บริบทการเมืองในขบวนประชาชน
อะไรที่ใช้อ้างได้ ก็จะถูกนำมาใช้ แม้มันจะไม่ถูกต้องและสวนทางกับความรู้สึกของประชาชนก็ตาม..
ในการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านคัดค้านคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2559 และฉบับที่ 4/2559[1] ที่ให้ยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองในเขตเศรษฐกิจพิเศษและในโรงงานอุตสาหกรรมบางประเภทในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ของเครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจในฐานะผู้รับแจ้งการชุมนุมภายใต้การบงการของรัฐบาล คสช. ได้ใช้กฎหมายห้ามชุมนุม[2] ผสมปนเปไปกับประกาศ คสช. ที่ 7/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558[3] เพื่อสั่งห้ามการชุมนุม
โดยอ้างว่าการชุมนุมเพื่อต่อต้านคัดค้านคำสั่ง คสช. ที่เกี่ยวกับการยกเว้นบังคับใช้กฎหมายผังเมืองเป็น “การชุมนุมทางการเมือง”
นี่คือปัญหาด้านของรัฐที่ตั้งใจเอากฎหมายห้ามชุมนุมกับประกาศและคำสั่ง คสช. มาผสมปนเปกันเพื่อนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการข่มขู่ คุกคามและปิดกั้นเสรีภาพการชุมนุมของประชาชน และเป็นปัญหาที่ไม่มีวันแก้ได้หากอำนาจของรัฐบาล คสช. ที่ได้มาจากการทำรัฐประหารยังอยู่ จากการใช้อำนาจตาม ‘คำสั่ง’ ของคนคนเดียวซึ่งเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารที่สามารถมีศักดิ์ใหญ่กว่ากฎหมายระดับ ‘พระราชบัญญัติ’ ได้ ทั้ง ๆ ที่กฎหมายห้ามชุมนุมฉบับนี้เป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่หัวหน้า คสช. แต่งตั้งขึ้นมาเองก็ตาม ก็ยังถูกงดเว้นบังคับใช้โดยอ้างประกาศและคำสั่งของตัวเองที่เป็นหัวหน้าคณะ คสช. กดทับลงไปเมื่อต้องการควบคุมประชาชนไม่ให้ชุมนุมเคลื่อนไหว ทั้งที่โดยหลักแล้ว (จริง ๆ แล้วก็ไม่มีหลักอะไรให้ยึดเหนี่ยวอีกแล้ว) หลังจากการมีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติที่ตราเป็นกฎหมายบังคับใช้โดยกลไกที่ คสช. สร้างและแต่งตั้งขึ้นมาเองก็สมควรใช้พระราชบัญญัติฉบับนั้นแทนประกาศและคำสั่งของ คสช. ที่มีเนื้อหาไม่ขัดหรือแย้งกัน และตราเป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติบังคับใช้เพื่อการนั้นเป็นการเฉพาะแล้ว
เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะรัฐบาล คสช. นั้นมีเป้าหมายชัดเจนว่าจะต้องไม่ให้ประชาชนสร้างการเคลื่อนไหวใด ๆ ต้องทำให้สังคมนิ่งที่สุดเท่าที่จะนิ่งได้ โดยยกเหตุผลการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงมาอ้างอย่างเลื่อนลอย ดังนั้น อะไรที่ใช้อ้างได้ ก็จะถูกนำมาใช้ แม้มันจะไม่ถูกต้องและสวนทางกับความรู้สึกของประชาชนก็ตาม
