สมัชชาสุขภาพ รุกเอาผิดสื่อท้องถิ่นโฆษณาอาหารและยาเกินจริง
อย.-กสทช.-ไอซีที เห็นชอบร่างข้อเสนอจัดการโฆษณาอาหารและยาเกินจริงทางวิทยุ-เคเบิ้ลท้องถิ่น ทีวีดาวเทียม เตรียมนำเข้าเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติต้น ก.พ.เพื่อผลักดันเป็นนโยบาย
เมื่อเร็วๆนี้ ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) จัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) กรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย และเครือข่ายสมัชชาสุขภาพ เพื่อระดมสมองต่อร่างข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะ “การจัดการปัญหาโฆษณายาและอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณทางยาที่ผิดกฎหมายทางวิทยุท้องถิ่น เคเบิ้ลทีวี และโทรทัศน์ดาวเทียม” ก่อนนำเข้าพิจารณาในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ 2-4 ก.พ.55
โดยนายแพทย์สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ผู้ทรงคุณวุฒิ สธ. กล่าวว่าได้ข้อสรุปเห็นชอบในหลักการยกร่างแผนยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาโฆษณายาและอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณทางยาที่ผิดกฎหมายทางวิทยุท้องถิ่น เคเบิ้ลทีวี และโทรทัศน์ดาวเทียม ภายในปีหน้า รวมทั้งปรับปรุงกฎหมายให้สอดรับกับสถานการณ์ปัญหา กำกับสื่อโฆษณายาและอาหาร ผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างเคร่งครัด ส่งเสริมภูมิต้านทานให้ภาคประชาชนร่วมตรวจตรา
ภญ.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่าเป็นภารกิจสำคัญของ อย.อยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมายังมีข้อจำกัดมาก ทั้งบุคลากรและกลไกการทำงาน ทำให้ไม่อาจควบคุมโฆษณายาและอาหารในสื่อใหม่ๆได้ทันสถานการณ์ อีกทั้งจำนวนเว็บไซต์และวิทยุท้องถิ่นที่อวดอ้างสรรพคุณสินค้าเกินจริงอย่างผิดกฎหมายก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่อาจตามตรวจจับได้ทัน การที่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติเล็งเห็นสำคัญและเห็นชอบให้เป็นหนึ่งในร่างระเบียบวาระสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 4 ปีนี้ ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี
“หากร่างมตินี้ผ่านความเห็นชอบจากสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และถูกผลักดันออกมาเป็นนโยบาย จะดีมาก ถ้าหน่วยงานที่มีอำนาจและเกี่ยวข้องร่วมงานกัน ปัญหาจะลดลงได้มาก… ทุกวันนี้กฎหมายกำหนดโทษไว้ต่ำ ไม่อาจแก้ไขได้ทัน ต้องปรับปรุงต่อไป แต่จากร่างมตินี้ระบุชัดให้หน่วยงานที่มีอำนาจและภารกิจโดยตรงเข้ามาร่วมตรวจสอบ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีในการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุร่วมกัน” รองเลขาธิการ อย.กล่าว
ภญ.ดร.กรแก้ว จันทภาษา จากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่าสถานการณ์การโฆษณายาและผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อวดอ้างสรรพคุณทางยาที่ผิดกฎหมายทุกวันนี้มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ตามมูลค่าการโฆษณา โดยช่วงปี 2549-2552 มูลค่าโฆษณายาสูงกว่า 2,500 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ไม่นับรวมเม็ดเงินที่ใช้ในการโฆษณาอาหารในช่วงเดียวกันนี้อีก 17,000 ล้านบาท
“โฆษณายาและผลิตภัณฑ์สุขภาพขยายตัวต่อเนื่องผ่านสื่อหลายรูปแบบ โดยเฉพาะวิทยุท้องถิ่น เคเบิ้ลทีวี โทรทัศน์ดาวเทียม เพียงปี 2553 ทั้งประเทศมีวิทยุท้องถิ่นกว่า 7,700 แห่ง คาดว่ากว่า 12 ล้านครัวเรือนรับข่าวสารผ่านสื่อนี้ และอีกราว 60 เปอร์เซ็นต์ของครัวเรือนที่เข้าถึงสื่อเคเบิ้ลทีวี โทรทัศน์ดาวเทียม ประมาณว่ามีเม็ดเงินไหลเวียนในโฆษณาผ่านเคเบิ้ลทีวีและโทรทัศน์ดาวเทียม 2,000-3,000 ล้านบาทต่อปี”
ดร.กรแก้ว ยังกล่าวว่าจากข้อมูลศูนย์เฝ้าระวังและรับร้องเรียนผลิตภัณฑ์สุขภาพ อย. ตั้งแต่ ต.ค.53-ก.ย.54 มีเรื่องร้องเรียนโฆษณายาและผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายสูงถึง 1,461 เรื่อง จำแนกเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร 556 เรื่อง ยา 335 เรื่อง เครื่องสำอาง 319 เรื่อง เครื่องมือแพทย์ 208 เรื่อง วัตถุอันตราย 73 เรื่อง
ด้าน เภสัชกรชำนาญการ วราวุธ เสริมสินสิริ สำนักยา อย. ชี้แจงสาระสำคัญของร่างข้อเสนอฯ “การจัดการปัญหาโฆษณายาและอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณทางยาที่ผิดกฎหมายทางวิทยุท้องถิ่น เคเบิ้ลทีวี และโทรทัศน์ดาวเทียม” ว่ามีทั้งสิ้น 9 ข้อ เช่น ให้ อย.เป็นหน่วยงานหลักดำเนินการ และมีการเพิ่มโทษหากละเมิดกฎหมายถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาต ปรับปรุงกฎหมายให้ทันต่อโฆษณาทางอินเตอร์เน็ต ให้ กสทช.บังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ฯในการเพิกถอนใบอนุญาต
“ร่างมติระบุให้ กสทช.ทำแผนยุทธศาสตร์จัดการปัญหาโฆษณายาและอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณทางยาที่ผิดกฎหมายทางวิทยุท้องถิ่น เคเบิ้ลทีวี โทรทัศน์ดาวเทียม ภายในปี 2555 ทั้งนี้ร่างมติดังกล่าวเมื่อได้รับการปรับปรุงแล้ว จะส่งให้เครือข่ายและหน่วยงานต่างๆพิจารณา ก่อนเข้าสู่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ”
นายสุเทพ วิไลเลิศ ผู้แทนจาก กสทช. กล่าวว่าบทบาทที่ถูกระบุไว้ในร่างข้อเสนอฯ ถือเป็นภารกิจของ กสทช.อยู่แล้ว ส่วนขั้นตอนนั้นน่าจะมาวางหลักเกณฑ์ก่อน แล้ว กสทช.ถึงจะไปออกกฎระเบียบมากำกับ เช่น ถ้าสื่อช่องไหนทำผิดกฎเกณฑ์ที่ อย.ระบุสองครั้ง กสทช.อาจพักใบอนุญาต ถ้าทำผิดซ้ำเป็นครั้งที่สามอาจเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการ
สาระในร่างข้อเสนอฯ ยังระบุให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ปรับปรุงพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 โดยเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการขออนุญาตเปิดเว็บไซต์ พร้อมกลไกคณะกรรมการพิจารณาสั่งระงับการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เหมาะสมหรือผิดกฎหมาย โดยเชื่อมโยงกับข่าวสารจากศูนย์เฝ้าระวังฯ อย่างมีประสิทธิภาพ และระบุให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นแกนหลักร่วมสนับสนุนองค์กรชุมชนในการเฝ้าระวังจัดการปัญหาระดับพื้นที่ .