มีสามแก้แค่หนึ่ง นักนิติศาสตร์ ติง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 25)
พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 25) พ.ศ. 2559 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว กำหนดเงินกักขังแทนค่าปรับ 500 บาทต่อหนึ่งวัน ดร.ปกป้อง ศรีสนิท ชี้การแก้ไข มีความแปลกโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับผู้กระทำผิดหลายคน มาตรา 84 วรรค3 และมาตรา85/1
เมื่อวันที่ 7 เมษายน ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 25) พ.ศ. 2559 โดยระบุ เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ โดยที่หลักเกณฑ์และวิธีการบังคับโทษปรับในเรื่องการยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินเพื่อใช้ค่าปรับยังไม่ได้กำหนดไว้ และการกำหนดอัตราเงินในการกักขังแทนค่าปรับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป สมควรกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดังกล่าวให้ชัดเจนเพื่อให้ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติงานสามารถปฏิบัติได้ รวมทั้งกำหนดอัตราเงินในการกักขังแทนค่าปรับให้สอดคล้องกับค่าแรงขั้นต่ำ และภาวะเศรษฐกิจ
ส่วนบทบัญญัติว่าด้วยการรอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษ ซึ่งเป็นวิธีการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดที่ไม่ควรถูกส่งเข้าสู่ระบบเรือนจำยังไม่มีการนำมาใช้กับผู้ที่จะถูกลงโทษปรับ ร
รวมทั้งไม่เปิดโอกาสให้ผู้ที่เคยต้องโทษจำคุกแม้เพียงเล็กน้อย หรือมิใช่ผู้กระทำผิดติดนิสัยได้รับโอกาสในการรอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษ ทำให้มีผู้ต้องถูกจำคุกระยะสั้นอยู่ในเรือนจำเป็นจำนวนมาก สมควรแก้ไขหลักเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าวให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ปัจจุบันมีการใช้ผู้ที่มีความอ่อนแอทางร่างกายหรือจิตใจหรือผู้ที่อยู่ในภาวะจำยอมให้กระทำความผิดมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายให้แก่ผู้ที่เป็นเหยื่อของอาชญากรรม ยังทำให้ผู้ที่ถูกใช้ ซึ่งไม่มีมูลเหตุจูงใจในการกระทำความผิดมาก่อนต้องกระทำความผิดและได้รับโทษ ทั้งอาจต้องตกอยู่ในภยันตรายและได้รับความเดือดร้อนต่อตนเองและครอบครัว สมควรกำหนดให้ผู้ใช้ในกรณีดังกล่าวต้องรับโทษหนักขึ้น
และมีมาตรการลดโทษแก่ผู้ถูกใช้หรือผู้กระทำตามคำโฆษณาหรือประกาศแก่บุคคลทั่วไปให้กระทำความผิดที่ได้เปิดเผยข้อมูลสำคัญจนสามารถดำเนินคดีกับผู้ใช้หรือผู้โฆษณาหรือประกาศดังกล่าวด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
สำหรับสาระสำคัญ เช่น
มาตรา 30 ในการกักขังแทนค่าปรับ ให้ถืออัตราห้าร้อยบาทต่อหนึ่งวัน และไม่ว่าในกรณีความผิดกระทงเดียวหรือหลายกระทง ห้ามกักขังเกินกำหนดหนึ่งปี เว้นแต่ในกรณีที่ศาลพิพากษาให้ปรับตั้งแต่สองแสนบาทขึ้นไป ศาลจะสั่งให้กักขังแทนค่าปรับเป็นระยะเวลาเกินกว่าหนึ่งปีแต่ไม่เกินสองปีก็ได้
ในการคำนวณระยะเวลานั้นให้นับวันเริ่มกักขังแทนค่าปรับ รวมเข้าด้วยและให้นับเป็นหนึ่งวันเต็มโดยไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนชั่วโมง
ในกรณีที่ผู้ต้องโทษปรับถูกคุมขังก่อนศาลพิพากษา ให้หักจำนวนวันที่ถูกคุมขังนั้นออกจากจำนวนเงินค่าปรับโดยถืออัตราห้าร้อยบาทต่อหนึ่งวัน เว้นแต่ผู้นั้นต้องคำพิพากษาให้ลงโทษทั้งจำคุกและปรับ ในกรณีเช่นว่านี้ถ้าจะต้องหักจำนวนวันที่ถูกคุมขังออกจากเวลาจำคุกตามมาตรา ๒๒ ก็ให้หักออกเสียก่อนเหลือเท่าใดจึงให้หักออกจากเงินค่าปรับ
เมื่อผู้ต้องโทษปรับถูกกักขังแทนค่าปรับครบกำหนดแล้วให้ปล่อยตัวในวันถัดจากวันที่ครบกำหนด ถ้านำเงินค่าปรับมาชำระครบแล้ว ให้ปล่อยตัวไปทันที”
มาตรา 30/1 ในกรณีที่ศาลพิพากษาปรับ ผู้ต้องโทษปรับซึ่งมิใช่นิติบุคคลและไม่มีเงินชําระค่าปรับอาจยื่นคําร้องต่อศาลชั้นต้นที่พิพากษาคดีเพื่อขอทำงานบริการสังคมหรือทํางานสาธารณประโยชน์ แทนค่าปรับหรือถ้าความปรากฏแก่ศาลในขณะที่พิพากษาคดีว่าผู้ต้องโทษปรับรายใดอยู่ในเกณฑ์ที่จะทํางานบริการสังคมหรือทํางานสาธารณประโยชน์ตามมาตรานี้ได้ และถ้าผู้ต้องโทษปรับยินยอม ศาลจะมีคําสั่งให้ผู้นั้นทํางานบริการสังคมหรือทํางานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับก็ได้
