เปิดปมเหนือปัญหาข้าวโพด -เขาหัวโล้น และมายาคติที่ไม่ดีต่อคนน่าน
"...วันนี้เอกชนต้องไปให้ไกลกว่าการทำ CSR ไม่ใช่การที่คุณได้ประโยชน์จากการหายไปของป่าน่าน 6-7 แสนไร่ คุณไปปลูกป่า 300 ไร่ แล้วคุณก็ล้างมือในอ่างทองคำ แต่เกษตรกรก็ลอยคออยู่ ท่ามกลางคำสาบแช่งของสังคม..." ประยงค์ ดอกลำใย
"79.9% ของที่ดินในประเทศ หรือราว 80% ของโฉนดอยู่ในกรรมสิทธิของคนเพียงแค่ 3 ล้านคน” คือสิ่งที่ ประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคม ที่เป็นธรรมพยายามอธิบายเพื่อให้เห็นภาพความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคม
ขณะที่ปัญหาเรื่องเขาหัวโล้นจากการบุกรุกทำไร่ข้าวโพด เขามองว่า ข้าวโพดเป็นปัญหาปลายเหตุ
"ถ้าเรามุ่งแต่จะแก้ปัญหาข้าวโพด เราไม่มีไม่วันแก้ปัญหาได้ ปัญหาหลักสำคัญของประเทศไทยคือเรื่องการกระจายทรัพยากรที่ดินที่เป็นธรรม วันนี้เราปลอยให้คนๆ เดียวถือครองที่ดินเป็นแสนๆ ไร่ เมื่อเป็นแบบนี้ เราไม่มีพื้นที่เอกสารสิทธิ์ให้คนจนถือครองได้แน่ๆ แต่ว่าคนจนและเกษตรกร จำเป็นต้องอยู่ในสังคมนี้ แล้วเขาจะอยู่อย่างไร หากไม่มีการกระจายที่ดินทำกิน"
"ประยงค์" ชี้ถึงความผิดพลาดของนโยบายจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ควรจะเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม แต่สำหรับ "ข้าวโพด" เพิ่งมามีปัญหามากๆ ช่วงหลังปี 2540 -2545นี่เอง
ไร่เลื่อนลอย วาทะกรรมลงโทษชาวบ้าน
"ที่น่านตัวเลขพื้นที่ 8 แสนไร่ ที่หายกลายเป็นเขาหัวโล้นไม่ใช่พื้นที่ที่เกษตรกรไปบุกรุกป่า แต่เป็นพื้นที่เดิม ก่อนปลูกข้าวโพด ชาวบ้านก็ปลูกพืชอื่นๆ หมุนเวียนไป สมมติพื้นที่หนึ่งมี 5 แปลง ปลูกข้าวเสียหนึ่งแปลง อีก 4 แปลงที่เหลือเป็นป่า แล้วค่อยๆ หมุนเวียนกลับมาใหม่ในฤดูกาลต่อไป แบบนี้ไม่ใช่คำว่า ไร่เลื่อนลอย ชาวบ้านต่อสู้เรื่องนี้มาจนได้รับการยอมรับโดยทั่วไป
ฉะนั้นเราต้องเลิกพูดว่า ทำไร่เลื่อนลอย แต่สิ่งที่กำลังทำลายระบบนี้คือการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งไม่ใช่ข้าวโพดอย่างเดียว เพียงแต่ข้าวโพดค่อนข้างชัดเจนที่สุด เมื่อระบบเชิงเดี่ยวทำลายวัฎจักรเดิม พื้นที่ไม่พอหรือทำแล้วไม่ดี ก็ต้องเข้าไปในป่าธรรมชาติ เดิมเป็นป่าชุมชน การใช้คำว่าไร่เลื่อนลอยไม่เหมาะสม ไม่ปฏิเสธว่าผู้ที่อยู่ในป่าไม่ใช่ว่าจัดการทรัพยากรป่าทั้งหมด แต่ขณะเดียวกันต้องไม่คิดว่า ชุมชนที่อยู่ในป่าทั้งหมดเป็นคนทำลาย"
การจัดการป่าชุมชน
ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคม เล่าย้อนกลับไปช่วงก่อนปี 2545 ที่ชาวบ้านที่น่าน มีเครือข่ายป่าชุมชนกว่า 300 ชุมชน รักษาป่ากว่า 200,000 ไร่ พื้นที่เขาหัวโล้นที่เราพูดกันทุกวันนี้ ล้วนแต่เคยเป็นป่าชุมชนมาแล้วทั้งสิ้น