แต่ปัญหาของขบวนประชาชนเองก็เป็นสิ่งที่ต้องใคร่ครวญเพื่อทำให้ถูกต้องตามครรลอง ไม่ใช่หวาดกลัวหรือมีท่าทีสยบยอมเพราะคาดหวังในกระบวนการเจรจาต่อรองหรือรักษาช่องทางติดต่อประสานงานกับรัฐบาล คสช. เสียจนไปมีความเห็นในลักษณะยอมจำนนและไม่กล้าเคลื่อนไหวต่อ จนอาจกลายเป็นการสร้างบรรทัดฐานและสำนึกที่ไม่ถูกต้องให้กับขบวนประชาชนต่อไปในอนาคตข้างหน้า
แน่นอนว่าข้ออ้างของ คสช. ที่ไม่ให้ขบวนประชาชนจัดชุมนุมเพื่อคัดค้านคำสั่ง คสช. ที่ให้ยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะตามหลักกฎหมายห้ามชุมนุมนั้นย่อมสามารถชุมนุมได้ ไม่พบว่ามีเหตุ ปัจจัย เงื่อนไข หลักการและข้อห้ามใดในกฎหมายห้ามชุมนุมที่จะห้ามการชุมนุมได้ แต่คณะรัฐประหาร คสช. กลับยกเอาประกาศและคำสั่งของ คสช. ซ้อนทับลงไปในกฎหมายระดับพระราชบัญญัติที่ตัวเองตราเป็นกฎหมายบังคับใช้ขึ้นมาเอง ดังที่กล่าวไว้ในย่อหน้าก่อนหน้านี้แล้ว
ถึงแม้จะอ้างว่าประกาศและคำสั่งดังกล่าวเป็นกฎหมายตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ คสช. ประกาศใช้ขึ้นเองเมื่อปี 2557 ก็ตาม ก็ยังเป็นเรื่องลักลั่นและสับสน เพราะโดยเนื้อแท้แล้วเป็นเรื่องของการใช้อำนาจตามอำเภอใจเสียมากกว่า โดยกดกฎหมายไว้เสียจนไม่สามารถกำกับและควบคุมการใช้อำนาจตามอำเภอใจของรัฐบาล คสช. ได้
ซึ่งก็สมเหตุสมผลที่ขบวนประชาชนโต้แย้งการสั่งห้ามชุมนุมของรัฐว่า การชุมนุมเพื่อต่อต้านคัดค้านคำสั่ง คสช. ที่ให้ยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมือง “มิใช่การชุมนุมทางการเมืองตามนัยของประกาศ คสช. ที่ 7/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558”[4] โดยที่ “การตีความเรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองอย่างกว้างขวาง ถึงขนาดว่าผู้ชุมนุมคัดค้านคำสั่ง คสช. ไม่ว่าเรื่องใดแล้วจะเป็นเรื่องการชุมนุมทางการเมืองไปเสียทุกเรื่องนั้น เป็นการตีความบังคับใช้กฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลจนเกินสมควร และจะทำให้การชุมนุมแสดงความคิดเห็นต่อคำสั่งหรือนโยบายของ คสช. และรัฐบาลไม่สามารถกระทำได้โดยสิ้นเชิง อันเป็นการกระทบกระเทือนสาระสำคัญของเสรีภาพการชุมนุมตามกฎหมายอย่างร้ายแรง และไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาของสังคมในระบอบประชาธิปไตย”[5]
แต่เราควรใคร่ครวญบริบทอื่นเพิ่มเติม เนื่องจากผู้ที่มีบทบาทนำหรือมีบทบาทสร้างการเคลื่อนไหวให้ปรากฏต่อสาธารณะ รวมทั้งแนวร่วมและฝ่ายสนับสนุนทั้งที่อยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลังในการเคลื่อนไหวเพื่อขอให้ยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ให้ยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองครั้งนี้มีพฤติกรรม ‘เหยียดการเมือง’ อย่างรุนแรง ดังจะเห็นได้จากที่พวกเขาเหล่านั้นทุ่มเทแรงใจแรงกายในการเคลื่อนไหวสนับสนุนทหารให้ทำการรัฐประหารในสองครั้งล่าสุดที่ผ่านมา ด้วยความหวังว่ารัฐประหารจะทำให้อำนาจรัฐในขณะนั้นเกิดสภาวะโกลาหล วุ่นวาย ชะงักงัน หยุดนิ่ง เปลี่ยนแปลงหรือยุติยกเลิกต่อนโยบาย โครงการพัฒนาขนาดใหญ่และการบังคับใช้กฎหมายที่เอื้อประโยชน์ต่อรัฐและทุนของรัฐบาลประชาธิปไตยต่อพื้นที่/ประเด็น/กรณีปัญหาที่พวกเขาทำงานหรือจับตาเฝ้าติดตามอยู่
รวมทั้งจะทำให้เกิดช่องทางลัดหรือช่องทางพิเศษหรือช่องทางใหม่ หรือ ‘หน้าต่างแห่งโอกาส’ ในการเชื่อมประสานกับผู้ขึ้นมามีอำนาจจากการรัฐประหารเพื่อนำเสนอและให้ยุติปัญหาจากนโยบาย โครงการพัฒนาขนาดใหญ่และการบังคับใช้กฎหมายที่เอื้อประโยชน์ต่อรัฐและทุนในพื้นที่/ประเด็น/กรณีปัญหาที่พวกเขาทำงานหรือจับตาเฝ้าติดตามอยู่
ในสภาวะเช่นนี้เองที่พวกเขาหวังว่าการรัฐประหารจะทำให้เกิดการรื้อระบบการเมืองการปกครองที่รัฐบาลประชาธิปไตยใช้อำนาจฝ่ายบริหารโดยคณะรัฐมนตรีและนิติบัญญัติโดยรัฐสภา (และแทรกแซงอำนาจตุลาการด้วย) ควบคุมข้าราชการจนสามารถผลิตนโยบาย โครงการพัฒนาขนาดใหญ่และการบังคับใช้กฎหมายที่เอื้อประโยชน์ต่อรัฐและทุนที่ส่อไปในทางเอื้อต่อกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองและทุจริตคอร์รัปชั่น และสร้างกลไก กฎ กติกาและรูปแบบการเมืองการปกครองที่มีความเหมาะสมกับสังคมไทยเสียใหม่
แต่สิ่งที่ได้กลับคืนมา รัฐประหารไม่เพียงทำลายการเมืองในส่วนของอำนาจฝ่ายบริหารและระบบรัฐสภาเท่านั้น มันยังได้ทำลายการเมืองของขบวนประชาชนที่อยู่นอกระบบเลือกตั้ง/รัฐสภา ซึ่งเป็นประชาธิปไตยทางตรงและการเมืองบนท้องถนนเสียจนย่อยยับด้วยการออกประกาศและคำสั่งที่มีสถานะเป็นกฎหมายกดขี่คนยากคนจนและคนเล็กคนน้อยในสังคมหนักข้อเสียยิ่งกว่ารัฐบาลประชาธิปไตยจะสามารถกระทำได้ เช่น การออกคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557, 66/2557 และ 4/2558[6] เพื่อบังคับใช้แผนแม่บทป่าไม้ฯ[7] ในการทวงคืนผืนป่าโดยอ้างการอนุรักษ์พื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารขึ้นมาบังหน้าด้วยการเผา ทำลาย ตัด โค่นพืชผลการเกษตร ยึดที่ดินคืนและจับกุมดำเนินคดีโทษฐานบุกรุกทำลายป่าและจับจองที่ดินทำกินเฉพาะกับประชาชนคนเล็กคนน้อยซึ่งเป็นเกษตรกรรายย่อยเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ละเลยที่จะปฏิบัติกับผู้มีที่ดินรายใหญ่ในกรณีเดียวกันแบบเดียวกัน ดังที่ปรากฎเป็นข่าวไม่เว้นแต่ละวัน
การเข้าไปข่มขู่ คุกคาม เรียกไปปรับทัศนคติ ฟ้องคดี จับกุมคุมขังและสั่งห้ามประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศให้หยุดเคลื่อนไหวต่อต้านนโยบาย โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐและเอกชนและการบังคับใช้กฎหมายที่เอื้อประโยชน์ต่อรัฐและทุน
