กรมชลยันเขื่อนอุบลรัตน์ใช้น้ำสำรอง ไม่ใช่ก้นอ่าง ชี้เก็บค่าน้ำต้องออกกฎกระทรวงให้อำนาจ
ฝ่า...วิกฤติน้ำ ‘นิพนธ์ พัวพงศกร’ ชำแหละมาตรการรับมือรัฐ ขาดเครื่องมือ บริหารจัดการ หนุนเก็บค่าน้ำ ป้องกันใช้สิ้นเปลือง ด้านรองอธิบดีกรมชลฯ ชี้คิดมูลค่าต้องออกกฎกระทรวง มาตรา 8 ให้อำนาจจัดเก็บ ยันเขื่อนอุบลรัตน์ใช้น้ำสำรอง ไม่ใช่ก้นอ่าง
วันที่ 9 เมษายน 2559 หลักสูตรผู้บริหารสื่อสารมวลชนระดับสูง (บสส.) รุ่นที่ 6 สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนเเห่งประเทศไทย ร่วมกับกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เเละสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จัดสัมมนาสาธารณะ เรื่อง ฝ่า...วิกฤติน้ำ ณ ห้องคอนเวนชั่น ฮอลล์ 2 อาคาร D สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงปริมาณน้ำที่มีอยู่ใน 4 เขื่อนหลัก แทบไม่เพียงพอต่อการบริโภค การรักษาระบบนิเวศ และการใช้ในภาคอุตสาหกรรม ดังนั้น กรมชลประทานจึงไม่จัดสรรให้สำหรับการปลูกข้าวนาปรัง ส่งผลให้พื้นที่เพาะปลูกลดลง 4.3 ล้านไร่ เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา
รศ.ดร.นิพนธ์ กล่าวว่า ภัยแล้งยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาคในปีนี้ด้วย โดยคาดการณ์ว่า ผลผลิตทางการเกษตรจะลดลง 3.7 หมื่นล้านบาท โดยข้าวโพดจะได้รับผลกระทบมากที่สุด รองลงมา คือ อ้อย และข้าว ทั้งนี้ การบริโภครวมลดลง 6.6 หมื่นล้านบาท หรือร้อยละ 5 ของจีดีพีภาคเกษตร ปี 2557 การบริโภคของเกษตรกรลดลง 2.3 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม ผลกระทบได้ถูกลดทอนบางส่วนจากการที่รัฐบาลมีมาตรการให้ความช่วยเหลือ
นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงมาตรการรับมือของรัฐบาลที่มีการขอร้องไม่ให้ชาวนาปลูกข้าวนาปรัง และให้กรมชลประทานหยุดส่งน้ำในเขตพื้นที่ชลประทาน เพื่อให้มีน้ำเพียงพอ และหากยังปล่อยให้เพาะปลูกปริมาณเท่าเดิม กรุงเทพฯ จะไม่มีน้ำบริโภค มีการกำหนดเวลาปล่อยน้ำและปริมาณอย่างเข้มงวด ควบคุมมลพิษในน้ำ เพื่อไม่ต้องปล่อยน้ำดีไล่น้ำเสีย รวมถึง 8 มาตรการ ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูกข้าวในฤดูแล้งได้
ส่วนโครงการปรับปรุงและพัฒนาแหล่งน้ำประปาให้เพียงพอ การประปาส่วนภูมิภาคลงทุนเร่งด่วน 2.1 พันล้านบาท เช่น อนุญาตให้นิคมอุตสาหกรรมปรับปรุงบ่อบาดาลเก่าผันน้ำ 400 ล้าน ลบ. ม.จากแม่กลองมาลุ่มเจ้าพระยา ส่วนมีประสิทธิภาพมากแค่ไหน ต้องติดตามกันเอง แต่ก็ดีขึ้น ทั้งนี้ หากมาตรการดังกล่าวไม่เพียงพอต้องใช้มาตรการที่รุนแรงมากขึ้น เช่น ลดการใช้น้ำ หรือจำกัดปริมาณการใช้น้ำบางพื้นที่
รศ.ดร.นิพนธ์ กล่าวอีกว่า ไทยขาดเครื่องมือ demand management ซึ่งปัจจุบันการบริหารจัดการเป็นระบบรวมศูนย์แบบกระจาย ที่มิได้มีเฉพาะกรมชลประทานฝ่ายเดียว อีกทั้ง มีการปล่อยให้ใช้น้ำฟรี นิคมอุตสาหกรรมสามารถสูบน้ำขึ้นจากแม่น้ำได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ส่วนคนกรุงเทพฯ ใช้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่กลอง ซึ่งเสียเงิน 50 สตางค์/ลบ.ม. โดยเฉลี่ย 16 สตางค์ จึงมีการใช้น้ำสิ้นเปลืองมาก หากไม่มีเครื่องมือบริหารจัดการ อนาคตเมื่ออากาศแปรปรวนขึ้นจะเสร็จแน่นอน
ด้าน ดร.ทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (กษ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในปัจจุบันว่า กรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดูแลอ่างเก็บน้ำทั้งสิ้น 33 แห่ง ในเขตชลประทาน ซึ่งมีปริมาณน้ำคงเหลือทั้งสิ้นประมาณ 1 หมื่นล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าปีที่ผ่านมา 4 พันล้าน ลบ.ม.
เฉพาะพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา มี 4 เขื่อนสำคัญ ได้แก่ ภูมิพล, สิริกิติ์, แควน้อย และป่าสักชลสิทธิ์ ครอบคลุมพื้นที่ 22 จังหวัด เขตชลประทาน 9.5 ล้านไร่ ขณะนี้เหลือน้ำใช้ทั้งสิ้น 2,200 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าปีที่ผ่านมา 2,400 ล้าน ลบ.ม. ฉะนั้นสถานการณ์เช่นนี้กรมชลประทานทราบล่วงหน้า และได้แจ้งเตือนเพื่อสร้างความเข้าใจมาโดยตลอด
ส่วนความเข้าใจว่าภาครัฐสั่งชาวนางดทำนาปรัง รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ไม่ได้สั่งงด แต่ขอความร่วมมือเท่านั้น เพราะเกษตรกรหรือชาวนาบางพื้นที่มีแหล่งน้ำไว้ใช้อยู่แล้ว และสามารถประเมินสถานการณ์ด้วยตนเองได้ อย่างไรก็ตาม ในเขตพื้นที่ชลประทาน หากบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผนจะไม่มีปัญหาไปจนถึงสิ้น ก.ค.2559
ดร.ทองเปลว ยังระบุถึงกระแสข่าวมีการใช้น้ำก้นอ่างของเขื่อนสิริกิติ์และอุบลรัตน์แล้วนั้น สำหรับเขื่อนสิริกิติ์ไม่มีการใช้น้ำก้นอ่าง ส่วนเขื่อนอุบลรัตน์มีการใช้น้ำสำรอง แต่ไม่ใช่น้ำก้นอ่าง ปัจจุบันใช้แล้ว 8 ล้าน ลบ.ม. แต่ต้องไม่เกิน 180 ล้าน ลบ.ม. จนถึงสิ้น ก.ค. 2559 เพื่อให้เหลือเพียงพอต่อเสถียรภาพการผลิตกระแสไฟฟ้า
“เหตุการณ์ต้องใช้น้ำสำรองเคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อปี 2536 และ 2537 จึงไม่ใช่ครั้งแรกของเขื่อนอุบลรัตน์” รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าว และว่า รัฐบาลห่วงใยมาก โดยวิเคราะห์เชิงพื้นที่มี 28 จังหวัดที่ได้รับความเดือดร้อน อนาคตมีน้ำไม่เพียงพอ ต้องหาน้ำเติมอ่าง และยังเตรียมรถบรรทุก 4,830 คัน เข้าไปในพื้นที่ทันทีที่ประชาชนไม่มีน้ำกินน้ำใช้
ดร.ทองเปลว ระบุถึงความเป็นไปได้ที่จะให้มีการเก็บค่าน้ำ จะทำได้ต้องมีการออกกฎหมายในมาตรา 5 พ.ร.บ.การชลประทานหลวง พ.ศ.2485 หลังจากนั้นให้ออกกฎกระทรวงมาตรา 8 เพื่อกำหนดการเก็บค่าน้ำ จากภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ส่วนภาคเกษตรให้ใช้ฟรี
ขณะที่นายระวี รุ่งเรือง นายกสมาคมเครือข่ายชาวนาไทย กล่าวว่า ชาวนานอกเขตชลประทานสามารถปรับตัวกับสถานการณ์ภัยแล้งได้ดีกว่าในเขตชลประทาน เพราะทำนารอบเดียว หลังจากนั้นจะมาประกอบอาชีพในเมือง ส่วนในเขตชลประทาน เมื่อเจอปัญหาทำให้จากที่เคยทำพืชหมุนเวียนสะดุดลง ไม่มีอาชีพเสริม
เมื่อดูนโยบายภาครัฐที่ลงไปช่วยเหลือเกษตรกร นายระวี ยอมรับว่ารัฐบาลมีความตั้งใจดี แต่ขาดข้อมูลการวางแผน ขาดข้อมูลที่เกิดจากการมีส่วนร่วม ซึ่งจะเห็นภาคราชการและประชาชนมีส่วนร่วมน้อยมาก เคยเสนอให้มีการจัดทำแผนประจำปี โดยการสอบถามจากชาวนาชาวไร่ เมื่อเกิดปัญหาเร่งด่วนจะได้ไม่ต้องลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูล ประกอบกับข้อมูลที่มีอยู่ของแต่ละหน่วยงานไม่ตรงกัน โดยเฉพาะข้าวมีข้อมูลกระจัดกระจาย สิ่งเหล่านี้จึงเป็นปัญหา .