ความย้อนแย้งในการประมูลคลื่น 900 MHz ทำอย่างไรไม่ให้ประเทศเสียโอกาส
หากปล่อยให้การประมูลคลื่นเดินไปตามกำหนดเดิม เปรียบเทียบกับการจัดสรรคลื่นอย่างฉับไว อะไรคือทางเลือกที่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวมกันแน่
ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพประชาชน มองถึงปัญหาในการจัดประมูลคลื่น 900 MHz. ทำอย่างไรไม่ให้ประเทศเสียโอกาส
----
ในระหว่างที่ กสทช. เตรียมการจัดประมูลคลื่น 900 MHz โดยจะนำราคาชนะประมูลของคลื่นที่ถูกทิ้งใบอนุญาตเดิม คือราคา 75,654 ล้านบาท มาเป็นราคาตั้งต้นการประมูลใหม่แล้วนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะว่าเป็นระดับราคาที่เหมาะสมหรือไม่
หลายฝ่ายก็ถกเถียงกันว่า การตั้งต้นประมูลที่ราคานี้เท่ากับเป็นการอุ้มผู้ทิ้งใบอนุญาตหรือไม่ เพราะไม่มีส่วนต่างราคาประมูลที่จะต้องรับผิดชอบ และถ้าไม่มีใครเข้าร่วมประมูลเพราะเป็นราคาที่สูงเกินไป คลื่นจะถูกเก็บไว้โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ ใครจะรับผิดชอบค่าเสียโอกาสของประเทศ อีกทั้งการเก็บคลื่นไว้เป็นเวลานานจนราคาเปลี่ยนแปลงไป ก็จะทำให้ไม่สามารถเรียกร้องส่วนต่างราคาจากผู้ทิ้งใบอนุญาตได้
แต่ปรากฏว่า กลุ่มเอไอเอสได้ทำหนังสือขอรับการจัดสรรคลื่นที่ระดับราคาดังกล่าว โดยไม่ต้องประมูล จนบางคนสรุปอย่างรวบรัดว่า ข้อเสนอนี้แสดงว่าการประมูลที่ตั้งต้น ณ ราคาดังกล่าวไม่สูงเกินไปและเอกชนรับได้ แต่คำถามง่ายๆ คือ ถ้าเอกชนพร้อมจะรับจริง ทำไมไม่รอการประมูลตามปกติ ซึ่งจะมีการแข่งราคากัน รัฐอาจได้ราคาที่สูงกว่านี้อีกก็ได้ คำตอบที่ตรงไปตรงมาก็คือ ราคาที่ขอรับเป็นราคา ณ วันนี้ วันที่ซิมยังไม่ดับ เป็นราคาที่รับบนเงื่อนไขที่ซิมจะยังไม่ดับ แต่การประมูลที่ กสทช. จะจัดขึ้นจะเกิดหลังจากซิมดับแล้วกว่าสองเดือน ประโยชน์ของคลื่นในทางธุรกิจจึงต่างกันมาก และหากเชื่อว่าเป็นราคาที่ไม่สูงจริง เราน่าจะเห็นเอกชนรายอื่นเสนอตัวเพิ่มเข้ามาอีก
ดังนั้น สิ่งที่สังคมต้องจับตาก็คือ เอกชนรายอื่นพร้อมจะเสนอตัวที่ราคาเดียวกันนี้หรือไม่ ถ้าไม่มีก็คงไม่น่าแปลกใจถ้ารัฐจะตัดสินใจเพื่อประโยชน์ของทุกภาคส่วนที่จะจัดสรรคลื่นโดยเร็ว
แต่ถ้าเอกชนรายอื่นพร้อมจะรับราคานี้ คงต้องมีเกณฑ์ในการพิจารณาว่ารายใดจะได้รับการจัดสรร แต่ไม่ว่าจะมีใครเสนอตัวเพิ่มอีกหรือไม่ เป็นที่ชัดเจนว่า การประมูลคลื่นความถี่แบบเดิมจะไม่ทันต่อสถานการณ์ที่มีผลกระทบต่อราคาคลื่น หากจัดสรรเร็ว รัฐจะได้ราคาชนะประมูลเดิม แต่หากจัดสรรช้า อาจไม่มีผู้เข้าร่วมประมูลเลยซึ่งหมายความว่ารัฐจะไม่มีรายได้เลย สถานการณ์นี้จึงเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ การดำเนินการที่ล่าช้าจึงกระทบต่อประโยชน์สาธารณะและประโยชน์ของประเทศ
อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่สังคมต้องจับตาคือ การจัดสรรลักษณะนี้ เข้าทางใครหรือไม่ หรือทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในตลาดมือถือหรือไม่ เพราะในขณะนี้ หลายฝ่ายยังขบคิดไม่ออกด้วยซ้ำว่า เหตุการณ์ดันราคาประมูลแล้วทิ้งใบอนุญาต เป็นแผนที่มีการวางกันมาก่อนหรือไม่ เป็นการสมคบคิดกันหรือไม่ และอะไรคือผลประโยชน์ที่แท้จริงที่ผู้ทิ้งใบอนุญาตได้รับหากมีการจัดสรรคลื่นด้วยวิธีที่ไม่ปกติ จะเข้าทางใครกันแน่ และในที่สุดใครเป็นฝ่ายเจ็บตัวจากเหตุการณ์ทั้งหมด
เริ่มที่ฝ่ายรัฐก่อน การทิ้งคลื่นทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศเสียหาย ทำให้รัฐขาดรายได้ที่พึงมี และทำให้คลื่นไม่ถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ รัฐจึงควรเร่งจัดสรรคลื่นที่ถูกทิ้ง แต่บนเงื่อนไขว่าระดับราคาต้องเหมาะสม คือต้องทำให้รัฐได้รับประโยชน์ไม่ต่างจากเดิม และผู้ชนะการประมูลที่ชำระเงินไปแล้วจะไม่เสียค่าโง่ กล่าวคือเสียเงินซื้อคลื่นรอบแรกแพงกว่าเอกชนรายหลังที่ซื้อคลื่นถูกกว่ามาก ซึ่งจะส่งผลต่อความได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขันในตลาดบริการมือถือ ดังนั้น การที่เอกชนรายอื่นจะรับราคาชนะประมูลที่ถูกทิ้ง จึงไม่น่าจะทำให้รัฐเสียหาย แต่กลับเป็นการแก้ปัญหาจากการทิ้งใบอนุญาตและสยบความปั่นป่วนในอุตสาหกรรมมือถือได้อย่างฉับไว
สำหรับเอกชนที่ชนะการประมูลไปแล้ว กติกาการประมูลเดิมกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ผู้ชนะการประมูลมีสิทธิ์ชนะเพียงใบอนุญาตเดียวขนาด 10 MHz จากการประมูลคลื่น 2 ล็อต เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดคลื่น 900 MHz ซึ่งทั้งหมดมีเพียง 20 MHz เป็นการป้องกันการผูกขาดตลาดมือถือย่านคลื่นความถี่ต่ำกว่า 1 GHz ในระยะยาว และล่าสุดที่ประชุม กสทช. ก็มีมติแล้วว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตบนคลื่นย่านนี้แล้ว ไม่มีสิทธิ์เข้าร่วมประมูลครั้งใหม่ หากรัฐจะตัดสินใจจัดสรรคลื่นให้เอกชนรายอื่น จึงไม่เป็นการกระทบสิทธิ์เอกชนที่ชนะการประมูลไปแล้ว ยิ่งการจัดสรรคลื่นรอบใหม่นี้ใช้ราคาชนะประมูลเดิมเป็นฐาน ก็ไม่เป็นการเอาเปรียบผู้ที่ชนะการประมูลไปแล้ว เพราะเป็นราคาที่เกิดจากการเคาะประมูลที่ผ่านมาแล้วจริงๆ หากผู้ชนะการประมูลจะมองว่าเป็นราคาที่เกิดจากการดันราคาในการเคาะประมูลจนติดดอย ก็แปลว่าเอกชนรายอื่นพร้อมจะขึ้นมาอยู่บนดอยเดียวกัน ไม่ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบด้านต้นทุนคลื่น
สำหรับเอกชนรายอื่นที่ไม่ชนะประมูลและยังไม่เสนอตัวรับราคานี้ ก็ยังไม่ควรปิดโอกาสที่จะเสนอตัวเข้ามา เพราะหากรัฐเลือกที่จะรับข้อเสนอรายหนึ่งแต่ปฏิเสธข้อเสนอเดียวกันของรายอื่น ก็จะเป็นการเลือกปฏิบัติ และเป็นการอุ้มชูผู้เล่นรายใดรายหนึ่งและกีดกันรายอื่นๆ ดังนั้นหากเอกชนรายอื่นพร้อมที่จะรับราคานี้ ก็สมควรได้รับโอกาสในการยื่นข้อเสนอลักษณะเดียวกันต่อรัฐ และอาจทำให้มีการแข่งขันราคาสูงขึ้นไปอีกซึ่งเป็นประโยชน์ต่อรัฐอย่างชัดเจน แต่หากเอกชนรายอื่นไม่ไขว่คว้าโอกาสที่ตนเองมี ก็อาจจะกล่าวโทษคนอื่นลำบาก
