“เมือง” กำหนดได้..อยากได้นักท่องเที่ยวแบบไหน มาสู่เมืองของเรา
หากเศรษฐกิจไทยขาดการพึ่งพาการท่องเที่ยวไม่ได้แล้วจริงๆ แนวทางการพัฒนาเมืองแบบนี้จะช่วยให้ “เมือง” ปรับตัวเข้าสู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวแบบมีการจัดการ และสร้างความภูมิใจในวิถีชีวิต วัฒนธรรม แก่คนท้องถิ่นด้วย
ในการประชุมเวทีวิชาการ เรื่อง เครื่องมือการพัฒนาเมืองสุขภาวะ จัดโดยแผนงานนโยบายสาธารณะเพื่อพัฒนาอนาคตของเมือง ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง มหาวิทยาลัยรังสิต ได้แลกเปลี่ยนร่วมกับนักวิชาการและภาคประชาสังคม ในประเด็นของการมุ่งสู่การเป็น “เมืองท่องเที่ยว” ซึ่งกำลังเป็นแนวทางพัฒนาเมืองที่ได้รับความนิยมมากในยุคนี้ ว่าจะเป็นวิธีในการช่วยรักษา ส่งเสริมหรือทำลายวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ดั้งเดิมของคนในเมืองกันแน่
เมืองไทยเป็นเมืองท่องเที่ยวอย่างเต็มตัว
แผนงาน นพม. ได้รวบรวมข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของ “เมือง” ของไทยในปัจจุบัน พบว่า วันนี้เมืองไทยคงหนีไม่พ้นการเป็นเมืองท่องเที่ยวไปได้ เพราะจากสถิติของ MasterCard Global Destination Cities Index เผยผลสำรวจสุดยอดจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวทั่วโลกประจำปี 2558 ทั้ง 132 ประเทศ พบว่ากรุงเทพฯเป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวเดินทางมามากที่สุดอันดับ 2 ของโลก รองจากลอนดอนเท่านั้น และเป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับ 1 ของเอเชีย โดยมีคนมาใช้จ่าย และมีระยะเวลาพักยาวนานที่สุดในเอเชีย นอกจากนี้ภูเก็ต และพัทยา ก็ติดอันดับด้วย โดยในปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวไทยโดยรวมกว่า 32 ล้านคน
เมื่อลองมาดูการขยายตัวของท่าอากาศยานของประเทศไทย พบว่า ปัจจุบันมีสนามบินทั้งหมดถึง 34 แห่ง มีเกือบทุกจังหวัด (ยกเว้นภาคกลางที่มีจำนวนน้อยเพราะอยู่ใกล้กรุงเทพฯ) สำหรับสนามบินระหว่างประเทศอย่างสนามบินสุวรรณภูมินั้น มีเที่ยวบินกว่า 2-3 แสนเที่ยวบินต่อปี ส่วนสนามบินภายในประเทศอย่างสนามบินขอนแก่น มีเที่ยวบินมาลงประมาณ 1 หมื่นเที่ยวต่อปี และกำลังมีแผนจะสร้างสนามบินเพิ่มอีก 2 ที่เร็วๆนี้ คือ สนามบินดอนสัก จังหวัดสุราษฏร์ธานี และสนามบินเบตง จังหวัดยะลา
ณ ขณะนี้คงต้องยอมรับว่า เมืองของเรากลายเป็นเมืองที่มีความดึงดูดสำหรับนักท่องเที่ยวทั่วโลก และการท่องเที่ยวกลายเป็นหัวใจของการพัฒนาเศรษฐกิจไทยไปแล้ว แต่เมื่อย้อนดูเมืองของเรา ก็น่าคิดทบทวนข้อดี-ข้อเสียของการพัฒนาเมืองที่ใช้โมเดลการทำให้เป็นเมืองท่องเที่ยว ว่าเราทำเพื่อสนองใคร ใครได้ประโยชน์มากที่สุด?
