เอกสาร (ไม่ลับ) ปานามา
หากหน่วยงานของรัฐ เช่น ป.ป.ง. และ สตง. หรือหน่วยงานใดก็ตามที่เห็นว่าชื่อของบุคคลใดที่ถูกระบุในเอกสารปานามา “มีแนวโน้มที่เชื่อได้ว่าเป็นการทุจริตหรือก่อให้เกิดความเสียหายให้กับประเทศ ก็สมควรสืบสวนต่อไปและหากพบความผิดก็ต้องดำเนินคดีโดยไม่มีข้อยกเว้น”
ดร. มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น มองถึงข้อมูลเกี่ยวกับ “เอกสาร(ไม่)ลับ ปานามา” บางประเด็นที่มีการตั้งข้อสงสัยเกี่ยวคอร์รัปชั่น
-----
ข้อมูลบางประเด็นที่มีการตั้งข้อสงสัยเกี่ยวคอร์รัปชั่น
1. คนที่ไปเปิดบริษัทในต่างประเทศ (Offshore company) หรือบัญชีธนาคารในต่างประเทศ (Offshore Banking account) มักมีวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือมากกว่า ใน 3 ประการต่อไปนี้ คือ เพื่อธุรกิจ เพื่อฟอกเงิน หรือ เพื่อปกปิดซ่อนเร้นอะไรบางอย่าง
1.1 เพื่อธุรกิจ อาจทำเพื่อกระจายความเสี่ยง เพื่อความสะดวกและลดต้นทุนในการทำธุรกรรมการเงิน รวมทั้งภาษี สร้างแบรนด์สร้างตลาด หาเทคโนโลยี่และหาแหล่งทรัพยากร เป็นต้น เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องจำเป็นที่ทำกันทั่วโลกในยุคโลกาภิวัตน์และควรได้รับการสนับสนุน แต่ก็มีบางกรณีเหมือนกันที่เงินทุนเพื่อการทำธุรกิจเหล่านี้เป็นเงินร้อนหรือมีปะปนกัน
1.2 เพื่อฟอกเงิน ท่านๆ คงพอเข้าใจกันอยู่จึงไม่ขออธิบายในที่นี้ ส่วนเหตุผลเพื่อการปกปิดซ่อนเร้นอะไรบางอย่าง เช่น ทำธุรกิจที่ผิดตามกฎหมายไทย ต้องการซุกซ่อนหรือปกปิดทรัพย์สิน หรือกระทำการที่เกี่ยวข้องกับคอร์รัปชัน เช่น เป็นแหล่งรับค่าสินบนนายหน้าหรือเปิดเป็นนิติบุคคลนอมินี เป็นต้น ทั้งหมดนี้จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับเงินสกปรกหรือเงินร้อนทั้งสิ้น
2. เมื่อปี 2557 ดร. ธวัชชัย ยงกิตติกุล กรรมการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ได้นำข้อมูลขององค์กร Global Financial Integrity มาเปิดเผยว่า ในช่วงปี 2001-2010 มีการขนเงินออกนอกประเทศไทยอย่างผิดกฎหมายเฉลี่ยปีละ 2.2 แสนล้าน และต่อมา พ.ต.อ. สีหนาท เลขาธิการ ป.ป.ง. ก็แถลงว่ามีการนำเงินออกนอกประเทศโดยผิดกฎหมายจริง แต่มีมูลค่าเพียง 3.4 หมื่นล้านบาท (ดูเพิ่มเติมในเฟสบุ้คของผม 27/12/58) จึงเกิดคำถามว่า เงินเหล่านี้เอาออกไปได้อย่างไร เพื่ออะไร สร้างความเสียหายให้กับระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศแค่ไหนหรือไม่ และจะป้องกันอย่างไร
3. ขอให้ความเห็นย้อนไปที่ข้อ 1 เพิ่มเติมดังนี้
การนำเงินออกนอกประเทศหรือนำเงินกลับเข้ามานั้น มีธนาคารแห่งประเทศไทยคอยกำกับดูแลและมีกฎหมายควบคุมอย่างเข้มงวด จึงวางใจได้พอควร
