ข้อเสนอแก้ไขปัญหา 3 เส้า "แพทย์-คนไข้และตุลาการ"
"พวกท่านเป็นพลังที่สำคัญที่สุดครับ ต้องเลิกเงียบ และหันมาช่วยกัน เริ่มที่ตัวท่านและครอบครัว หากเชื่อผม ได้โปรดมองซ้ายมองขวา และเริ่มทำ" ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
หมายเหตุ : เป็นข้อความที่ ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ โพสต์บนเฟซบุ๊กส่วนตัว ชื่อ Thira Woratanarat
กระทรวงสาธารณสุข ครับ ...โปรดช่วยจัดการค่าเสียหาย อย่าไล่เบี้ยคุณหมอ อย่างน้อย เพื่อแสดงออกซึ่งการห่วงใย และปกป้องคนทำงานของเรา ที่ทำงานอย่างบริสุทธิ์ใจ
แพทยสภา ครับ... โปรดสร้างกลไกที่มีผู้เชี่ยวชาญในการจัดการคดีฟ้องร้องอย่างครบวงจร เพราะตอนนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ
คุณหมอ ครับ... เต็มที่กับการดูแลรักษาตามทรัพยากรที่มีจริง เต็มที่กับการสื่อสาร หากไม่แน่ใจหรือไม่มั่นใจ กรุณาส่งต่อหรือปรึกษาตามขั้นตอนเลย ไม่ต้องกังวล เรื่อง ปริมาณงาน และคิวการรอ เพราะแรงกระเพื่อมจากกรณีวัณโรคกำลังจะมาถึงอย่างรุนแรง จากการเลียนแบบคดี
ในขณะที่ ระบบสนับสนุนเพื่อปกป้องคนทำงานยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
สปสช. กรมบัญชีกลาง และสำนักงานประกันสังคม ครับ... ช่วยกำหนดเกณฑ์การสนับสนุน และเบิกจ่าย สำหรับการตรวจรักษาให้ชัดเจน เบิกจ่ายให้ทันท่วงที และหากเป็นไปได้อยากให้ช่วยพิจารณาร่วมกัน จัดตั้งกองทุนสำหรับจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพ เพื่อช่วยจัดการดูแล และปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ในระบบอย่างครบวงจร
ท่านตุลาการ และระบบอำนวยความยุติธรรม ครับ... จำเป็นต้องพิจารณายอมรับแล้วว่า การดูแลรักษาชีวิตนั้นไม่ควรได้รับการจัดอยู่ในประเภทสินค้าหรือบริการ เพราะมีปัจจัยอื่น ๆ ที่มีอิทธิพลต่อการทำงานมากกว่าสินค้า หรือบริการจากโรงงานการผลิต ถึงเวลาต้องจัดตั้งกลไกพิจารณาเฉพาะทางการแพทย์แล้ว
ผู้บริหารโรงพยาบาลภาครัฐทุกท่าน ครับ... จำเป็นมากเลย ที่ท่านจะแสดงบทบาทช่วยบุคลากรที่รักของเรา คนดีมีมากกว่าคนบกพร่อง ต้องรีบปรับระบบให้เป็นบ้านที่คนอยู่อย่างมีความสุข และปลอดภัย ทำอย่างไร นี่คือ คำตอบเบื้องต้น
1.ยอมรับสัจธรรมว่า ทรัพยากรจำกัด ทั้งคน เงิน ของ ดังนั้น หันมาช่วยกันกำหนดว่า เราจะดูแลประชาชนได้แค่ไหน จึงจะมีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐาน และคนทำงานมีความสุข และคุณภาพชีวิต