เมืองท่องเที่ยว... คนในเมืองต้องมีความสุขด้วย และเมืองสามารถจำกัดนักท่องเที่ยวแบบ mass ได้
ดร.สินาด ตรีวรรณไชย อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เห็นว่า เมืองแต่ละเมืองไม่สามารถแยกขาดจากกันได้ ต้องพึ่งพาอาศัยกันในยุคที่หลายเมืองต้องพึ่งพาเศรษฐกิจจากนักท่องเที่ยว แต่ต้องไม่ลืมว่าผู้คนในพื้นที่ต้องมีความสุขด้วย การท่องเที่ยวในไทยยังคงต้องพัฒนาอีกมาก ทุกวันนี้เป็นการท่องเที่ยวแบบกลุ่มขนาดใหญ่ ใช้ระยะเวลาสั้นๆ (mass tourism) เป็นส่วนมาก แต่จริงๆ แล้ว เมืองสามารถลุกขึ้นมากำหนดได้ว่าเมืองของตนอยากได้นักท่องเที่ยวแบบไหน อาจจะพัฒนาให้เป็นเมืองที่ไม่รองรับ mass tourism เช่น ไม่ต้องมีรถทัวร์ขนาดใหญ่รองรับ ถ้าคุณมาเที่ยวเมืองเราก็ให้ใช้บริการรถรับจ้างของคนในเมือง หากมาจำนวนมาก ก็ต้องรู้จักต่อคิว มีการจำกัดนักท่องเที่ยว ซึ่งวิธีการแบบนี้จะคัดกรองนักท่องเที่ยวได้ในระดับหนึ่ง เพราะไม่ได้สร้างความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวมากเกินไป คนที่มาก็น่าจะเป็นนักท่องเที่ยวที่สนใจอยากเรียนรู้เมือง ในวิถีที่เมืองนั้นเป็นอยู่จริงๆ อย่างเช่น เมื่อก่อนกระบี่ เคยเป็นเมืองที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวชั้นดีจากยุโรป มาแล้วจ่ายหนักมาอยู่กับวิถีชีวิตคนท้องถิ่น แต่ปัจจุบันกำลังเปลี่ยนไปแล้ว
เมืองมุ่งสร้างแต่สิ่งเหมือนกัน..รากเหง้าถูกกลืน
รศ.ดร.สมบูรณ์ พรพิเนตพงศ์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้ความเห็นว่า มีคนเคยบอกผมว่า หากเที่ยวที่อเมริกาให้ไปแค่เมืองเดียวพอ เพราะเมืองที่เหลือก็เหมือนกันหมด แต่หากไปยุโรปจะน่าสนใจมาก เพราะแต่ละท้องถิ่น พัฒนาไม่เหมือนกันเลย สเปน อิตาลี อังกฤษ คนละสไตล์ ฉะนั้นการพัฒนาเมืองไม่ควรเลียนแบบกัน
ประเทศไทยมีจุดแข็งที่ต่างชาติมาเที่ยว 2 เรื่อง ยกเว้นมีจุดประสงค์มาเที่ยวผู้หญิงคือ 1. มาใช้ประโยชน์ธรรมชาติ 2. มาใช้ประโยชน์ด้านวัฒนธรรม ถ้าขาดสองอย่างนี้ ประเทศไทยคงหมดสภาพ คนที่มาเชียงใหม่ ไม่ได้อยากมา shopping แต่เขาอยากมาดูวัฒนธรรม ถ้าจะ shopping เค้าไปสิงคโปร์ก็ได้ พื้นที่ที่มีรากเหง้า มีประวัติศาสตร์ ไม่ควรจะไปเลียนแบบกัน แต่ควรจะรักษาตรงนี้ไว้ให้มากมากกว่า
และที่สำคัญ ควรระวังมากที่สุดคือ เมืองที่ถูกชี้นำด้วยนักการเมือง ตัวอย่างที่ชัดที่สุดคือ บุรีรัมย์ จริงๆ แล้วบุรีรัมย์เป็นเมืองวัฒนธรรม แต่ตอนนี้เป็นเมืองทุนนิยมยิ่งกว่าอเมริกา มีสนามแข่งใหญ่ๆ กลบวัฒนธรรมไปหมด พวกนักการเมืองจะสร้างเมืองแบบที่อยากสร้าง เมืองไทยอยู่ในอาณัติของนักการเมือง แล้วนักการเมืองเป็นเหมือนกันหมด คือ ชอบลอกเมืองนอก บุรีรัมย์ตอนนี้คนเริ่มมองเป็นโมเดลการพัฒนาเมืองแล้ว และน่ากลัวว่าหลายเมืองจะเลียนแบบสร้างตาม
นอกจากความเห็นของนักวิชาการแล้ว เสียงสะท้อนจากภาคประชาสังคม ก็เต็มไปด้วยความเป็นห่วงในทิศทางการพัฒนาเมืองสู่เมืองท่องเที่ยวเช่นกัน
