สนช.เคาะคำถามพ่วงประชามติชง กกต.ให้ 5 ปีแรกรัฐสภาเลือกนายกฯ
ไม่พลิกโผ! ที่ประชุม สนช. เห็นชอบล้นหลามตาม สปท. เคาะคำถามพ่วงประชามติชง กกต. ให้ 5 ปีแรกรัฐสภาเลือกนายกฯ ยันเพื่อการปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่อง สำเร็จตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ช่วงเย็นวันที่ 7 เม.ย. 2559 ที่รัฐสภา ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาประเด็นคำถามที่จะเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพิ่มเติม โดยรับฟังความเห็นจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่มีมติเสนอให้ สนช. พิจารณาคำถามว่า เห็นด้วยหรือไม่ที่ 5 ปีแรกภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญให้นายกรัฐมนตรีมาจากความเห็นชอบของรัฐสภา โดยงดเว้นไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีที่พรรคการเมืองแจ้งไว้นั้น
นายกล้านรงค์ จันทิก สนช. ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญพิจารณาศึกษาเสนอแนะและรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญของ สนช. นำเสนอรายงานประเด็นคำถามอื่นใดเสนอให้ กกต. จัดให้มีการออกเสียงประชามติเพิ่มเติมตอนหนึ่งว่า มี กมธ.คณะต่าง ๆ ของ สนช. จำนวน 9 คณะส่งคำถาม ไม่ส่งคำถาม 7 คณะ และมีสมาชิก สนช. จำนวน 8 รายส่งคำถาม รวมทั้งคำถามจาก สปท. ด้วย ซึ่ง กมธ.สามัญฯ พิจารณาวิเคราะห์ประเด็นคำถามบนพื้นฐานของหลักการและเหตุผล และประมวลคำถามจาก กมธ.คณะต่าง ๆ สมาชิก สนช. และ สปท. แล้ว มี กมธ. หลายคณะ สมาชิก สนช. และ สปท. มีหลักการและเหตุผลคล้ายคลึงกันคือ คำถามที่ว่าช่วง 4-5 ปี ควรกำหนดให้มีบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ ให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
นายกล้านรงค์ กล่าวว่า กมธ.สามัญฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า ประเด็นคำถามที่ส่งให้ กกต. จัดให้มีการออกเสียงลงประชามติเพิ่มเติม ได้เน้นข้อเสนอของ สปท. เป็นหลักในการพิจารณา ดังนั้นเห็นควรตั้งประเด็นคำถามว่า เห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรก นับตั้งแต่วันที่มีรัฐสภาชุดรแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี
สำหรับเหตุผลในการส่งคำถามดังกล่าวนั้น นายกล้านรงค์ กล่าวว่า ในบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญบัญญัติให้คณะรัฐมนตรีมีความรับผิดชอบในการแจ้งความคืบหน้าตามแผนการปฏิรูปประเทศต่อรัฐสภาเพื่อทราบทุก 3 เดือน ประกอบกับ สปท. ซึ่งมีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการปฏิรูปประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ได้ส่งความเห็นมายัง สนช. ซึ่งตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) ปี 2559 ให้ สนช. นำความเห็น สปท. มาประกอบการพิจารณาด้วย รวมถึงสมควรเพื่อให้มีกลไกการปฏิรูปประเทศอย่างต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติต่อเนื่องในแผนระยะ 5 ปี สมควรให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี บริหารราชการแผ่นดินในช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล เพื่อให้การขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศต่าง ๆ สำเร็จตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ และตามเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญกำหนดอย่างมีประสิทธิภาพ และมีประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน และประเทศชาติ
โดยที่ประชุม สนช. แบ่งการลงคะแนนเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก สมควรมีประเด็นคำถามให้ กกต. ไปทำการออกเสียงทำประชามติเพิ่มเติมหรือไม่ โดยมี สนช. เห็นชอบ 142 คน ไม่เห็นด้วย 16 คน งดออกเสียง 9 คน จากผู้เข้าประชุม 167 คน
ส่วนที่สอง เห็นด้วยกับคำถามประชามติของ กมธ.สามัญฯ เพื่อให้ กกต. ไปทำการออกเสียงทำประชามติเพิ่มเติมหรือไม่ โดยมี สนช. เห็นชอบ 152 คน ไม่มีคนไม่เห็นด้วย งดออกเสียง 16 จากผู้เข้าประชุม 167 คน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กมธ.ของ สนช. ที่เสนอคำถามให้รัฐสภาเลือกนายกรัฐมนตรี ได้แก่ กมธ.ยุติธรรม กมธ.สาธารณสุข กมธ.ต่างประเทศ กมธ.วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี กมธ.คมนาคม กมธ.การปกครองท้องถิ่น และ กมธ.พลังงาน มี สนช. 6 ราย ได้แก่ นายศรีศักดิ์ ว่องส่งสาร พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา (ผบ.ตร.) พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ (อดีต ผบ.ตร. น้องชาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม) นายตวง อันทะไชย พล.ต.อ.พิชิต ควรเดชะคุปต์ และนายสมชาย แสวงการ รวมถึงมติของ สปท.
ส่วน กมธ.ของ สนช. และ สนช. ที่เสนอประเด็นคำถามอื่นที่แตกต่างออกไปได้แก่ กมธ.การเมือง เสนอว่า เห็นด้วยหรือไม่ให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ไม่ใช่บัตร 1 ใบ ตามร่างรัฐธรรมนูญ กมธ.เศรษฐกิจการเงินและการคลัง เสนอว่า เห็นด้วยหรือไม่หากให้มีการปฏิรูป 5 ปี ก่อนการเลือกตั้ง กมธ.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่งมาอีกคำถามคือ ในวาระเริ่มแรก 4 ปี นับตั้งแต่เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งแรก เห็นด้วยหรือไม่ที่ให้รัฐสภามีหน้าที่เพิ่มเติมจากกำหนด เช่น เลือกนายกรัฐมนตรี อภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรี พิจารณาร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการเงิน เพื่อให้ได้รัฐบาลที่ปราบปรามการทุจริต ปฏิรูประบบชลประทาน ปฏิรูปการศึกษา และปฏิรูปราชการ
รศ.ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน เสนอว่า เห็นด้วยหรือไม่กับการให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. สามารถสมัครได้โดยอิสระไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง และ พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร เสนอว่า เห็นด้วยหรือไม่ในระหว่าง 5 ปีแรกนับตั้งแต่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ควรเพิ่มบทบัญญัติให้รัฐสภาประชุมร่วมในการพิจารณาให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี และลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ
ขณะที่มี สนช. 3-4 ราย ไม่ว่าจะเป็นนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ นายตวง นายสมชาย เป็นต้น ลุกขึ้นอภิปรายไปในแนวทางเห็นชอบกับคำถามประชามติเพิ่มเติมดังกล่าว เนื่องจากกังวลว่าหากไม่ทำตามนี้อาจทำให้สังคมเกิดความขัดแย้งทางการเมืองอีกครั้ง