ล่าสุดออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2559 เรื่อง การป้องกันและปราบปราบการกระทำความผิดบางประการที่เป็นภยันตรายต่อความสงบเรียบร้อยหรือบ่อนทำลายระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ลงวันที่ 29 มีนาคม 2557 ที่ขยายอำนาจของทหารขึ้นมาเป็นองค์กรมาเฟียโดยแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามแทนตำรวจ และกำหนดกระบวนการในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอาญาขึ้นใหม่ที่มีลักษณะพิเศษหรือเกินไปกว่ากฎหมายอาญากำหนดให้กระทำได้ โดยมีอำนาจเรียกรายงานตัว จับกุม ตรวจค้น ควบคุมตัวและยึดหรืออายัดทรัพย์ของประชาชนโดยตรงได้ ซึ่งคงส่งผลโดยตรงต่อการกวาดจับประชาชนที่ต่อต้านคัดค้านนโยบาย โครงการพัฒนาขนาดใหญ่และการบังคับใช้กฎหมายที่เอื้อประโยชน์ต่อรัฐและทุนด้วยอย่างแน่นอน เป็นต้น
แม้แต่เรื่องการออกมาต่อต้านคัดค้านคำสั่งของ คสช. ที่ให้ยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองก็กลายเป็นเรื่องงับหางตัวเอง กับสิ่งที่พวกเขาไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นจากรัฐบาล คสช. ที่พวกเขาสนับสนุนให้ทำรัฐประหาร
และโดยเฉพาะการออกกฎหมายห้ามชุมนุมที่มีความสำคัญต่อขบวนประชาชนอย่างยิ่ง ที่ต้องถือว่าเป็นจุดตกต่ำที่สุดของขบวนประชาชนที่ออกมาสนับสนุนรัฐประหารที่ทำให้รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารมีอำนาจมากเสียจนสามารถออกกฎหมายห้ามชุมนุมที่มีเนื้อหาแข็งกร้าวปิดกั้นการเคลื่อนไหวของประชาชนแทบทุกรูปแบบ ซึ่งขบวนประชาชนจะไม่สามารถกระทำการเมืองบนท้องถนนนอกระบบรัฐสภาเพื่อสร้างประชาธิปไตยทางตรงของมวลชนเพื่อดุลย์อำนาจกับการเมืองในระบบตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งที่ใช้อำนาจผ่านฝ่ายบริหาร รัฐสภาและราชการได้อย่างมีพลังอีกต่อไป
ด้วยพฤติกรรมที่ส่งผลเสียหายต่อสังคมโดยรวมอย่างมหาศาลเช่นนี้เอง มันจึงยังทำให้เกิดความรู้สึกเคลือบแคลงแฝงฝังอยู่ต่อขบวนประชาชนที่ปฏิเสธว่าการชุมนุมต่อต้านคัดค้านคำสั่ง คสช. ที่ให้ยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมือง “ไม่ใช่การชุมนุมทางการเมือง” นั้น มันกินความหมายกว้างขวางหรือคับแคบแค่ไหน
มันแฝงนัยที่ผลักขบวนประชาชนส่วนอื่นที่ไม่ใช่กลุ่มพวกพ้องตัวเองเป็นพวกผู้ร้ายทางการเมืองหรือไม่ อย่างไร ? ส่วนกลุ่มพวกพ้องตัวเองเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวอันบริสุทธิ์ที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองในมิติใด ๆ เลยใช่หรือไม่ หรืออย่างไร ? อะไรคือบริบทการเมืองในขบวนประชาชน ?