2.เลิกหลอกหลอนตัวเองว่า จะช่วยคนได้ทั้งโลกอย่างไม่มีการจำกัด เพราะเป็นไปไม่ได้จริง หากฝืนทำเกินกำลังของระบบที่จะรับไหว คุณภาพก็จะแย่ลง ประชาชนก็จะได้รับผลกระทบ ปัญหาฟ้องร้องก็จะตามมาเป็นทวีคูณ
3.ขอเถอะ... เลิกลุ่มหลงกับการเอานักรีดผลผลิต และพวกที่เอาคณิตศาสตร์มาจัดระบบการทำงานเพื่อหวังเพิ่มประสิทธิภาพ เพราะตัวเลขที่เก็บมาในช่วงเวลาใดก็ตาม ไม่ได้สะท้อนระบบสุขภาพเลย... "ตัวเลขนั้นไม่มีชีวิตนะครับ แต่คนในระบบของเราสิมีชีวิตจริง"
4.เตียงเต็มจนล้น... คิวยาวเป็นปี... สองเรื่องนี้ คือ สัจธรรม เพราะทรัพยากรที่มีนั้นน้อยเกินกว่าที่จะดูแลอุปสงค์ทั้งหมดที่มีมากเกินกว่าจะคาดประมาณได้ ดังนั้น ต้องยอมให้เป็นเช่นนั้นไป โดย ไม่ฝืนธรรมชาติ จากนั้น เราจะเห็นการปรับตัวของประชาชน เพื่อเรียกร้อง แสวงหา และยอมรับในสิ่งที่มีตามอัตภาพ และเข้าสู่ "ภาวะพอเพียง" ได้จริง
ตอนนี้ กระแสวัตถุนิยม บริโภคนิยม และลุ่มหลงแต่กิเลสส่วนตน นั้น มันแรงเกินกว่าจะหยุดยั้ง เราจึงเห็นกระแสเรียกร้องสิทธิ โดย ไม่คำนึงถึงบทบาทหน้าที่ และความรับผิดชอบที่พึงมี และไม่สามารถรณรงค์ให้เกิดความพอเพียงได้ในสังคม
ประชาชนทุกท่านที่ดีและเห็นอกเห็นใจหมอ และบุคลากรทางการแพทย์ ครับ... พวกท่านเป็นพลังที่สำคัญที่สุดครับ ต้องเลิกเงียบ และหันมาช่วยกัน เริ่มที่ตัวท่านและครอบครัว หากเชื่อผม ได้โปรดมองซ้ายมองขวา และเริ่มทำ ดังนี้
1.หาคุณหมอที่ท่านคุ้นเคยใกล้ชิด หรือไว้ใจ และทาบทามเป็นหมอประจำตัว และประจำครอบครัวของท่าน ดีทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นหมอทั่วไป หรือเฉพาะทางด้านใดก็ตาม
2.ทุกครั้งที่สงสัยเรื่องสุขภาพ หรือเจ็บป่วยไม่สบาย ให้ปรึกษา หรือเริ่มกระบวนการดูแลรักษากับคุณหมอที่ท่านทาบทาม ก่อนที่จะไปยังคุณหมอท่านอื่น กระบวนการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาระบบหมอประจำตัว และช่วยจัดระเบียบระบบดูแลรักษาระยะยาว แถมจะช่วยพัฒนาความไว้เนื้อเชื่อใจกับการสื่อสารในสังคม ด้วยเครือข่ายเล็ก ๆ อย่างตัวท่านหรือครอบครัวท่านจะสร้างผลกระทบเชิงบวกมหาศาล อาจใช้เวลาหน่อยแต่จะค่อย ๆ ขยายตัวขึ้นอย่างแน่นอน
เหล่านี้ คือ ข้อเสนอจากผมถึงทุกท่านครับ รู้ทั้งรู้ว่า หลายข้ออาจทำให้ไม่ถูกใจท่าน แต่หากเปิดใจ ดูสถานการณ์จริงตอนนี้ และคุยกับคนทุกฝ่ายอย่างรอบด้าน จะเห็นชัดเจนว่า ที่กล่าวมา คือ ความจริง
หากไม่ช่วยกันอย่างจริงจัง ตั้งแต่บัดนี้... วิกฤติที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ จะหนักหนาเกินกว่าที่เยียวยาได้จริง ๆ ครับ
ด้วยความจริงใจต่อทุกคน
ภาพประกอบจาก : https://www.hfocus.org/