แต่แน่นอนว่าหากนำเงินออกไปจำนวนมากๆ เป็นเวลานานหรือเมื่อทำธุรกิจมีกำไรแล้วไม่นำกลับเข้ามาในประเทศและมีการเสียภาษีอย่างถูกต้อง พฤติกรรมนี้ก็จะไม่เกิดผลดีกับประเทศไทยเช่นกัน ตลอดจนเกิดข้อกังขาว่าเป็นการจงใจเลี่ยงภาษีหรือไม่
4. แหล่งที่คนไทยนิยมไปเปิดบริษัทหรือเปิดบัญชี ได้แก่ สิงคโปร์ เกาะเคย์แมน ฮ่องกง จีนและมาเลเซีย มีหลายกรณีที่คนไปเปิดโฮลดิ้งคัมปานี เพื่อเป็นฐานไปลงทุนในประเทศที่สามอีกทอดหนึ่ง
5. ที่กล่าวมาอาจสะท้อนปัญหาหลายอย่าง เช่น กฎระเบียบที่ใช้ในการควบคุมตรวจสอบและองค์กรกำกับดูแลยังหละหลวม ธรรมาภิบาลในภาคเอกชน กติกาหรือมาตรฐานด้านบรรษัทภิบาลของภาคธุรกิจและสถาบันการเงินยังบกพร่อง
6. ในสหรัฐฯ มีกฎหมายชื่อ FATCA ที่กำหนดให้คนอเมริกัน ไม่ว่าไปทำมาหากินอยู่ที่ประเทศไหนบนโลกใบนี้ ต้องรายงานให้รัฐบาลทราบถึงรายได้ของตนและต้องเสียภาษี โดยที่สถาบันการเงินในประเทศต่างๆ ก็ให้ความร่วมมือรายงานรวมทั้งไทยด้วย เรื่องนี้น่าศึกษาครับ
สำหรับประเทศไทย น่าสนใจว่าที่ผ่านมารัฐบาลได้ลงทุนพัฒนาระบบ IT อย่างต่อเนื่อง และล่าสุดคือโครงการ e-Payment ที่กำหนดให้การจ่ายของภาครัฐต้องกระทำผ่านระบบ IT เท่านั้น การทำเช่นนี้เชื่อว่าจะทำให้รัฐสามารถตรวจสอบเส้นทางการเงินที่พัวพันกับการคอร์รัปชันและอาชญากรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากในอนาคต
7. กรณี Panama Papers เป็นตัวอย่างที่ดีที่ทำให้สังคมได้ตื่นตัวรับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นมานานมากในสังคมไทย และจะทำให้เกิดการทบทวนกันในหลายๆ ประเด็น เชื่อว่าจากนี้ไปกติกาต่างๆ จะชัดเจนมากขึ้น ว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้หรือไม่ควรทำ ซึ่งจะทำให้ทุกคนสบายใจและช่วยกันพัฒนาประเทศตามหน้าที่ของตนต่อไป
โดยสรุป…ข้อมูลและรายชื่อคนไทยที่ปรากฏออกมาถึง 400 คนนั้นเยอะมากและครอบคลุมไปหมด แม้แต่ผู้เผยแพร่ข้อมูลยังออกตัวว่าข้อมูลที่ปรากฎนั้น ยังไม่ได้สรุปว่าใครมีการกระทำผิดอย่างไรหรือไม่ ดังนั้นเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการติดตามตรวจสอบ เราคงต้องแยกแยะบุคคลและพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องว่ามีการเชื่อมโยงกันอย่างไรและเป็นไปเพื่ออะไรบ้าง
แน่นอนว่า หากหน่วยงานของรัฐ เช่น ป.ป.ง. และ สตง. หรือหน่วยงานใดก็ตามที่เห็นว่าชื่อของบุคคลใดที่ถูกระบุในเอกสารปานามา “มีแนวโน้มที่เชื่อได้ว่าเป็นการทุจริตหรือก่อให้เกิดความเสียหายให้กับประเทศ ก็สมควรสืบสวนต่อไปและหากพบความผิดก็ต้องดำเนินคดีโดยไม่มีข้อยกเว้น”