มาตรา 84 ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้าง วานหรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด
ถ้าความผิดมิได้กระทำลงไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ ยังไม่ได้กระทำ หรือเหตุอื่นใดผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ และถ้าผู้ถูกใช้เป็นบุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปี ผู้พิการ ผู้ทุพพลภาพ ลูกจ้างหรือผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของผู้ใช้ ผู้ที่มีฐานะยากจนหรือผู้ต้องพึ่งพาผู้ใช้เพราะเหตุป่วยเจ็บหรือไม่ว่าทางใด ให้เพิ่มโทษที่จะลงแก่ผู้ใช้กึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับผู้นั้น
มาตรา 85/1 ถ้าผู้ถูกใช้ตามมาตรา 84 หรือผู้กระทำตามคำโฆษณา หรือประกาศแก่บุคคลทั่วไปให้กระทำความผิดตามมาตรา 85 ได้ให้ข้อมูลสำคัญอันเป็นการเปิดเผยถึงการกระทำความผิดของผู้ใช้ให้กระทำความผิดหรือผู้โฆษณาหรือประกาศแก่บุคคลทั่วไปให้กระทำความผิด และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการดำเนินคดีแก่บุคคลดังกล่าว ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เคยชี้แจงถึงหลักการและเหตุผล การปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการบังคับโทษปรับ ในประเด็นการยึดทรัพย์สิน หรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินเพื่อใช้ค่าปรับ,ปรับปรุงอัตราเงินในการกักขังแทนค่าปรับให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน, ปรับปรุงจำนวนค่าปรับที่อาจขอทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ, กำหนดหลักเกณฑ์ให้ศาลพิจารณารอการลงโทษสำหรับผู้กระทำความผิดซึ่งถูกลงโทษจำคุก หรือโทษปรับ และเพิ่มเงื่อนไขในการคุมความประพฤติได้ เพื่อให้โอกาสจำเลยได้กลับตัว รวมทั้งกำหนดเพิ่มโทษให้หนักขึ้นสำหรับผู้ใช้ให้บุคคลบางประเภท อาทิ เด็ก และผู้สูงอายุ ไปกระทำความผิด
ขณะเดียวกันให้อำนาจศาลสามารถลดโทษแก่ผู้ถูกใช้ให้กระทำความผิดที่ให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินคดีได้ โดยมีกรมบังคับคดี และกรมคุมประพฤติ สังกัดกระทรวงยุติธรรม มาช่วยดำเนินการบังคับใช้โทษปรับ กรณีผู้ถูกปรับไม่ยอมจ่ายค่าปรับให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นเครื่องมือให้ศาลใช้พิจารณาคดีต่างๆ ให้เกิดความเป็นธรรมต่อไป
ด้านดร.ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์แสดงความเห็นต่อการแก้ไข ประมวลกฎหมายอาญา แก้ไขฉบับที่ 25 หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับผู้กระทำผิดหลายคน มีการเพิ่มมาตรา 84 วรรค3. และมาตรา85/1 นั้น
"1) ผู้มีส่วนร่วมในการกระทำผิดปัจจุบันมี 3 กลุ่ม คือ ตัวการ(ม.83) ผู้ใช้ (ม.84,85) และผู้สนับสนุน(ม.86)
การแก้ครั้งนี้แก้ไขให้เพิ่มโทษเฉพาะผู้ใช้ ไม่แตะตัวการ และผู้สนับสนุน ม.84 วรรค3 ใหม่ จึงให้เพิ่มโทษผู้ที่ใช้เด็กหรือคนบอบบางให้ไปทำผิด ให้รับโทษหนักขึ้นอีกครึ่งหนึ่ง
เช่น ผู้ใหญ่ใช้เด็กไปลักทรัพย์ เด็กติดคุกอย่างสูง 3 ปี (เด็กอาจได้รับการยกเว้นหรือลดโทษตามกฎหมายอยู่แล้ว) ผู้ใหญ่จะติดคุก 4.5 ปี (3+1.5).
ที่แปลกคือ ผู้ใหญ่ที่ชวนเด็กมาทำผิดลักทรัพย์ร่วมกันซึ่งมีฐานะเป็นตัวการ กลับได้รับโทษมากสุดแค่3ปี
เพราะฉะนั้น ถ้าใช้เด็กไปทำผิดแล้วอยากรับโทษเบา ให้ไปยืนเป็นตัวการในที่เกิดเหตุ ผู้ใช้จะเปลี่ยนเป็นตัวการ และจะรับโทษเบากว่าผู้ใช้ เหตุใดการสร้างความเสียหายกับสังคมมากขึ้น กลับรับโทษเบาลง
ทางออกจึงควรกำหนดให้ทั้งตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน ที่มีอิทธิพลเหนือเด็ก รับโทษหนักขึ้นอีกครึ่งหนึ่งทุกสถานะ
2) ม.85/1 ใหม่กำหนดว่า หากผู้กระทำผิดให้ข้อมูลที่นำไปสู่การลงโทษผู้ใช้ ผู้นั้นจะได้รับการลดโทษ
ผลที่แปลกคือ หากผู้กระทำผิดให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์นำไปสู่การลงโทษตัวการ ผู้นั้นกลับไม่ได้รับการลดโทษ
ทางออกจึงควรกำหนดว่า การให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อนำไปสู่การลงโทษผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ผู้นั้นน่าจะได้รับการลดโทษเช่นกัน ขึ้นอยู่กับดุลพินิจศาลว่าข้อมูลนั้นมีประโยชน์เพียงใด
ของมีสาม แก้แค่หนึ่ง ผลก็แปลกเช่นนี้"
ที่มาภาพ:http://www.ปรึกษากฎหมาย.com/