อานัส พงศ์ประเสริฐ ประธานกลุ่ม Saiburi Looker มองว่า ขณะนี้ เมืองทุกที่พยายามจะขายตัวเอง เพื่อเข้าสู่การท่องเที่ยว ในพื้นที่สามจังหวัดใต้ เกิดรีสอร์ทเยอะมาก ตรงยะหริ่ง บันดาแระ แต่ไม่มีการจัดการ มีผลต่อสิ่งแวดล้อม อย่างเรื่องขยะ อีกเหตุการณ์หนึ่ง ช่วงที่ผ่านมา เมืองยะลา มีการทาสีตึก กลายเป็นว่าทั้งสามจังหวัดทาด้วยหมดเลย ตึกเก่า ตึกใหม่ ทากันหมด กลายเป็นเมืองลูกกวาด ทางเราเองเสียงไม่ดังพอที่จะเสนอในหน่วยงานรัฐ กลัวเหมือนกันว่าตึกเก่าในสายบุรี จะโดนทาสีไปด้วย
(อานัส พงศ์ประเสริฐ)
ทางเลือกใหม่การท่องเที่ยว: ไม่ต้องสร้าง “ถนนคนเดิน”... ชวนคนมา “เดินชุมชน” ดีกว่า
ถนนคนเดิน เป็นอีกแฟชั่นหนึ่งที่เมืองทุกเมืองพยายามสร้างขึ้นมาในเวลานี้ เพื่อช่วยสร้างเศรษฐกิจเมือง และเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมสำหรับนักท่องเที่ยว ได้ช็อป ชิม ชิล แต่ถนนคนเดินในไทยหลายแห่ง เกิดขึ้นเพราะนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐส่วนกลาง รัฐท้องถิ่นตอบรับ และทุ่มงบ 10 – 20 ล้าน เพื่อให้ถนนคนเดินเกิด ซึ่งสุดท้าย มีแต่คนนอกพื้นที่มาขาย คนในพื้นที่ถูกปิดทางเข้าออก เกิดปัญหาขยะ ของที่ขายก็ซ้ำกัน ไม่มีความแตกต่าง ไม่มีของพื้นถิ่น แล้วจะทำอย่างไรกับปัญหาเหล่านี้ดี
iDiscover app ที่มา : Dr.Ester Van Steekelenburg
คุณปาริชาติ อ่อนทิมวงศ์ นักวิชาการอิสระ จึงเสนอทางเลือกใหม่ของการหาสมดุลระหว่างการเป็นเมืองท่องเที่ยวและการรักษารากเหง้าตัวตนของคนในเมืองว่าจะอยู่ร่วมได้อย่างไร โดยได้แนวความคิดจากการเข้าร่วมโครงการฝึกอบรมการจัดทำนครลำปางให้เป็นเมืองน่าอยู่โดยการปกป้องรักษามรดกอันมีคุณค่าของเมือง ที่จัดขึ้นเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นงานของ Dr.Ester Van Steekelenburg นั่นคือ การพัฒนาแอพลิเคชั่น iDiscover City Walks หรือ iDiscover เป็นแอพลิเคชั่นแนะนำเส้นทางเดินเท้าเพื่อเยี่ยมชมย่านเมืองเก่าที่เต็มไปด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของเมือง ซึ่ง แอพลิเคชั่นดังกล่าวนั้นในปัจจุบันมีให้บริการสำหรับเมืองท่องเที่ยวสำคัญของเอเชียเป็นหลัก เช่น ฮ่องกง ย่างกุ้ง บาหลี
สิ่งที่น่าสนใจในแนวคิดดังกล่าว คือ การเลือกนำเสนอถนนที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรม ทั้งตัวอาคาร มีร้านอาหารการกินที่น่าสนใจ ในรูปแบบของ ISee IDrink IEat IShop และ ISurprise ชวนนักท่องเที่ยวมาร่วมเดิน ตามหาแหล่งวัฒนธรรมของเมือง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่มีอยู่เดิมในเมืองนั้นๆทั้งสิ้น โดยที่เมืองแทบไม่ต้องเปลี่ยนอะไร หรือสร้างอะไรขึ้นมาใหม่ แต่ใช้ของดี ของเดิม ที่มีอยู่นำเสนอข้อมูลสู่คนภายนอก เชิญชวนให้นักท่องเที่ยวที่สนใจวัฒนธรรม ความเป็นท้องถิ่น ให้มาเดินศึกษาท่องเที่ยวเมือง
การยกตัวอย่างแนวคิดนี้ ไม่ได้ชี้ว่าทุกเมืองต้องสร้างแอพลิเคชั่นขึ้นมาคล้ายกับ iDiscover แต่เราสามารถนำเสนอในรูปแบบต่างๆที่เหมาะสมกับเมืองของเรา ผ่าน website facebook หรือช่องทาง social media มากมาย หากเศรษฐกิจไทยขาดการพึ่งพาการท่องเที่ยวไม่ได้แล้วจริงๆ แนวทางการพัฒนาเมืองแบบนี้จะช่วยให้ “เมือง” ปรับตัวเข้าสู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวแบบมีการจัดการ และสร้างความภูมิใจในวิถีชีวิต วัฒนธรรม แก่คนท้องถิ่นด้วย