นิรโทษป่วนใต้สะดุด 4ผู้ต้องหาฯอ้างถูกซ้อม เมินเข้าอบรมตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ
4 ผู้ต้องหาฯที่เข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 21 พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ขึ้นศาลนาทวีนัดแรก ปฏิเสธเข้ารับการอบรม 6 เดือนแทนการฟ้องคดีอาญา อ้างไม่สมัครใจ แต่ถูกทำร้ายเพื่อบังคับให้ร่วม ซ้ำไม่ได้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา ส่งผลกระบวนการเดินหน้าไม่ได้ ศาลต้องนัดใหม่ปลาย ม.ค.ปีหน้า ทหารมึนเจอหักมุมตอนจบ ยันไม่มีความจำเป็นต้องบังคับเข้าอบรม กังขาผู้ต้องหาฯเลือกหันหลังให้ ทั้งๆ ที่เดินหน้าต่อไปได้ประโยชน์มากกว่า
กระบวนการตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ที่ฝ่ายความมั่นคงเดินหน้าใช้เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยประกาศนำร่องในพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ด้วยการเปิดโอกาสให้บุคคลที่ถูกต้องหาว่ากระทำความผิดอันมีผลกระทบต่อความมั่นคง แต่กลับใจยอมเข้ามอบตัว หรือกระทำไปเพราะหลงผิด ได้เข้ารับการฝึกอบรมจากรัฐเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือนแทนการถูกดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมนั้น มีอันต้องสะดุดลง เนื่องจากบุคคลเป้าหมาย 4 รายแรกที่เข้าสู่กระบวนการ ยืนกรานต่อศาลว่าไม่สมัครใจเข้ารับการอบรม
เมื่อวันพุธที่ 14 ธ.ค.2554 ที่ศาลจังหวัดนาทวี อ.นาทวี จ.สงขลา ศาลได้ออกนั่งบัลลังก์เพื่อพิจารณาสำนวน รม.1-4/2554 ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดนาทวี ผู้ร้อง กับ นายมะซับรี ตะบูติง, นายซุบิร์ สุหลง, นายสะแปอิง แวและ, และนายอับริ สหมานกูด ผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดอันมีผลกระทบต่อความมั่นคงที่ 1-4 เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้ส่งผู้ต้องหาฯให้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ผอ.รมน. ในที่นี้หมายถึง ผอ.รมน.ภาค 4 ซึ่งก็คือแม่ทัพภาคที่ 4) เพื่อเข้ารับการอบรมเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือน
อย่างไรก็ดี มีรายงานว่าผู้ต้องหาฯทั้ง 4 รายไม่สมัครใจเข้ารับการอบรมตามมาตรา 21 และอ้างว่าไม่ได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา แต่ถูกบีบบังคับและถูกทำร้ายโดยเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อให้ยอมเข้ากระบวนการ ศาลจึงสั่งเลื่อนการพิจารณา และนัดพร้อมทั้งสองฝ่ายอีกครั้งในวันที่ 23 ม.ค.2555
อนึ่ง กระบวนการตามมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ระบุว่า เมื่อปรากฏว่าบุคคลใดต้องหาว่าได้กระทำความผิดอันมีผลกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด แต่ผู้นั้นกลับใจเข้ามอบตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการสอบสวนแล้วปรากฏว่าบุคคลนั้นได้กระทำไปเพราะหลงผิดหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และการเปิดโอกาสให้บุคคลนั้นกลับตัวจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาความมั่นคงภาย ในราชอาณาจักร ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนรายงานการสอบสวนและความเห็นไปให้ ผอ.รมน.
