ศาลยุติธรรม VS แพทยสภา กับกรณีวินิจฉัยผู้ป่วยวัณโรค
ศาลยุติธรรม ยันมิได้พิพากษาคดี โดยใช้หลักความเห็นอกเห็นใจ สำคัญกว่าความถูกต้องของข้อเท็จจริงแต่อยู่บนพื้นฐานหลักการรับฟังพยานหลักฐาน
นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า จากกรณีที่ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา ได้วิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12498/2558 ระหว่าง เด็กหญิงกนกพรหรือมาริสา ทินนึงฯ โจทก์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จำเลย ผ่านสื่อสาธารณะต่างๆ สรุปใจความว่า “คดีนี้เป็นเรื่องใหญ่ในวงการแพทย์ เพราะจะทำให้แนวทางการรักษาโรคเปลี่ยนไปหมด ผู้ป่วยได้รับการถ่ายภาพรังสีเมื่อ 26 มิถุนายน ให้ยารักษาวัณโรคเมื่อวันที่ 1กรกฎาคม ต่างกัน 5 วัน ผู้พิพากษาคิดว่า เป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยปัญญาอ่อน ความจริงวัณโรคเป็นโรคเรื้อรัง ค่อยเป็นค่อยไป การให้ยาต่างกัน 5 วัน ไม่ได้ทำให้ผลการรักษาต่างกันมากนัก”
และได้แสดงความเห็นที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของศาลยุติธรรมในเชิงลบ คือ ผู้พิพากษาไม่มีความรู้
ทางการแพทย์และไม่รู้ข้อจำกัดของแพทย์และสถานบริการ ผู้พิพากษาใช้หลักความเห็นอกเห็นใจสำคัญกว่าความถูกต้อง (Empathy is more important than fact) และผู้พิพากษาตัดสินผิดไม่ถูกทำโทษไม่มีความยุติธรรม
สำนักงานศาลยุติธรรมขอเรียนว่า คดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับความรับผิดทางการแพทย์อันเป็นข้อเท็จจริงที่อยู่ในความรู้เห็นของฝ่ายแพทย์ผู้ทำการรักษาบนพื้นฐานหลัก res ipsa loquitur (The thing speaks for itself) ผู้ป่วยหรือโจทก์เพียงแต่พิสูจน์ว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นระหว่างไปรับการรักษาจากแพทย์ก็เพียงพอแล้ว ส่วนฝ่ายจำเลยหรือแพทย์ผู้ทำการรักษามีหน้าที่พิสูจน์ว่าตนมิได้ประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์หรือผู้ป่วยได้รับความเสียหายตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 29 ดังจะเห็นจากคำวินิจฉัยของศาลฎีกาได้หยิบยกคำเบิกความของพยานฝ่ายจำเลย คือ นายแพทย์ฐิติกร ตรีเจริญ แพทย์เวรเจ้าของไข้และแพทย์หญิงนุชนาฏ ภูริพันธ์ภิญโญ แพทย์เวรรับช่วงต่อจากนายแพทย์ฐิติกร ขึ้นมาพิจารณาตามภาระการพิสูจน์ของกฎหมาย แล้วใช้ดุลยพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานคู่ความทั้งสองฝ่ายว่า คู่ความฝ่ายใดมีน้ำหนักดีกว่ากัน (Proof on the Balance of Probability) ฝ่ายนั้นก็เป็นฝ่ายชนะคดี
ศาลจึงมิได้พิพากษาคดีโดยใช้หลักความเห็นอกเห็นใจ สำคัญกว่าความถูกต้องของข้อเท็จจริงแต่ประการใด แต่อยู่บนพื้นฐานหลักการรับฟังพยานหลักฐาน
ตามบทบัญญัติของกฎหมาย ข้อที่ศาสตราจารย์นายแพทย์สมศักดิ์ ผู้วิพากษ์กล่าวว่า ผู้พิพากษาไม่มีความรู้ทางการแพทย์และไม่รู้ข้อจำกัดของแพทย์และสถานบริการนั้น ขอเรียนว่า ตามหลักวิชาพยานหลักฐานเป็นหน้าที่ของคู่ความที่จะต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบตามภาระการพิสูจน์ ซึ่งคดีนี้ฝ่ายจำเลยนำเฉพาะนายแพทย์ฐิติกรและแพทย์หญิงนุชนาฏกับศาสตราจารย์นายแพทย์สมศักดิ์ ผู้วิพากษ์ เป็นพยานเข้าเบิกความเท่านั้น ไม่มีพยานผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นคนกลางเป็นต้นว่า พยานแพทย์ประจำราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทยและราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยมาเบิกความเพื่อแสดงขั้นตอนอาการความเจ็บป่วยของโจทก์ ตลอดจนวิธีการรักษาโดยลำดับตามมาตรฐานวิชาชีพแพทย์ให้มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ
ส่วนที่กล่าวหาว่า ผู้พิพากษาตัดสินผิดไม่ถูกทำโทษ ไม่มีความยุติธรรม ขอเรียนว่า ศาลยุติธรรมมีคณะกรรมการข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ทำหน้าที่ในการบริหารงานบุคคลในด้านตุลาการ มีภารกิจกำหนดคุณสมบัติ สรรหาและบรรจุแต่งตั้ง พัฒนา ควบคุมให้ข้าราชการตุลาการอยู่ในกรอบแห่งจริยธรรม และมาตรการในการรักษาวินัย หากผู้พิพากษาปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ผู้มีส่วนได้เสียชอบที่จะร้องเรียนกล่าวหาต่อหน่วยงานดังกล่าวได้ แต่การวิพากษ์วิจารณ์ที่มิได้เป็นการติชมโดยสุจริตหรือนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ศาลยุติธรรม อาจเป็นความผิดฐานดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 ได้
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ แพทยสภาออกแถลงการณ์ถึงสมาชิกแพทยสภา หลังคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12498/2559 สรุปโดยย่อดังนี้ ศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าแพทย์ประมาทเลินเล่อ อันเป็นการละเมิด โดยระบุว่า "ไม่ได้ส่งผลเอ็กซเรย์ไปให้ผู้เชี่ยวชาญดูให้และสอบถามถึงผู้ใกล้ชิดว่าป่วยเป็นวัณโรคหรือไม่.." และ "การรักษาไม่ถูกต้องครบถ้วนในเวลาอันสมควรตามหลักวิชาการแพทย์ และตามมาตรฐานแห่งวิชาชีพก่อให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย.."