และหากนำกรณีที่ขบวนประชาชนทำการชุมนุมต่อต้านคัดค้านคำสั่ง คสช. ที่ให้ยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมือง กับกรณีที่ขบวนประชาชนสนับสนุนให้เกิดรัฐประหาร มาเปรียบเทียบกัน ซึ่งต้องถือว่าพวกที่อยู่ส่วนบนของการเคลื่อนไหว หรือผู้ที่มีบทบาทนำหรือมีบทบาทสร้างการเคลื่อนไหวให้ปรากฏต่อสาธารณะ รวมทั้งแนวร่วมและฝ่ายสนับสนุนทั้งที่อยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลังทั้งสองกรณีเป็นบุคคลกลุ่มเดียวกันหรือเหลื่อมซ้อนกันอยู่ โดยทั้งสองกรณีมีเป้าหมายแบบเดียวกันในการเคลื่อนไหว นั่นคือ ต้องการให้อำนาจรัฐเกิดความโกลาหล วุ่นวาย ชะงักงัน หยุดนิ่ง เปลี่ยนแปลงหรือยุติยกเลิกต่อนโยบาย โครงการพัฒนาขนาดใหญ่และการบังคับใช้กฎหมายที่เอื้อประโยชน์ต่อรัฐและทุนในพื้นที่/ประเด็น/กรณีปัญหาที่พวกเขาทำงานหรือจับตาเฝ้าติดตามอยู่ เราก็จะได้อีกคำถามหนึ่งว่า หากการเคลื่อนไหวสนับสนุนรัฐประหารถือเป็นการชุมนุมทางการเมืองอย่างชัดเจนตามการรับรู้ของคนทั่วไป แล้วทำไมถึงไม่เอาการชุมนุมต่อต้านคัดค้านคำสั่ง คสช. ที่ให้ยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองมานับรวมด้วยว่าเป็นการชุมนุมทางการเมืองเช่นเดียวกัน ?
บทความนี้คงไม่หาคำตอบในส่วนนี้ เพียงแค่ตั้งคำถามให้ผู้ที่เฝ้ามองดู และโดยเฉพาะผู้ที่มีบทบาทนำหรือมีบทบาทสร้างการเคลื่อนไหวให้ปรากฏต่อสาธารณะ รวมทั้งแนวร่วมและฝ่ายสนับสนุนทั้งที่อยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลังในการเคลื่อนไหวเพื่อขอให้ยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ให้ยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองครั้งนี้ได้ใคร่ครวญ ไตร่ตรองและตอบคำถามต่อตนเองและขบวนประชาชนในสังกัดหมู่พวกและกลุ่ม/องค์กรของตน เพื่อจะได้มองไปข้างหน้าอย่างก้าวหน้า สร้างสรรค์และมีพลังมากกว่าที่เป็นอยู่ ไม่ติดอยู่ในวังวนกับดักของแนวคิดและการกระทำแบบชาตินิยม อนุรักษ์นิยมและนิยมอำนาจของทหาร
ดังเช่นการสนับสนุนรัฐประหารทั้งสองครั้งล่าสุดที่ผ่านมา จนสามารถทำให้รัฐประหารมีอำนาจมหาศาลด้วยการสร้างรัฐราชการขึ้นมาทำลายช่องทางการเมืองของประชาชนที่มีไว้ดุลย์กับอำนาจการเมืองของรัฐเสียจนย่อยยับ
หมายเหตุ-ภาพประกอบบทความจากสยามรัฐ
-----------------
เชิงอรรถ
[1] หมายถึง คำสั่งหัวหน้าหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองและกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ลงวันที่ 20 มกราคม 2559 และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 4/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท ลงวันที่ 20 มกราคม 2559
[2] หมายถึง พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558
[3] หมายถึง ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 7/2557 เรื่อง ห้ามชุมนุมทางการเมือง ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ข้อ 3(4) ลงวันที่ 1 เมษายน 2558
[4] เนื้อหาในวงเล็บคัดลอกจากหนังสือของเครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่มีเลขที่หนังสือ ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2559 เรื่อง อุทธรณ์คัดค้านหนังสือสรุปสาระสำคัญการชุมนุมสาธารณะ เรียน ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง/ผู้รับแจ้ง
[5] อ้างแล้วในเชิงอรรถ 4
[6] หมายถึง คำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2557 คำสั่ง คสช. ที่ 67/2557 เรื่อง เพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปราม หยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้และนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2558 เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายที่คุ้มครองประโยชน์สาธารณะและประชาชนโดยส่วนรวม ลงวันที่ 8 เมษายน 2558
[7] แผนแม่บทป่าไม้ฯ หรือชื่อเต็มว่า ‘แผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2557’ จัดทำโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และกระทรวงทรัพยากรธรรชาติและสิ่งแวดล้อม, พ.ศ. 2557