สิ่งที่ชาวบ้านพยายามทำตั้งแต่ปี 2540 คือการผลักดันให้เรื่องกฎหมายรองรับเรื่องสิทธิชุมชน ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็บรรจุไว้ จากนั้น เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายได้ สิ่งที่ชาวบ้านทำคือ ล่ารายชื่อ 50,000 รายชื่อ ในปี 2542 เพื่อผลักดันให้มีกฎหมายมารองรับการจัดการป่าชุมชน
"ป่าชุมชน" จะมีการกำหนดสัดส่วนที่ชัดเจน ระหว่างพื้นที่ทำกิน กับพื้นที่ป่าไม้ ซึ่งดูแลกันโดยชุมชน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ปี 2545 ร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชน ที่ชาวบ้านทั่วประเทศ โดยเฉพาะคนน่านร่วมกันผลักดันนั้นไม่มีเสียงคัดค้านจากสภาผู้แทนราษฏร แต่กลับไม่ผ่านในขั้นวุฒิสภา พอไม่ผ่าน ชาวบ้านรู้สึกว่าเขาสิ้นหวัง ไม่รู้จะรักษาป่าไปทำไม
ในขณะเดียวกันนโยบายที่เกิดขึ้นที่น่าน คือ การเร่งประกาศขยายอุทยานแห่งชาติ ทับลงบนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งพวกเขาดูเเลอยู่ ก็กลายเป็นว่า โดนแย่งทรัพยากรไป รัฐบอกต้องการพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพิ่มขึ้นให้ได้ 25% ของประเทศ เลยสำรวจป่าเมืองน่านที่สมบูรณ์โดยการดูเเลของชุมชนกว่า 300 แห่ง ซึ่งในเมื่อเขาเคยของสิทธิในการดูเเลรักษาก็ไม่ได้ ยังมาออกกฎหมายทับพื้นที่ทำกินเดิมไปอีก
" เมื่อข้าวโพดมาชาวบ้านก็คงตั้งคำถามว่า สุดท้ายเราควรรักษาป่าอยู่หรือไม่ ผมไม่ได้บอกว่า ชาวบ้านละทิ้งอุดมการณ์เดิม แต่ว่า นโยบายนี้ไปกระแทกให้ชาวบ้านรู้สึกสิ้นหวัง เลยหันหลังให้การจัดการป่า แต่ไม่ใช่ทั้งหมดนะ ยังมีชุมชนที่ดูเเลป่าไม้อยู่ โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ต้นน้ำลำธาร”
ความไม่เป็นธรรมในนโยบายทวงคืนผืนป่า
ประยงค์ ระบุว่า หากดูพื้นที่ที่รัฐกำหนดทวงคืนผืนป่า ล้วนแล้วแต่เป้นจังหวัดที่มีป่าเกิน 60% ทั้งนั้นเลย ไล่มาตั้งแต่แม่ฮ่องสอน มีป่า 87% เป็นต้น ความไม่เป็นธรรมอันดับแรกคือ ตอนนี้ประเทศไทยต้องการป่า 40% ทั้งประเทศ ตอนนี้ไทยมี 31% ขาดอีก 9% คิดเป็นตัวเลขได้ราว 26 ล้านไร่ ถ้าจะว่ากันอย่างเป็นธรรม หากประเทศนี้จะมีป่า 40% ต้องให้ทุกจังหวัดต้องมีป่า 40% ด้วย แต่ตอนนี้อย่างจังหวัดน่านมีป่า 60% มองว่า หากให้เท่ากันทุกจังหวัด คนน่านก็เสียสละไปแล้ว 20% ของพื้นที่
