‘รสนา โตสิตระกูล’ หนุนขับเคลื่อนพลังงานหมุนเวียนแทนถ่านหิน-นิวเคลียร์
นักวิชาการต่างประเทศชี้เศรษฐกิจเอเชียโต แม้ลดความยากจน แต่กระทบระบบนิเวศ ระบุเลิกมองสิ่งแวดล้อมเป็นสินค้า หนุนอาหารท้องถิ่น คิดถึง ปชต.ที่มากกว่าเลือกตั้ง ด้าน ‘รสนา’ หมดหวังไทยดัน ศก.สีเขียว หลังรัฐยึดตัวเลขจีดีพีเป็นตัวตั้ง
วันที่ 5 เมษายน 2559 คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ จัดเวทีสัมมนาวิชาการ เรื่อง เศรษฐกิจสีเขียว GREEN ECONOMY ทุนนิยมแบบสร้างภาพหรือทางเลือกเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง ณ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
Dr.Jose A. Puppim de Oliveira, International Institute for Global Health United Nations University เปิดเผยว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียส่งผลดีทำให้ความยากจนลดลง แต่ปัญหาคือทำให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมตามมามากมาย ดังนั้น แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ในโลกกระแสหลักที่ว่าเมื่อประเทศได้รับการพัฒนาจะทำให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมลดน้อยลงจึงไม่เป็นความจริง
“บางประเทศที่มีการพัฒนาจนร่ำรวย ดูเหมือนจะมีสิ่งแวดล้อมที่ดี แต่ข้อเท็จจริงกลับนำธุรกิจหรืออุตสาหกรรมไปไว้ในประเทศที่ด้อยพัฒนาแทน ซึ่งไม่มีกฎหมายปกป้องแรงงานหรือสิ่งแวด้อมจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นต้องแก้ไขโครงสร้างระบบเศรษฐกิจการเมืองของโลก เพื่อสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้น”
Dr.Jose ยังระบุว่า นอกจากนี้ต้องทำให้เศรษฐกิจสีเขียวเปรียบเหมือนตลาดการค้าเสรี แต่เราต้องมองทางเลือกว่าจะเลือกช่วยชีวิตทุนนิยมหรือช่วยชีวิตตัวเรา และเลิกมองสิ่งแวดล้อมเป็นสินค้า พร้อมให้เกิดการเชื่อมโยงการต่อสู้ของแรงงาน สนับสนุนอาหารท้องถิ่น แทนการส่งออกอาหารไปยังพื้นที่อื่น ๆ ของโลก และให้คำนึงถึงหลักประชาธิปไตยที่มิใช่แค่สิทธิเลือกตั้ง แต่ต้องคำนึงถึงระบบเศรษฐกิจด้วย
ขณะที่ น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย กล่าวว่า ไทยแทบไม่มีความหวังกับเรื่องเศรษฐกิจสีเขียว เนื่องจากทัศนะเชิงระบบมีปัญหา มุ่งพัฒนาโดยไม่มีขีดจำกัด ซึ่งถือเป็นทัศนะที่ผิด ทั้งยังเห็นว่า เศรษฐศาสตร์ใช้มายาทางตัวเลข จนนำมาเป็นกรอบโครงสร้างในการพัฒนาเศรษฐกิจ
ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกใจ ตั้งแต่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไทยเกิดความเหลื่อมล้ำ รวยกระจุก จนกระจาย แม้กระทั้งปัจจุบันยังคงเดินบนเส้นทางที่เน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ จึงต้องถลุงทรัพยากรให้มากที่สุด โดยไม่สนใจคุณค่า ความสุข หรือสุขภาพ เพราะสิ่งเหล่านั้นคำนวณออกมาเป็นตัวเลขทางเศรษฐศาสตร์ไม่ได้
“สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเศรษฐกิจสีเขียวในไทย คือ มีการพูดถึงพลังงานหมุนเวียนหรือไม่ ขณะที่หลายประเทศกำลังให้ความสนใจมากขึ้น” อดีต ส.ว. กล่าว และว่าผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระบุปัจจุบันโลกใช้พลังงานหมุนเวียนเพียง 2.5% ของศักยภาพพลังงานหมุนเวียนทั่วโลก นั่นแสดงว่า อีก 97.5% ไม่ถูกนำมาใช้
น.ส.รสนา กล่าวด้วยว่า ปี 2558 ไทยใช้ไฟฟ้ารวม 192,190 ล้านหน่วย ขณะที่เยอรมนีผลิตจากพลังงานหมุนเวียนทั้งหมดรวม 194,000 ล้านหน่วย ดังนั้นหากมีการสนับสนุนพัฒนาเรื่องพลังงานหมุนเวียนอย่างเต็มที่ ตั้งคำถามว่า จำเป็นหรือไม่ต้องผลิตโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่ไทยกลับไม่ทำ แม้กระทั่งระบบเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้าบนหลังคา (โซลาร์ รูฟ) ยังถูกจำกัด ทำให้เศรษฐกิจสีเขียวยังไม่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่ .
ภาพประกอบ:เว็บไซต์ไทยพับลิก้า