เมื่อป้อมจุดตรวจไม่การันตีความปลอดภัย คนสธ.ขอมี"ระยะห่าง"กับฝ่ายมั่นคง
ยังคงเป็นประเด็นที่ถูกกล่าวถึง เพราะแม้แต่องค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น ก็ยังออกมาประณาม สำหรับเหตุการณ์คนร้ายบุกยึดโรงพยาบาลเจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เพื่อใช้เป็นที่มั่นในปฏิบัติการโจมตีฐานทหารพราน เมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 มี.ค.59
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีการสัมนาวิชาการหัวข้อ “พื้นที่ (ใจ) กลางในความรุนแรง” โดยมีนักวิชาการ ตลอดจนตัวแทนแพทย์และพยาบาลเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น และมีผู้สนใจรับฟังจำนวนมาก
ทุกคนอยู่ในวังวนความรุนแรง
นพ.อรัญ รอกา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี กล่าวตอนหนึ่งว่า เวลาเกิดเหตุการณ์รุนแรงกับครู โรงเรียนจะปิดการเรียนการสอนทันที แต่เวลาเกิดกับโรงพยาบาล การบริการทุกอย่างยังคงปกติ ไม่มีปิด อาจทำให้เห็นว่าถ้าเหตุการณ์เกิดขึ้นกับโรงพยาบาล ผลกระทบเกิดไม่มาก ทั้งๆ ที่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทุกคนพยายามบอกว่าผู้ใช้ความรุนแรงไม่ได้เล็งเป้ามาที่บุคลากรทางการแพทย์ เช่น เหตุระเบิดที่โรงพยาบาลโคกโพธิ์ (28 พ.ค.57) มีคนบอกว่าเป้าอยู่ที่เจ้าหน้าที่อาสารักษาดินแดน (อส.) หรือเหตุระเบิดบริเวณหน้าสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปัตตานี (9 ก.พ.55) ก็เพราะมีรถรองผู้ว่าราชการจังหวัดจอดอยู่ใกล้ๆ หรือแม้แต่ที่เกิดในโรงพยาบาลเจาะไอร้อง (13 มี.ค.59) ก็เพราะผู้ก่อเหตุเล็งไปที่ทหารพราน จึงต้องเข้าโรงพยาบาล ทั้งหมดอาจเป็นคำพูดปลอบใจ เพราะข้อสังเกตที่พบก็คือ จริงๆ แล้วทุกคนเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความมั่นคงที่เกิดขึ้น
“แม้รัฐไม่ยอมรับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่เป็นความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธ แต่เรารู้ว่ามีการใช้อาวุธแน่นอน ใช้ระเบิดแน่ๆ แล้วคู่ต่อสู้เป็นใคร ขบวนการแบ่งแยกดินแดนกับรัฐ ขบวนการยาเสพติดกับรัฐ นักการเมืองท้องถิ่นกันเอง หรือมีใครอีก เพราะจริงๆ แล้วมีหลายคู่” นพ.อรัญ อธิบายถึงความซับซ้อนของสถานการณ์ชายแดนใต้
ขอมี "ระยะห่าง" กับฝ่ายความมั่นคง
“ฝ่ายความมั่นคงมองว่าบุคลากรสาธารณสุขอ่อนแอ เดี๋ยวอาจเกิดเหตุอีก ต้องตามดูแล เป็นห่วง แต่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขบอกว่าไม่ต้องตาม ฉันไม่ได้อ่อนแอ เพราะเวลาทหารเข้าไปในสถานีอนามัยก็ไม่มีเรื่อง แต่พอทหารออกมาสถานีโดนเผา ทางที่ดีอย่าเข้ามาตั้งแต่แรก เพราะคุณไม่สามารถดูแลได้ตลอด 24 ชั่วโมง ควรมีการรักษาระยะห่าง อย่าเอาฐานมาพิงกำแพงแบบนี้ (หมายถึงแบบโรงพยาบาลเจาะไอร้อง) มันไม่เหมาะ ให้ตั้งฐานแบบล้อมรอบก็ได้ แต่อย่ามาพิงกำแพงหรือเข้ามาอยู่ด้านใน”
“อยากขอความร่วมมือกับฝ่ายความมั่นคงว่า อย่าเอาสาธารณสุขไปตรวจข้างนอกเพื่อหวังจะสร้างงานมวลชน ถ้าจะช่วยประชาชนที่เจ็บป่วย ให้พาคนเจ็บมาที่โรงพยาบาล อย่างนี้ดีกว่า”
นพ.อรัญ สรุปว่า ที่นี่เป็นพื้นที่ความขัดแย้ง จะเกิดความสงบง่ายๆ คงเป็นได้ยาก แม้จะมีบรรยากาศการเจรจาสันติสุข แต่ถ้าไม่มีพื้นที่ปลอดภัยเลย ความหวังในการเจรจา หรือจุดจบความขัดแย้งก็ไม่มี แต่ถ้ามีพื้นที่ปลอดภัย ก็ยังเห็นแสงสว่างบ้าง
คุณภาพการบริการและอุดมการณ์ที่ถูกละเลย?
ผศ.ดร.ปรียา แก้วพิมล จากคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตั้งประเด็นเกี่ยวกับคุณภาพการบริการและอุดมการณ์ของบุคลากรด้านสาธารณสุข โดยบอกว่าทุกวันนี้บุคลากรสาธารณสุขเปลี่ยนไปหรือไม่ อุดมการณ์เราเหมือนเดิมอยู่หรือเปล่า
“หมอมาโรงพยาบาลต้องไปตรวจคลินิกเสร็จก่อน ต้องรอ 9-10 โมงกว่าจะเข้าโรงพยาบาล ถ้าที่โรงพยาบาลมีเรื่องด่วนก็ต้องโทรไปคลินิก เรามองว่าภาพลักษณ์เราเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน วิธีคิดเปลี่ยน ส่วนการสร้างพื้นที่ปลอดภัยจะมองที่ทหารฝ่ายเดียวไม่ได้ ต้องมองทั้งระบบ ต้องมองเรื่องคุณภาพของชีวิต ปากท้องของประชาชน ชุมชน และสังคมควบคู่ด้วย จึงจะสามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัยได้”
“การบริการที่เท่าเทียม และเรื่องความเป็นกลาง เป็นเรื่องที่บุคลากรสาธารณสุขต้องพัฒนาปรับปรุงไปพร้อมๆ กัน เพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ไม่ปลอดภัย ไม่ใช่คิดเฉพาะว่าเป็นเรื่องทหารอย่างเดียว อย่าทิ้งเรื่องคุณภาพชีวิต เพราะเป็นมิติการแก้ปัญหาพื้นที่เช่นเดียวกัน”
ผศ.ดร.ปรียา ย้ำว่า สถานการณ์บางอย่างเกิดจากความไม่สมดุลของชุมชนด้วย มีเรื่องคุณภาพชีวิตเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ฉะนั้นมีทหาร ตำรวจ ปืน และป้อมจุดตรวจอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องมีความมั่นคงของคุณภาพชีวิตและปากท้อง ถ้านำการปฏิสัมพันธ์กันของผู้คนในชุมชนเหมือนในอดีตกลับคืนพื้นที่ได้ ทุกคนจะสามารถร่วมกันสร้างพื้นที่ปลอดภัยได้