รักษาการผู้ว่าฯปัตตานีเปิดใจโดนรับน้อง "บึ้มป่วนยะหริ่ง"
เหตุระเบิดเกือบ 10 จุดที่ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เมื่อสองวันสุดท้ายของเดือน มี.ค.59 นอกจากสร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนทั่วไปแล้ว ยังเป็นการสร้างสถานการณ์ความรุนแรงในวันแรกของการทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีคนใหม่ด้วย
คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 12/2559 ที่ให้ย้ายผู้ว่าราชการจังหวัด 4 คน เมื่อวันที่ 29 มี.ค.59 หนึ่งในนั้นคือ นายวีรพงศ์ แก้วสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี โดยผู้ที่ได้รับคำสั่งให้รักษาราชการแทนในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี คือ นายสุริยะ อมรโรจน์วรวุฒิ ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย
และวันที่ นายสุริยะ เข้ารับตำแหน่งวันแรก คือวันที่ 30 มี.ค. ก็เกิดเหตุระเบิดในเขตเทศบาลตำบลยะหริ่ง จ.ปัตตานี ตั้งแต่ช่วงกลางดึก ต่อเนื่องถึงช่วงเช้าวันรุ่งขึ้น จนมีชาวบ้านเสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 1 ราย เจ้าหน้าที่บาดเจ็บกว่าสิบนาย
นายสุริยะ เปิดเผยกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า คนร้ายวางระเบิดขนาดเล็ก และทำนอกเมือง โดยรู้ว่าเจ้าหน้าที่จะต้องเข้าไปเคลียร์พื้นที่ จึงเชื่อว่าไม่ได้ประสงค์ต่อชีวิตของพี่น้องประชาชน ถือเป็นการก่อเหตุเชิงสัญลักษณ์
“เขาทำงานเพื่อแสดงสัญลักษณ์ ไม่หวังถึงชีวิตและทรัพย์สิน เป็นระเบิดเล็กๆไม่ใช่ระเบิดใหญ่ ไปทำนอกเมืองนอกที่ไม่ติดชุมชน คนโดนคือเจ้าหน้าที่ เพราะต้องเข้าไปเคลียร์พื้นที่ ไม่ประสงค์ชีวิตประชาชน”
รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี บอกว่า หลังเกิดเหตุได้เรียกประชุมสามฝ่าย ทั้งทหาร ตำรวจ และปกครอง เพื่อปรับมาตรการรักษาความปลอดภัยเล็กน้อย แต่ก็มั่นใจว่าระบบที่วางไว้จะดูแลพื้นที่เขตเมืองและย่านเศรษฐกิจให้ปลอดภัยได้ โดยเฉพาะระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่เชื่อมประสานกับฝ่ายความมั่นคงทุกหน่วย เมื่อมีการแจ้งเตือน ก็สามารถส่งเจ้าหน้าที่เข้าที่เกิดเหตุได้ภายใน 3 นาที
ส่วนการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการจับกุมดำเนินคดีผู้ต้องหาและผู้ต้องสงสัยต่างๆ นั้น จะลงพื้นที่ร่วมกับประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เพื่อให้พี่น้องประชาชนไว้วางใจ
นายสุริยะ ซึ่งไม่เคยดำรงตำแหน่งทางฝ่ายปกครองในพื้นที่ชายแดนใต้มาก่อนเลย บอกด้วยว่า ไม่รู้สึกหนักใจที่ต้องมารับผิดชอบพื้นที่นี้ โดยก่อนเดินทางมารู้สึกว่าในพื้นที่มีปัญหา มีความรุนแรง แต่พอได้สัมผัสพื้นที่จริงๆ ได้เจอพี่น้องประชาชน ก็รู้สึกว่าที่นี่มีแต่สิ่งดีๆ ทุกคนมีน้ำใจ
“สาเหตุที่ได้มาทำหน้าที่ที่ปัตตานี ก็ตอบไม่ถูกเหมือนกัน เพราะ ไม่รู้มาก่อนเลย มารู้ตอนมีคำสั่งจาก คสช. วันที่ลงมามีเสื้อใส่แค่ 4 ตัว เพราะไม่ได้ว่าจะได้มา ตั้งแต่แรก คิดว่าจะได้ไปอยู่แถวอีสาน ได้เป็นผู้ว่าฯศรีสะเกษ”
“ผมไม่ได้รู้สึกหนักใจที่ต้องมาทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะ เคยดูแลพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้สมัยเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ทำให้ทราบถึงสภาพปัญหาของคนในพื้นที่ ฉะนั้นการทำงานจะไม่ใช้ความรุนแรง แต่จะใช้ความดี ความเมตตา และความรัก มาสร้างสรรค์ปัตตานีให้เกิดความสงบสุข”
นายสุริยะ กล่าวอีกด้วยว่า อยากขอน้ำใจกับความรักของพี่น้องประชาชนมาสร้างสังคมให้สงบสุข อยากให้ทุกครอบครัวให้ความรัก ให้ความสำคัญกับลูกๆ และไม่ใช้ความรุนแรง เชื่อว่าปัญหาจะสามารถยุติได้ถ้าการเลี้ยงลูกของทุกคนใช้ความรัก การโอบกอด เวลานอนถ้าลูกยังไม่โตขนาดแต่งงานได้ ก็ให้นอนห้องเดียวกับเรา
“เด็กนั้นถ้าไม่ใช้ความรุนแรงกับเขา เขาก็จะไม่ใช้ความรุนแรงกับคนอื่น” รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวทิ้งท้าย เหมือนจะบอกเป็นนัยๆ ว่าต้นตอของปัญหาในพื้นที่ชายแดนใต้ในมุมมองของเขา มาจากเรื่องอะไร
สำหรับประวัตินายสุริยะ เกิดเมื่อวันที่ 20 ก.ค.2502 จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนอำนวยศิลป์พระนคร ระดับปริญญาตรี สาขารัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และปริญญาโทจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรนักปกครองระดับสูง (นปส.) รุ่น 53 หลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 55
เส้นทางชีวิตราชการ ส่วนใหญ่ทำงานและเติบโตอยู่ในแถบ จ.ศรีสะเกษ ตั้งแต่ปลัดอำเภอถึงรองผู้ว่าฯ เคยได้รับเกียรติบัตรข้าราชการพลเรือนดีเด่น ประจำปี 2549
กระทั่ง 1 ต.ค.58 ได้เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย เขต 8 จ.นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา และสตูล
วันที่ 20 ม.ค.59 เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย เขต 12 จ.ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ ก่อนมีคำสั่งหัวหน้า คสช.ให้ลงใต้ นั่งเป็นรักษาราชการแทนผู้ว่าฯปัตตานี