เตือนหน้าร้อนช่วงสงกรานต์ 10 เมนูเสี่ยงท้องร่วง สธ.เผย พบผู้ป่วยแล้วกว่า 3 แสนคน
กระทรวงสาธารณสุข เตือนช่วงสงกรานต์อากาศร้อน อาหารบูดเสียได้ง่าย เตือนระวัง 10 เมนูยอดนิยมที่ปรุงจากเนื้อสัตว์แบบสุกๆดิบๆ หรือมีส่วนผสมของกะทิ เสี่ยงเป็นโรคอุจจาระร่วง โดยปี2559นี้ พบป่วยแล้วกว่า 3 แสนคน แนะประชาชนยึดหลัก “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ”
14 เมษายน 2559 เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข เผยว่า สถานการณ์โรคอุจจาระร่วงปี2559นี้ ตั้งแต่ 1 มกราคม-4 เมษายน มีผู้ป่วยมากกว่า 3 แสนคน เสียชีวิต 2 ราย
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) กล่าวว่า เทศกาลสงกรานต์ปีนี้ที่มีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน ประชาชนส่วนใหญ่เดินทางกลับบ้านที่ต่างจังหวัดหรือท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยว ขอให้เพิ่มความระมัดระวังเรื่องความสะอาดของอาหารและน้ำดื่ม ทั้งอาหารที่ปรุงเองอาหารสั่งซื้อ เนื่องจากอากาศร้อนทำให้อาหารบูดเสียได้ง่าย ขอให้ยึดแนวปฏิบัติดังนี้
ในกลุ่มผู้ประกอบการอาหาร ขอให้ปรุงอาหารให้สุกด้วยความร้อนทั่วถึง ล้างผัก/ผลไม้ด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง แยกมีด เขียงที่ใช้หั่นอาหารดิบและอาหารสุก ดูแลครัวให้สะอาด จัดเตรียมอาหารไว้พอจำหน่ายไม่จำหน่ายอาหารเหลือค้างคืน
ส่วนผู้บริโภคขอให้ยึดหลัก กินร้อน คือ รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ใช้ช้อนกลาง คือ เมื่อรับประทานอาหารในหมู่มากร่วมกัน ควรใช้ช้อนกลางในการตักอาหาร และหมั่นล้างมือ คือ ต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร ก่อนปรุงอาหาร หลังขับถ่าย และหลังสัมผัสสิ่งสกปรก
รมว.สธ. กล่าวต่อว่า โรคระบบอาหารที่มาจากอาหารและน้ำไม่สะอาดพบได้บ่อยในช่วงอากาศร้อน โดยพบว่ามี 10 เมนูยอดนิยมที่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษเสี่ยงต่อการเกิดโรคอุจาระร่วง ได้แก่ ลาบ/ก้อยดิบ ยำกุ้งเต้น ยำหอยแครง ข้าวผัดโรยเนื้อปู อาหารหรือขนมที่มีส่วนประกอบของกะทิสด ขนมจีน ข้าวมันไก่ ส้มตำ สลัดผัก และน้ำแข็งที่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน
"ขอให้เลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ โดยเฉพาะอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ หมู ไก่ ไข่ อาหารทะเล ควรปรุงให้สุก หลีกเลี่ยงการปรุงโดยวิธีลวกหรือพล่าสุกๆ ดิบๆ ส่วนอาหารถุง อาหารกล่อง ควรแยกอาหารใส่ถุงออกจากข้าว และรับประทานภายใน 2- 4 ชั่วโมงหลังจากปรุงเสร็จ หากยังไม่รับประทานต้องเก็บไว้ในตู้เย็นและอุ่นให้ร้อนก่อนนำมารับประทาน กรณีมีกลิ่นผิดปกติไม่ควรรับประทานเด็ดขาด”
สำหรับอาการของผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงคือ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลวบ่อยครั้ง อาจมีไข้ การดูแลเบื้องต้นให้ดื่มน้ำละลายผงน้ำตาลเกลือแร่ (โอ อาร์ เอส) เพื่อป้องกันการขาดน้ำ หากอาการไม่ดีขึ้น ยังถ่ายบ่อย รับประทานอาหารไม่ได้ กระหายน้ำมากกว่าปกติ หรืออุจจาระเป็นมูกปนเลือด ขอให้ไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง.
ขอบคุณภาพประกอบจาก:-