ชาวบ้านแห่ฟ้อง30หน่วยงานรัฐทำอ่วมน้ำ 21ธ.ค. คาดเกิน600ราย
ส.โลกร้อนเปิดเวทีฉะรัฐไร้น้ำยาบริหารน้ำ นักวิชาการอัดช่วยนายทุนเกินหน้าเกษตร จี้ กทม.ชดเชยคน ตจว.รับน้ำแทน แนะทบทวนผังเมือง-ตั้งศาลสิ่งแวดล้อม ชาวบ้านเปิดใจท่วม 2 ด. ค่าชดเชยเบื้องต้นไม่ถึงมือ
วันที่ 15 ธ.ค. 54 มูลนิธิพัฒนาผู้นำเยาวชน สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ร่วมกับสถาบันนโยบายศึกษา จัดสัมมนา “มหาอุทกภัย 2554 : เหตุสุดวิสัยหรือไร้ฝีมือ ปัญหาและทางออก” ที่โรงแรมอิมพิเรียล ควีนส์ ปาร์ค โดย รศ.ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน ประธานสภาคณาจารย์สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่าความเสียหายจากอุทกภัยเกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์ 100 % มี 3 ประการ 1 สาเหตุการน้ำท่วม หลายคนยังไม่ทราบสาเหตุและการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างทันท่วงที 2.การแยกส่วนปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ เกี่ยงพื้นที่รับผิดชอบ ด้วยการทำงานเช่นนี้ ปีหน้าน้ำอาจท่วมอีก 3.หลักนิติธรรมประเทศเปราะบาง ผู้มีอำนาจดำเนินการใดก็ได้ให้ตนเองและบริวารรอด ส่วนผู้ด้อยกว่ากลายเป็นเหยื่อรับชะตากรรม
“ถ้าคนกทม.ได้ประโยชน์จากการปิดประตูกั้นน้ำ ควรนำเงินของคน กทม.จ่ายชดเชยค่าเสียหายแก่จังหวัดที่ได้รับความเดือดร้อนจากการแบกภาระรับน้ำแทน” รศ.ทวีศักดิ์ กล่าว
ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่าความผิดพลาดจากการบริหารจัดการน้ำครั้งนี้ต้องบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์เพื่อให้สังคมได้เรียนรู้ กรมทางหลวงควรเปลี่ยนแปลงทัศนคติการก่อสร้างถนนที่เป็นสันเขื่อนไร้ทางระบายน้ำ ข้อมูลน้ำถือเป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลต้องใช้อย่างบูรณาการเพื่อการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพและเฉียบขาด และต้องเผยแพร่ให้ประชาชน
ส่วนการแก้ปัญหานั้น ระยะสั้นรัฐบาลต้องรับผิดชอบและเยียวยาผู้ประสบภัยมากกว่านี้ โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่ขาดรายได้และสูญเสียทรัพย์สินจนแทบสิ้นเนื้อประดาตัว ส่วนกลุ่มนายทุนก็ต้องช่วยเพราะเป็นฐานเศรษฐกิจแต่ไม่ควรให้ความสนใจมากเกินไปเช่นปัจจุบัน เพราะสามารถช่วยเหลือตนเองได้ ส่วนระยะยาวรัฐบาลต้องทบทวนผังเมืองที่ทับทางน้ำ ว่าสามารถแก้ไขได้หรือไม่
ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่าขณะนี้เกษตรกรสูญเสียรายได้จากความเสียหายด้านพันธุ์พืช อุปกรณ์ทางการเกษตร โดยเฉพาะชาวนามีปัญหาเรื่องเมล็ดพันธุ์เสียหาย และยังถูกซ้ำเติมจากการกักตุนของเอกชนทำให้ขาดแคลน ส่วนเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับบริจาคในบางพื้นที่ก็ใช้ได้รอบเดียวเพราะกลายพันธุ์ ปัญหาทั้งหมดควรได้รับการฟื้นฟูจากทุกภาคส่วนโดยเร็ว
