี้ เพราะตอนนี้เข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว การพัฒนาสังคมให้ทัดเทียมกันมันทำให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนจริงๆ” รองแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าว
ด้าน ลม้าย มานะการ ประธานกลุ่มผู้หญิงเพื่อสันติภาพ หนึ่งในภาคประชาสังคมชายแดนใต้ กล่าวว่า ผู้หญิงชายแดนใต้ขอเสนอให้นำประเด็นพื้นที่ปลอดภัย ขึ้นมาพูดคุยบนโต๊ะ ทั้งปาร์ตี้ A และปาร์ตี้ B และขอให้อย่าให้มีการเลือกเป็นอำเภอแต่ให้มีการใช้พื้นที่สาธารณะกำหนดให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : บรรยากาศในที่ประชุมพบปะพูดคุยสันติสุข