‘มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด’ คาดหวัง สตง.แก้ระเบียบ ให้อำนาจ อปท. จัดการท้องถิ่นเต็มที่
'มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด' ชี้ สตง.ยึดระเบียบ ไม่ให้อิสรภาพ อปท. คิดเอง ทำเอง เปรียบเหมือนการตราสังข์ ที่ผ่านมาให้เฉพาะภารกิจ ไม่มีอำนาจ ห่วงทรัพยากรท้องถิ่นสูญ หลังท่องเที่ยวรุกหนัก ชงเพิ่มสิทธิดูเเล-จัดเก็บรายได้
ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ประธานมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงกรณีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มักตีความการเบิกจ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ยึดหลักกฎระเบียบตามตัวอักษรมากเกินไป ว่า สตง.ไม่ให้อิสรภาพแก่ อปท.ในการคิดเอง ทำเอง เปรียบเหมือนกันการตราสังข์ไว้ทุกอย่าง แม้กระทั่งผู้บริหารจะไปไหนต้องขออนุญาตนายอำเภอ ปัญหาทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นจากกฎหมายไม่ให้อำนาจไว้
ยิ่งในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ กฎหมายป่าไม้หรือกฎหมายที่ดินถูกบัญญัติขึ้นก่อนจะมี อปท. กระทั่งปี 2540 เกิด อปท.ขึ้น แต่กลับไม่ให้อำนาจ มีเฉพาะภารกิจในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยไม่ระบุให้ชัดเจนถึงขอบเขตอำนาจหน้าที่ ประกอบกับไม่มีความสามารถหารายได้จากทรัพยากรเหล่านั้น เก็บค่าธรรมเนียมจากการดำน้ำหรือปีนผาไม่ได้ แต่ท้องถิ่นกลับต้องจัดการขยะที่เกิดขึ้น ทำให้ปัจจุบันอำนาจกับภารกิจไม่สอดคล้องกัน
“กฎหมายไทยถ้าไม่ระบุถือว่าไม่มีอำนาจ แต่ อปท.คิดว่า ถ้าไม่ระบุ ถือว่ามีอำนาจ ตราบใดไม่นำเงินเข้ากระเป๋าตัวเองก็ไม่มีความผิด” ประธานมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ กล่าว และว่า เมื่อกฎหมายไม่ให้อำนาจ ทำให้ อปท.ทำอะไรไม่ได้ คงมีเฉพาะหน้าที่ ขณะที่กฎระเบียบหยุมหยิม จึงนำมาสู่ความผิดจำนวนมาก
ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ กล่าวอีกว่า ข้อร้องเรียนที่ไปถึง สตง.นั้น ถูกมองว่า อปท.คอร์รัปชัน ทั้งที่ข้อเท็จจริงไม่ใช่ เป็นเรื่องของการผิดระเบียบเท่านั้น และมีกฎระเบียบมากมายทำให้ไม่สามารถใช้จ่ายงบประมาณ แม้แต่ของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น สาธารณสุขจะนำเงินมาฉีดยาป้องกันโรคกลัวน้ำในสุนัขไม่ได้ ฉีดได้เฉพาะคนที่ถูกสุนัขกัด หากจะฉีดยาให้ต้องใช้เงินกรมปศุสัตว์แทน ชี้ให้เห็นว่า อปท.ทำตามนายสั่ง กินน้อย งานเยอะ อยู่อด ๆ อยาก ๆ
ทั้งนี้ เงินอย่างเดียวไม่ช่วยแก้ไขปัญหา จะต้องเพิ่มพูนความรู้ให้ อปท.ด้วย ซึ่งหน่วยงานราชการมีการจัดอบรมให้เพียงวันเดียว ถามว่าจะช่วยถ่ายโอนความรู้ได้หรือไม่ เพราะต้องยอมรับถ้าโชคดีจะได้ผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ แต่เจ้าหน้าที่ย่อมมีความรู้น้อยกว่าในเมือง ฉะนั้นเลิกคิดสั่งครั้งเดียวแล้วจะปฏิบัติได้
ส่วนแนวโน้มที่ สตง.จะแก้ไขกฎระเบียบเอื้อต่อการทำงานของ อปท.มากขึ้น ประธานมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ ระบุว่า ยาก ยิ่งเป็นเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งสังคมไทยไม่ค่อยสนใจ อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวกำลังเป็นที่นิยม หากอนาคตมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นให้ท้องถิ่นดูแล โดยเฉพาะคนจีนที่เชื่อว่าจะมีจำนวนไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมดจะส่งผลต่อการใช้ทรัพยากร และเกิดความแออัดมากขึ้น รัฐบาลจึงต้องทำให้ อปท.มีอำนาจในการจัดเก็บรายได้ แทนที่จะปล่อยให้ตกอยู่กับภาคเอกชนฝ่ายเดียว .
อ่านประกอบ:ทีดีอาร์ไอเสนอยกระดับท้องถิ่น กระจายอำนาจสู่ “จังหวัดจัดการตนเอง”
ภาพประกอบ:มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด-เว็บไซต์ เดลินิวส์ ออนไลน์