"ธรรมนูญครอบครัว" ทางแก้ศึกสายเลือดธุรกิจกงสี
ข่าวครึกโครมเกี่ยวกับปัญหาทรัพย์มรดกจนนำมาสู่ความขัดแย้งของ “ครอบครัวนางประนอม แดงสุภา” ผู้ก่อตั้งธุรกิจ “น้ำพริกเผาแม่ประนอม” อันโด่งดังนั้น เป็นอุทาหรณ์ของครอบครัวที่ทำธุรกิจและบริหารงานแบบกงสี ซึ่งมีอยู่จำนวนไม่น้อยในประเทศไทย
หลายคนอาจเข้าใจว่าแนวทางแก้ไขปัญหานี้มีเพียงทางเดียวคือ “ทำพินัยกรรม” แต่จริงๆ แล้วการทำพินัยกรรมก็ไม่ใช่ทางออกของปัญหาทั้งหมด ดังที่เคยเกิดขึ้นกับบางครอบครัวที่มีการฟ้องร้องกันวุ่นวายว่า...พินัยกรรมปลอม!
นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ อดีตผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ในฐานะนักเจรจาไกล่เกลี่ยชื่อดัง เสนอแนวคิดการจัดทำ “ธรรมนูญครอบครัว” หรือ Family Charter เพื่อป้องกันปัญหาตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นการ “ตัดไฟเสียแต่ต้นลม”
“ธุรกิจครอบครัวหลายครอบครัวเกิดปัญหาอย่างที่เราเห็นๆ กัน กรณีแม่ประนอม ปุ้มปุ้ย (ตระกูลโตทับเที่ยง) ที่เป็นข่าวช่วงก่อนหน้านี้ หรือแม้แต่ครอบครัวธรรมวัฒนะ สาเหตุที่มีปัญหาเป็นเพราะครอบครัวเหล่านี้ทำธุรกิจประสบความสำเร็จตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ แต่ไม่ได้วางตัวไว้ให้ชัดเจนว่าใครจะมาเป็นผู้สืบทอดธุรกิจรุ่นต่อไป”
“เมื่อไม่มีการวางตัวที่ชัดเจน หรือให้ได้รับการยอมรับกันในครอบครัวก่อน หากธุรกิจประสบความสำเร็จ คนในครอบครัวแต่ละคนก็จะอ้างว่าเป็นเพราะฉัน งานนี้จึงสำเร็จ แต่ถ้าล้มเหลว ก็จะโทษคนอื่นในครอบครัว” หมอวันชัยเล่าถึงสภาพปัญหา และว่า
“ประเด็นคือไม่ได้มีการตกลงกันให้ชัดๆ ว่าใครจะทำอะไร ใครจะพัฒนาขึ้นมาเป็นผู้สืบทอด ข้อตกลงที่ว่านั้นก็คือ ‘กติกาครอบครัว’ จึงเกิดแนวคิดเรื่องการจัดทำ ‘ธรรมนูญครอบครัว’ หรือ Family Constitution หรือ Family Charter ขึ้นมา สาระสำคัญคือใครจะเป็นผู้รับไม้ทำธุรกิจต่อจากพ่อแม่”
หมอวันชัย อธิบายว่า กติกาที่ว่านี้ ควรจะตกลงกันไว้ตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ด้วยกัน แต่ในประเทศไทยไม่ค่อยได้ทำกัน ที่คนไทยทำคือเขียนพินัยกรรม แต่พอพ่อแม่ ปู่ย่าเขียนพินัยกรรมขึ้นมา ลูกหลานก็จะคาดหวัง เมื่อพินัยกรรมถูกเปิดออกมาแล้วไม่ตรงกับที่คาดหวัง ก็ไปอาศัยศาล ฟ้องร้องว่าปลอมหรือเปล่า ใช่ของจริงหรือไม่ใช่
เมื่อศาลตัดสิน ก็จะมีทั้งคนพอใจและคนไม่พอใจ เพราะศาลก็ดูตามหลักฐานกระบวนการทำพินัยกรรม หลายๆ ครั้งทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวแตกสลายไปได้ ซึ่งไม่ใช่ศาลไม่ดี แต่กระบวนการที่ไปถึงศาลจะเป็นแบบนี้ คือมีคนได้ มีคนเสีย มีคนแพ้ และมีคนชนะ