ด้าน รศ.สุชาติ นวกวงศ์ อาจารย์คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าอุทกภัยครั้งนี้ประชาชนควรมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาในพื้นที่ของตนเอง นอกจากนี้ต้องให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนการแก้ปัญหารวมถึงคณะกรรมการต่างๆที่รัฐตั้งขึ้น ทั้งนี้เสนอให้ตั้งศาลสิ่งแวดล้อมขึ้น เพื่อวินิจฉัยคดีความต่างๆเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ โดยไม่ต้องพึ่งศาลปกครอง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงานยังมีการตั้งโต๊ะรับฟ้องคดีเพื่อเรียกค่าเสียหายน้ำท่วมจากภาครัฐ ทั้งความเสียหายด้านทรัพย์สิน สุขภาพกาย จิตใจ และอื่นๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยมีนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เป็นแกนนำยื่นฟ้องศาลปกครองกลาง ซึ่งยอดผู้ยื่นฟ้องที่ลงทะเบียนกับสมาคมฯจนถึงวันนี้มีกว่า 600 ราย โดยจะยื่นฟ้อง 30 หน่วยงานรัฐต่อศาลปกครองกลางในวันที่ 21 ธ.ค.นี้ คาดว่าจะมีความคืบหน้าภายใน 3-6 เดือน
นางวรนุช แซ่อึ้ง ผู้ประสบภัยน้ำท่วม หมู่บ้านปรารถนา อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี หนึ่งในผู้ยื่นฟ้องคดี กล่าวว่าตนได้รับความเดือดร้อนกว่า 1 เดือน บ้านเรือนเสียหายจากระดับน้ำกว่า 2 เมตร ขาดรายได้จากการประกอบอาชีพ ขณะเงินช่วยเหลือเบื้องต้นจากภาครัฐนั้นยังไม่ถึงมือเลย
“อย่างน้อยในฐานะคนไทยได้ใช้สิทธิเรียกร้องความยุติธรรมจากรัฐตามระบอบประชาธิปไตย และอยากให้รัฐหันมาใส่ใจเกษตรกรมากกว่านายทุน เพราะเกษตรกรเป็นผู้ผลิตเลี้ยงคน” นางวรนุช กล่าว .
…………………….
(ล้อมกรอบ)
จากข้อมูลของมูลนิธิชัยพัฒนา ทฤษฎีการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีดังนี้…
1. การก่อสร้างคันกั้นน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม เช่น คันดินขนาดพอเหมาะขนานตามลำน้ำ ห่างจากระยะตลิ่งพอสมควร เพื่อป้องกันปัญหาน้ำล้นตลิ่ง
2. การก่อสร้างทางผันน้ำ เพื่อผันน้ำทั้งหมดหรือบางส่วนที่ล้นตลิ่งออกไป โดยก่อสร้างทางผันน้ำหรือขุดคูคลองสายใหม่ เชื่อมต่อกับลำน้ำที่มีปัญหาน้ำท่วม โดยให้น้ำไหลตามทางผันน้ำลงสู่ทะเล
3.การปรับปรุงและตกแต่งสภาพลำน้ำ เพื่อให้น้ำที่ท่วมทะลักสามารถไหลไปลงลำน้ำได้สะดวก โดยวิธีการขุดลอกลำน้ำตื้นเขิน ตกแต่งดินตามลาดตลิ่งให้เรียบ กำจัดวัชพืช ผักตบชวา หากลำน้ำใดคดโค้งมาก ให้หาแนวคลองขุดใหม่เป็นลำน้ำสายตรง ให้น้ำไหลสะดวก
4.การก่อสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำ เพื่อสามารถกักเก็บน้ำที่ไหลท่วมล้นในฤดูน้ำหลาก และนำมาใช้ในเกษตรกรรมและผลิตกระแสไฟฟ้าได้
5.การทำ “แก้มลิง” เพื่อเป็นพื้นที่พักน้ำขนาดใหญ่ที่บริเวณชายทะเล โดยใช้หลักทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของโลกตามธรรมชาติดันน้ำออกสู่ทะเล โดยมีประตูระบายน้ำติดตั้งไว้ปลายคลองกันการไหลย้อนกลับ .