และสำหรับเอกชนที่เสนอตัวแล้วว่าขอรับการจัดสรรคลื่นโดยไม่ประมูล แน่นอนว่า หากเป็นราคาต่ำ ย่อมจะได้เปรียบเอกชนรายอื่น แต่หากเป็นราคาชนะประมูลเดิม ซึ่งนักวิเคราะห์หลายสำนักเห็นสอดคล้องกันว่าเป็นราคาที่สูงเกินคาดการณ์ ก็ถือได้ว่าเป็นราคาที่สมน้ำสมเนื้อ และลดปัญหาในการติดตามค่าเสียหายจากผู้ทิ้งใบอนุญาต แต่หากมองว่าใช้สิทธิ์อะไรมาเสนอราคาตัดหน้ารายอื่นนอกการประมูล ก็คงต้องทำความเข้าใจว่า เอกชนทุกรายยังควรมีสิทธิ์เสนอตัวรับราคาเดียวกัน โดยรัฐยังไม่ควรสรุปว่า จะพิจารณารายนี้เท่านั้น
ที่สำคัญจากประวัติการเคาะประมูลคลื่น 900 MHz ทั้งสองล็อตที่ผ่านมา เอกชนรายนี้เคาะราคาสุดท้ายสูงกว่าราคาชนะประมูลของผู้ทิ้งคลื่นเสียอีก คือเคาะราคาสุดท้ายที่ 75,976 ล้านบาทแต่เป็นการเคาะแข่งในคลื่น 900 MHz อีกล็อตหนึ่ง ซึ่งสุดท้ายไม่ชนะการประมูลเลยแม้แต่ล็อตเดียว ดังนั้น หากมองภาพรวมของการประมูลคลื่นทั้งสองล็อต ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า นี่คือผู้เสนอราคาสูงสุดเป็นอันดับที่สองของการประมูลทั้งหมด
แต่หลายฝ่ายก็ยังสงสัยว่า แล้วทำไมไม่เคาะราคาสู้ในการประมูลครั้งที่ผ่านมา ก็เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันค้นหาคำตอบ แต่ที่แน่ๆ คือ ณ วันนี้ สถานการณ์ซิมดับเป็นตัวเร่งการตัดสินใจรับราคา เวลาที่ผ่านมา 3 เดือนเศษหลังการประมูล ก็ยืนยันชัดเจนแล้วว่า ยังคงมีผู้ใช้บริการที่ใช้มือถือ 2G อยู่กว่า 7 ล้านคน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องยอมรับว่า แม้จะมีการประชาสัมพันธ์ให้ย้ายค่าย หรือบางรายย้ายค่ายไปก่อนแล้ว และมีการประชาสัมพันธ์ให้รับเครื่องฟรี แต่จนถึงทุกวันนี้ ก็ยังมีประชาชนอีกมากที่ไม่ดำเนินการ นับเป็นระเบิดเวลาที่ต้องเร่งปลดชนวนก่อนวิกฤตซิมดับจะมาถึงในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ หากการเสนอตัวในครั้งนี้ จะป้องกันวิกฤตซิมดับได้ โดยไม่มีฝ่ายใดเสียประโยชน์ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในพื้นที่ห่างไกลอีกทอดหนึ่งด้วย
ในที่สุดเราจึงต้องร่วมกันชั่งน้ำหนักประโยชน์ และความเสียหายต่อประเทศว่า
หากปล่อยให้การประมูลคลื่นเดินไปตามกำหนดเดิม เปรียบเทียบกับการจัดสรรคลื่นอย่างฉับไว อะไรคือทางเลือกที่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวมกันแน่
อย่างไรก็ตาม การจัดสรรคลื่นไม่ว่าด้วยวิธีใด ต้องไม่เป็นการกีดกันหรือเลือกปฏิบัติต่อเอกชนรายหนึ่งรายใดเป็นการเฉพาะ และต้องไม่สร้างความได้เปรียบเสียเปรียบในตลาดมือถือให้เกิดขึ้นตามมาในอนาคต หากจะดำเนินการอย่างรวดเร็ว ก็ต้องไม่ใช่การดำเนินการที่ไม่เป็นธรรม หากจะดำเนินการอย่างรวดเร็ว ก็ไม่ใช่ข้ออ้างที่จะไม่รับฟังความคิดเห็นรอบด้านจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ เป้าหมายที่แท้จริงก็คือการลดขั้นตอน แต่ไม่ใช่ลดความเป็นธรรม ในทางกลับกันการคงขั้นตอนซึ่งเป็นอุปสรรคต่อความเป็นธรรมไว้ เพียงเพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบพ้นความรับผิด ก็เป็นสิ่งที่พึงหลีกเลี่ยง