คณะกรรมการแพทยสภาได้รับทราบรายละเอียดเบื้องต้นดังกล่าวแล้ว และรับทราบความกังวลของสมาชิกทั่วประเทศ ในประเด็นที่ว่า
"ภาพรังสีที่ได้จำเป็นต้องให้รังสีแพทย์เป็นผู้แปลผลประกอบการรักษาทุกรายหรือไม่ และระหว่างที่ยังไม่มีผลอ่านจากรังสีแพทย์ จะให้ปฏิบัติเช่นไร?"
ซึ่งเหตุของความกังวลนั้นอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงที่แพทย์ทุกท่านทราบอยู่แล้วว่า จำนวนรังสีแพทย์ที่ปฏิบัติงานในประเทศไทยขาดแคลนอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ในโรงพยาบาลชุมชนซึ่งมีอยู่ประมาณเกือบพันแห่ง เกือบทั้งหมดไม่มีรังสีแพทย์ปฏิบัติงาน ส่วนโรงพยาบาลทั่วไปหรือโรงพยาบาลศูนย์เองก็มีรังสีแพทย์ไม่ครบทุกแห่ง และถึงแม้จะมี ก็ไม่เพียงพอต่อปริมาณภาพรังสีที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน จึงเป็นไปไม่ได้ที่รังสีแพทย์จะอ่านภาพรังสีได้ทุกภาพ และการอ่านผลของรังสีแพทย์ก็มีข้อจำกัด เพราะภาพรังสีที่เป็นภาพเงา 2 มิติ ของอวัยวะต่างๆไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้ถูกต้อง โดยปราศจากข้อมูลสำคัญทางคลินิก
เพื่อให้การประกอบวิชาชีพเวชกรรมเป็นไปอย่างต่อเนื่อง แพทยสภาจึงขอสื่อสารไปยังสมาชิก ถึงแนวทางปฏิบัติเบื้องต้นและการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ดังนี้
(๑) แพทย์ทุกท่านที่ได้รับใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม มีสิทธิในการใช้ดุลพินิจส่วนตนประกอบกับข้อมูลที่ได้จากการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วย ในการแปลผลภาพรังสีดังกล่าวด้วยตนเอง
(๒) ในกรณีมีรังสีแพทย์ปฏิบัติงาน แพทย์สามารถใช้ดุลพินิจในการส่งให้รังสีแพทย์แปลภาพผลรังสีเพื่อประกอบการรักษาได้
(๓) กรณีที่ไม่มีรังสีแพทย์ปฏิบัติงานในสถานพยาบาล หรือไม่มีรังสีแพทย์อยู่ปฏิบัติงานในช่วงเวลานั้น แพทย์ยังคงต้องใช้ดุลพินิจในการแปลผลและให้การรักษาผู้ป่วยไปก่อน ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยในการที่จะได้รับการรักษาพยาบาล เป็นสำคัญ โดยให้แจ้งผู้ป่วยทราบล่วงหน้าว่าไม่มีรังสีแพทย์ปฏิบัติงาน
(๔) ในระยะยาว คณะกรรมการแพทยสภาได้มีมติ ตั้งอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ เพื่อศึกษา คำพิพากษา คำเบิกความ พยานเอกสาร และ รายละเอียดทั้งหมดของคดี รวมทั้งข้อมูลทางวิชาการ การวิจัยที่เกี่ยวข้อง และประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อร่วมกันกำหนดมาตรการและแนวทางที่เหมาะสมต่อไป โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วยเป็นสำคัญ