"ผมไม่ได้ปกป้องชาวบ้านให้ตัดป่า แต่อยากสมมติตรรกะความเป็นธรรมให้เห็น ที่นี้เรามาทำ มาสร้างพื้นที่สีเขียวร่วมกันได้ไหม ต้นไม้อยู่ที่ไหนก็มีประโยชน์ กรุงเทพฯ ก็เพิ่มได้ ไม่ใช่บอกให้ทุบคอนกรีตแล้วมาปลูกป่าแต่เราควรปลูกต้นไม้ ช่วยกันเพิ่มพื้นที่สีเขียว ทำไมเราไม่มีการสร้างป่าในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ ที่ครอบครองกันไว้ 3-4 แสนไร่ แต่เวลาคุณอยากได้พื้นที่ป่า 3-4% คุณไปไล่ทวงคืนป่าจากคนที่เขารักษาป่า แบบนี้มันเป็นธรรมไหม ปัญหาความยากจนเกิดจากปัญหาความไม่เป็นธรรม”
ตำบลน้ำพาง อำเภอจริม เป็นตำบลหนึ่งในจังหวัดน่าน ซึ่งเขาไปทำข้อมูลพบว่า ตำบลนี้มีพื้นที่ 2 แสนสี่หมื่นไร่ มี 10 หมู่บ้าน ในขอบเขตของพื้นที่ทั้งหมด มีพื้นที่ป่าถึง 91% ความหมายว่า มีที่ดินเหลืออยู่ 9% แบ่งเป็นที่อยู่อาศัย 2% เป็นพื้นที่ทำการเกษตร 7%
"คำถามคือว่ารัฐจะไปทวงคืนผืนป่าส่วนไหนจากพวกเขาอีก แต่เมื่อเจาะลึกลงไปพบว่า ครึ่งหนึ่งของพื้นที่ทั้งหมู่บ้านเป็นของอุทยานแห่งชาติ ซึ่งเพิ่งประกาศไม่ถึง 50 ปี แต่ชุมชนนี้อยู่มากว่า 200 ปี วันนี้อุทยานแห่งชาติออกประกาศทับลงพื้นที่ทำกินที่มีอยู่น้อยนิดของพวกเขา ราว 18,000 ไร่ มีข้าวโพดอยู่ 10,700 ไร่ เห็นได้ว่า ไม่ใช่ปลูกแต่ข้าวโพด
สิ่งที่ต้องแก้ไข คือ หยุดทวงคืนผืนป่าที่ตำบลน้ำพาง เพราะเขาเหลือพื้นที่ทำกินอยู่ 7% ทั้งยังรักษาป่า 91% ไปให้พวกคุณ ถามว่า รัฐจะเอาพื้นที่ทั้งหมดเลยหรือยังไง 10,700 ไร่ เขาขอแบ่งออกเป็น 10 ปี เขาจะลดการปลูกข้าวโพดลงปีละ 1,000 ไร่
ที่นี้ต้องขอ CP ให้ยังรับซื้อต่อ โดยที่ชาวบ้านและหน่วยงานทั้ง NGO โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกันดูเเล แต่โจทย์คือ เมื่อลดพื้นที่ลงเรื่อยๆ แล้วจะให้ไปปลูกอะไร สมมติว่าชาวบ้านบอกอยากปลูกป่าเศรษฐกิจ อยากปลูกไม้สัก อยากปลูกไม้พะยุง ปลูกได้ไหม ปลูกได้แต่ตัดไม่ได้ เพราะติด พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 ซึ่งรัฐต้องแก้ตรงนี้ ถ้ารัฐอยากได้ป่ามาทดแทน แต่ป่าตรงนี้เป็นป่าเศรษฐกิจ รัฐต้องยอมรับก่อนว่าพื้นที่ แค่หมื่นกว่าไร่ที่เป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวอยู่นั้น และมองทั้งจังหวัดน่าน น่านไม่ได้มีแค่ข้าวโพด แต่เราไปเข้าใจว่า น่านมีแต่ข้าวโพด ประเด็นที่น่าคิดคือ พื้นที่ตรง 10,700 ไร่ ตรงนั้นหรือคือสิ่งที่ต้องแก้
ชุมชนทั้งจังหวัดน่านก็บอกว่า ถ้าเป็นไปได้ เขาไม่อยากปลูกข้าวโพด ถ้ามีทางเลือกอื่น แล้วอะไรล่ะคือถ้าเลือก ย้อนไปเมื่อปี 2545 เขาเลือกแล้ว เลือกยางพารา รัฐบอกว่า มียางพาราเหมือนมีบัตรเอทีเอ็มในกระเป๋า มาวันนี้ปลูกไป 2.7 แสนไร่ที่น่าน ปรากฏว่า มีเอกสารสิทธิ์แค่ 40,000 ไร่ ที่เหลืออยู่ในป่าหมดและเป็นเป้าหมายในการทวงคืนด้วย