“แต่สำหรับ ‘กติกาครอบครัว’ คนที่เข้าไปทำกระบวนการจะทำหน้าที่ชักชวนทั้งคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ รุ่นปู่รุ่นย่า รวมทั้งลูกหลาน สะใภ้ เขย มาใช้กระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง พูดคุยกัน ให้เกิด ‘สภาครอบครัว’ ตกลงกันในครอบครัวว่าใครจะเป็นสมาชิกสภาครอบครัวเพื่อเป็นผู้พิจารณากติกาในรายละเอียด”
“เช่น ถ้ามีลูกหลาน ส่งเรียนหนังสือ จะใช้เงินกงสีหรือใช้ของใครของมัน เรื่องแบบนี้ต้องมีการตกลงกันไว้โดยสภาครอบครัว และที่สำคัญคือ สภาครอบครัวจะต้องไม่ทำหน้าที่ตัดสินถูกผิด แต่ต้องใช้กระบวนการหันหน้ามานั่งพูดคุยกัน การหาทางออกต้องใช้ฉันทามติ ไม่ใช้เสียงข้างมาก เพราะถ้าในครอบครัวใช้เสียงข้างมาก ก็จะกลายเป็นคนนี้ลูกพ่อ คนนั้นลูกแม่ หรือแตกแยกเป็นกลุ่มพี่ กลุ่มน้อง ครอบครัวแตกทันที”
หมอวันชัย เน้นว่า ผลของการลงมติใดๆ ในครอบครัว ความสัมพันธ์ต้องคงอยู่ มิฉะนั้นครอบครัวจะแตก ธุรกิจอาจล่มสลาย การตัดสินใจใดๆ จึงต้องใช้ฉันทามติ หรือความเห็นชอบร่วมกันเท่านั้น
“หลายคนสงสัยว่าทำไมครอบครัวถึงขัดแย้ง ถามว่าความลำเอียงมีจริงไหม ในหลายครอบครัวก็มีจริงๆ บางกรณีอาจเป็นเรื่องของมุมมอง พ่อแม่อาจรักลูกเท่ากัน แต่แสดงเหมือนรักคนเก่งมากกว่า ยิ่งพ่อแม่ในสังคมไทยชอบเปรียบเทียบ ยกย่องลูกที่เก่ง ทำอะไรก็ถูกหมด ส่วนลูกที่ไม่เก่งจะเป็นเหมือนมือรอง ก็จะรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่ได้ยกย่องเขา นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พี่น้องคลานตามกันมา ขัดแย้งกันตอนโตหรือตอนทำธุรกิจ”
“ครอบครัวทั้งหลายจึงต้องเรียนรู้การทำกติกาครอบครัว ที่สำคัญ กติกาที่เขียนขึ้น ไม่ใช่ว่าเขียนแล้วต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ตลอดไป เพราะเมื่อมีลูก หลาน เหลน ก็สามารถเปลี่ยนกติกาได้ ถ้าคิดตรงกันว่าน่าจะปรับเปลี่ยน ก็สามารถทำได้ เราใช้ positive approach (วิธีการเชิงบวก) ไม่ต้องไปจบที่ศาล”
หมอวันชัย บอกด้วยว่า ในต่างประเทศมีกระบวนการศึกษาเรื่องนี้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว เพราะธุรกิจครอบครัวคือรากฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจรถยนต์ เช่น โตโยต้า ฮอนด้า ในญี่ปุ่น แต่บ้านเรามีน้อยคนที่สนใจเรื่องนี้
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีกลุ่มทำงานด้าน “ที่ปรึกษา” ชื่อกลุ่ม Family Business in ASIA หรือ FBA เริ่มจับงานด้านนี้แล้ว โดยเปิดให้คำปรึกษากับธุรกิจครอบครัว เน้นวิธีการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของสมาชิกครอบครัว
และใช้ฉันทามติเป็นหัวใจในการจัดทำกติกา!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพ นพ.วันชัย จากอินเทอร์เน็ต (เว็บไซต์เจ้าพระยานิวส์)