เมื่อ ผอ.รมน.เห็นด้วยกับความเห็นของพนักงานสอบสวน และตรงกับเงื่อนไขข้างต้นครบถ้วน ให้ ผอ.รมน.ส่งบันทึกสำนวนพร้อมความเห็นไปยังพนักงานอัยการ จากนั้นพนักงานอัยการต้องยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อให้ศาลสั่งให้ส่งตัวผู้ต้องหาฯให้ ผอ.รมน.เพื่อเข้ารับการอบรม ซึ่งหากผู้ต้องหาฯยินยอม ศาลจะสั่งให้ส่งผู้ต้องหาฯนั้นให้ ผอ.รมน.เพื่อเข้ารับการอบรมเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือน รวมทั้งปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่นๆ ที่ศาลกำหนด และสิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องกับผู้ต้องหาฯจะเป็นอันระงับไป
ทั้งนี้ รัฐบาลที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ในพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ตั้งแต่ปลายปี 2553 และได้ขยายเวลาประกาศไปแล้ว 1 ครั้ง โดยผู้ต้องหาฯทั้ง 4 รายนับเป็นผู้ต้องหาฯชุดแรกที่จะเข้าสู่กระบวนการอบรมแทนการฟ้องคดีอาญา ซึ่งรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงตั้งเป้าเอาไว้ว่า หากกระบวนการนี้ประสบความสำเร็จ จะเป็นช่องทางให้ยกเลิกการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป แล้วประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯแทน
แหล่งข่าวจากกองทัพบก เปิดเผยกับ “สำนักข่าวอิศรา” ว่า รู้สึกประหลาดใจที่ผู้ต้องหาฯทั้ง 4 รายระบุว่าถูกบังคับให้เข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 21 เพราะการพิจารณาผ่านมาหลายขั้นตอนจนถึงขั้นตอนสุดท้ายคือให้ศาลสั่งแล้ว แต่กลับมาหักมุมตอนจบ ทั้งๆ ที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องบังคับให้ใครเข้าสู่กระบวนการนี้ โดยเฉพาะถึงขั้นต้องทำร้ายร่างกาย จึงต้องขอตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ชัดเจนอีกครั้ง
แหล่งข่าวคนเดียวกันยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า เป็นเรื่องแปลกที่ผู้ต้องหาฯทั้ง 4 รายไม่ยอมเข้ารับการอบรมโดยอ้างว่าถูกบังคับ ทั้งๆ ที่หากสมัครใจเข้ารับการอบรม ก็จะถูกยกเลิกการฟ้องคดีอาญาทั้งหมด เมื่อพ้นกำหนด 6 เดือนก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่เมื่อไม่สมัครใจเข้ารับการอบรม ก็ยังไม่แน่ว่าจะต้องถูกส่งกลับไปตั้งต้นดำเนินคดีใหม่ในชั้นพนักงานสอบสวนหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้จะต้องพิจารณากันต่อไปเนื่องจากกฎหมายไม่ได้ระบุวิธีดำเนินการเอาไว้อย่างชัดเจน
สำหรับข้อดีข้อเสียของมาตรา 21 พ.ร.บ.ความมั่นคงฯนั้น “ศูนย์ข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา” ได้เคยนำเสนอบทวิเคราะห์เอาไว้หลายครั้ง โดยเฉพาะบทความของคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล หรือไอซีเจ และบทสัมภาษณ์ “บุคคลเป้าหมาย” ที่อยู่ในข่ายสามารถเข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 21 ได้ ซึ่งพบว่า “บุคคลเป้าหมาย” ไม่มั่นใจในกระบวนการ โดยเฉพาะการถูกสันนิษฐานล่วงหน้าว่าเป็นคนผิด หรือหากเป็นผู้บริสุทธิ์ที่ถูกกล่าวหา แล้วตัดสินใจเข้ารับการอบรม ก็จะถูกตราหน้าว่าเป็นผู้กระทำผิดตลอดไป (อ่านรายละเอียดได้ใน “อ่านประกอบ”)
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพอาคารศาลนาทวีจากเว็บไซต์ http://www.coj.go.th/opsc/news_view.php?id_news=49
อ่านประกอบ :
1 "ไอซีเจ" ชำแหละ ม.21 "ลิดรอนสิทธิ ตัดสินล่วงหน้า" กังขาเว้นโทษความผิดร้ายแรง
http://www.isranews.org/south-news/Academic-arena/item/1935-qq-21-q-q.html
2 เสียงจาก "กลุ่มเป้าหมาย"...ไม่มั่นใจกระบวนการมาตรา 21 พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ
http://www.isranews.org/south-news/Academic-arena/item/1936-qq-21.html