ในขณะที่ทางนโยบายบอกไม่ได้ต้องการป่าคืนจากชาวน่าน 100% รัฐต้องการ 65% ป่าเมืองน่านมีกว่า 61% เเล้ว ต้องอีกเพิ่มอีก 4% หรือราว 28,000 ไร่ แต่เราไม่รู้ว่าจำนวนที่ว่านี้อยู่ตรงไหน สิ่งที่รัฐมองคิดว่าที่ดินทำกินของชาวบ้านที่อยู่ในอุทยานแห่งชาติ อย่าง ต.น้ำพาง 1,865 ไร่ จะมาเอาคืน ถามว่าเเล้วเขาจะไปหากินที่ไหน แล้วถ้าจะทวงคืนจริงๆ บวกกับความตั้งใจของ CP ที่จะไม่ซื้อข้าวโพดในพื้นที่นอกเอกสารสิทธิ CP ต้องร่วมกับเกษตรกรน่านสร้างพื้นที่ป่ากลับมาได้ 2.8 แสนไร่ แบบนี้เราจะเห็นช่องทางการฟื้นฟูที่ชัดเจนขึ้น"
ประยงค์ ยืนยันว่า วันนี้เอกชนต้องไปให้ไกลกว่าการทำ CSR ไม่ใช่การที่คุณได้ประโยชน์จากการหายไปของป่าน่าน 6-7 แสนไร่ คุณไปปลูกป่า 300 ไร่ แล้วคุณก็ล้างมือในอ่างทองคำ แต่เกษตรกรก็ลอยคออยู่ ท่ามกลางคำสาบแช่งของสังคม
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับข้าวโพดน่าน
ประยงค์ หยิบยกตัวอย่าง การเผยแพร่ภาพเขาหัวโล้นตามสื่อต่างๆ ทำให้คนรู้สึกว่า น่านนั้นไม่เหลือป่าแล้ว ในข้อเท็จจริงคือขณะนี้ป่าเมืองน่านมีอยู่ 61% เกินครึ่งของปริมาณพื้นที่ป่าของหนึ่งจังหวัด หากจะเทียบกับจังหวัดอื่นๆ ต่อมามีสื่อใหญ่สำนักหนึ่ง ให้ตัวเลขว่า ข้าวโพดจังหวัดน่านมีมากมายมหาศาล กว่า 1.5 ล้านไร่ ทั้งๆ ที่พื้นที่ทั้งการเกษตรและพื้นทีป่าทั้งจังหวัดน่านมีเพียง 2.5 ล้านไร่ และเป็นพื้นที่ที่ใช้เพื่อการก่อสร้างตึกรามบ้านช่องไป 1.1 ล้านไร่
ดังนั้นถ้าบอกว่า น่านปลูกข้าวโพดไปแล้ว 1.5 ล้านไร่ แสดงว่าทั้งจังหวัดมีแต่ข้าวโพดอย่างเดียว
"ผมไม่ได้เข้าข้างเกษตรกร แต่การให้ข้อมูลที่บิดเบือนนั้น ทำให้คนในสังคมมองคนน่านว่าเป็นคนเลว"
ข้อมูลที่แท้จริง คือ ทั้งจังหวัดน่านมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดเพียง 8 แสนไร่ แต่ความไม่จริงข้างต้นทำให้เกิด"มายาคติ" ที่ไม่ดีต่อคนน่าน
"ผมไม่ได้บอกว่าปลูกข้าวโพดดีนะ คนปลายน้ำกำลังประหัตประหารคนต้นน้ำด้วยเรื่องเดียวคือปัญหาข้าวโพด ประกอบกับสถานการณ์ภัยแล้ง อื่นๆ คนน่านยิ่งกลายเป็นจำเลยของสังคม ดังนั้นจะเห็นได้ว่า เหนือจากปัญหาข้าวโพดและเขาหัวโล้น คือ ปัญหาเชิงนโยบายโดยเฉพาะเรื่องการจัดการทรัพยากร วันนี้เอกชนต้องไปให้ไกลกว่า CSR รัฐต้องสร้างเป็นธรรมให้เกิดขึ้นใระดับนโยบายด้วย ประชาชน คนจน เกษตรกร พร้อมปรับเปลี่ยน แต่วันนี้ปัญหามันเกิดแล้ว การเยียวยา รับผิดชอบก็เป็นหน้าที่ของทุกคน ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ แต่ตอนนี้นิ้วของเรากลับชี้ไปที่เกษตรกรฝ่ายเดียว แบบนั้นไม่ถูก"
ขอบคุณภาพประกอบจากhttp://www.cp-enews.com/