ชาวป้อมมหากาฬ เตรียมยื่นจม.ทบทวนแผนพัฒนาฯอีกครั้ง20 ม.ย.59 ร้องขอพบประธานโดยตรง
ชาวบ้านชุมชนป้อมมหากาฬ เตรียมยื่นจดหมาย ทบทวนแผนอนุรักษ์ พัฒนาที่ดินตามแผนของโครงการกรุงรัตนโกสินทร์ อีกครั้ง 20 ม.ย.59 หลังรอบแรก ไม่มีความชัดเจนจากตัวแทนฯ ร้องขอพบประธานอนุกรรมการฯ โดยตรง
เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2559 ที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชาวชุมชนป้อมมหากาฬ นำโดยนายธวัชชัย วรมหาคุณ ประธานชุมชนป้อมมหากาฬ ได้เข้ายื่นจดหมายต่อ ประธานคณะกรรมการเกาะรัตนโกสินทร์ เพื่อขอให้มีการทบทวนโครงการปรับภูมิทัศน์บริเวณป้อมมหากาฬและเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาสวนสาธารณะ โดยต้องการให้ยึดข้อตกลงร่วม 3 ฝ่าย ที่มีขึ้นในปี 2548 โดยให้มีการจัดการพื้นที่แบบบูรณาการ เพื่อใช้เป็นประโยชน์กับการเป็นแหล่งประวัติศาสตร์วัฒนธรรม เป็นแหล่งเรียนรู้ของกรุงรัตนโกสินทร์และประเทศไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลาต่อมาหลังจากการเข้าพบกับตัวแทนคณะอนุกรรมการฯ และด้วยความไม่ชัดเจนของตัวแทนที่มาร่วมพูดคุยกับชุมชนป้อมมหากาฬ จึงทำให้ชาวชุมชนฯตัดสินใจไม่ยื่นจดหมายในครั้งนี้ โดยจะเดินทางมายื่นจดหมายอีกครั้ง ในวันพุธที่ 20 เมษายน 2559 เรียกร้องขอเข้าพบกับประธานอนุกรรมการฯ โดยตรง
ทั้งนี้ในจดหมายฉบับดังกล่าวระบุว่า ตามที่คณะกรรมการโครงการกรุงรัตนโกสินทร์ได้กำหนดกรอบในการดำเนินงานอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์มาตั้งแต่ราวปี พ.ศ. 2521 ตามนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการใช้ที่ดิน การอนุรักษณ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ อันเป็นมรดกสืบทอดความเจริญรุ่งเรืองทางด้านศิลปวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ของชาติและปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในภาพรวมของกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งรวมถึงป้องมมหากาฬและพื้นที่โดยรวมด้วยนั้น
บริเวณป้อมมหากาฬเป็นที่ตั้งของชุมชนป้อมมหากาฬ ชุมชนพระนครเก่าแก่เหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในพระนคร มีหลักฐานที่ยืนยันได้ชัดเจนว่า พื้นที่บริเวณป้อมมหากาฬมีการตั้งบ้านเรือนเป็นชุมชนไม่ต่ำกว่าร้อยปี โดยคนในชุมชนยังคงมีการสืบทอดเรื่องราวทางด้านประวัติศาสตร์วัฒนธรรมจกรุ่นสู่รุ่นมาจากบรรพบุรุษ มีพิธีกรรมที่มีความผูกพันเกี่ยวข้องกับโบราณสถาน อาทิ ประเพณีการสมาพ่อปู่ป้อมฯ ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีสืบทอดมายาวนาน
ชุมชนป้อมมหากาฬเป็นชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินบริเวณชุมชนป้อมมหากาฬในปี พ.ศ. 2535 เพื่อจัดทำสวนสาธารณะ หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2548 มีการใช้ยุทธศาสตร์พัฒนาและอนุรักษ์พื้นที่บริเวณป้อมมหากาฬใหม่ โดยได้มีการทำเอกสารลงนามความตกลงร่วมกัน 3 ฝ่าย (MOU) ซึ่งประกอบไปด้วย ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ดำรงตำแหน่งโดยนายอภิรักษ์ โกษะโยธินในขณะนั้น) อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร (ดำรงตำแหน่งโดย รศ.ดร. วิวัฒน์ชัย อัตถากร ในขณะนั้น) และตัวแทนชุมชนป้อมมหากาฬ (นายธวัชชัย วรมหาคุณ)
โดยผลจากความตกลงดังกล่าวได้มีแนวทางการพัฒนาพื้นที่ตามผลงานวิชาการในเรื่องการจัดการพื้นที่บริเวณป้อมมหากาฬโดยอาศัยมิติ “ ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตและวัฒนธรรม” เป็นแกนกลางสำหรับการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ภายใต้ข้อเสนอที่สำคัญคือ “ ชุมชนบ้านไม้โบราณป้อมมหากาฬ ชานกำแพงพระนคร” จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยศิลปากรดังกล่าว เป็นข้อมูลสำคัญที่ชี้ให้เห็นความสำคัญของการพิจารณาอนุรักษ์ รักษาชุมชนเก่าป้อมมหากาฬเอาไว้ให้อยู่คู่กับกำแพงพระนครและป้อมมหากาฬ เพื่อใช้เป็นประโยชน์กับการเป็นแหล่งประวัติศาสตร์วัฒนธรรม เป็นแหล่งเรียนรู้ของกรุงรัตนโกสินทร์และประเทศไทย
ทางชุมชนป้อมมหากาฬจึงเรียกร้องให้ทางคณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ได้พิจารณาทบทวนแผนในการอนุรักษ์และพัฒนาที่ดินบริเวณชุมชนป้อมมหากาฬ จากการใช้พื้นที่เพื่อจัดทำเพียงสวนสาธารณะเพียงอย่างเดียว ให้เป็นพื้นที่สำหรับการอยู่อาศัยของคนในชุมชนป้อมมหากาฬด้วย เพื่อให้คนในชุมชนเก่าแห่งนี้ได้เป็นผู้รักษาและสืบทอดประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในกรุงรัตนโกสินทร์ควบคู่กับการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม (สวนสาธารณะ) ให้ชุมชนได้เป็นส่วนหนึ่งของเมืองเก่าและโบราณสถาน และใช้ชุมชนได้รับโอกาสที่จะพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้เชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม คู่กับเมืองต่อไป