นักวิชาการป่าชุมชน ชี้หมดยุครัฐดูแลป่า ต้องคืนอำนาจให้ชาวบ้าน
“ดร.สมศักดิ์” ชี้ต้องกระจายอำนาจให้คนในท้องถิ่นจัดการทรัพยากร ป่าชุมชนคือฐานความมั่นคงอาหารชาวบ้าน “ดร.ศรีศักร”แนะถ้าไม่สร้างประชาสังคมรากหญ้า-สำนึก อปท. ชุมชนไทยรอดยาก
วันที่ 14 ธ.ค.54 ศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนภูมิภาคเอเชียเปซิฟิก-ประเทศไทย(รีคอฟ) ร่วมกับกรมป่าไม้, เครือข่ายป่าชุมชน มูลนิธิรักษ์ไทย สำนักงานปฏิรูป บริษัทสยามฟอเรสทรี จำกัด จัดสัมมนา “ป่าชุมชนไทยเพื่อการปฏิรูปสังคมที่เป็นธรรมและยั่งยืนภายใต้การเปลี่ยนเปลี่ยนแปลง” เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การปรับตัวของป่าชุมชนท่ามกลางสถานการณ์การปฏิรูปประเทศ รวบรวมบทเรียนต้นแบบป่าชุมชน รวมทั้งกำหนดทิศทางข้อเสนอผลักดันสู่นโยบายชาติต่อไป
ผศ.ดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์ ผู้ก่อตั้งรีคอฟ กล่าวว่าไม่มีวัฒนธรรมไหนอยู่ได้ด้วยการทำลายธรรมชาติสิ่งที่ได้จากป่าไม่ใช่แค่กายภาพ แต่รวมไปถึงการพึ่งตนเอง ฉะนั้นการรักษาสิ่งมีชีวิตต่างๆบนโลกคือการรักษาชีวิตมนุษย์ ป่าให้ทั้งปัจจัยสี่ ให้วิถีวัฒนธรรม ความมั่นคงทางอาหาร และสุขภาวะที่ดีเกิดขึ้น
“นับจากนี้และอนาคต เราต้องลุกขึ้นมาดูแลป่าด้วยตนเอง อย่าไปหวังพึ่งรัฐบาลมากเกินไป รัฐไม่มายุ่งจะเป็นเรื่องดีที่สุด การรักษาป่าควรเป็นหน้าที่ภาคประชาชน อย่างไรก็ตามต้องยอมรับถึงความเปราะบางของชุมชนที่ต้องพยายามปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมืองและทรัพยากรธรรมชาติ จึงจะยู่รอดได้”
รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม นักมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าป่าชุมชนเป็นพื้นที่สาธารณะที่ชาวบ้านต้องดูแลรักษาร่วมกัน คนท้องถิ่นต้องลุกขึ้นมาจัดการน้ำ จัดการป่าด้วยตนเอง สิ่งเหล่านี้ไม่มีอยู่ในกฎหมายแต่มีอยู่ในสิทธิชุมชนตั้งแต่อดีต แต่มาถูกทำลายโดยนายทุนอุตสาหกรรม ปัญหาใหญ่ของการจัดการทรัพยากรคือการกระจายอำนาจที่ยังไม่เป็นจริง เมื่อเกิดภัยพิบัติ ชุมชนหรือท้องถิ่นไม่มีอำนาจจัดการ นี่คือการล่มสลายของชุมชน ปัญหามาจากโครงสร้างการเมืองการปกครองที่รวมศูนย์อำนาจ การเปลี่ยนสังคมเกษตรกรรมเป็นสังคมอุตสาหกรรม ทำให้คนภายนอกเข้าถึงทรัพยากรท้องถิ่นได้
“ถ้าไม่มีการสร้างชุมชนจากระดับล่างในภาคประชาสังคมให้เข้มแข็ง ชาวบ้านก็อยู่ไม่รอด การพัฒนาประเทศต้องมาจากความต้องการของคนในชุมชน แม้ปัจจุบันเป็นนิมิตหมายดีที่มีภาคประชาสังคมเกิดขึ้นมากมาย แต่ยังไม่เห็นองค์กรประชาสังคมที่เป็นเจ้าของท้องถิ่นแท้จริง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังทำงานแบบราชการ ถ้าขาดจิตสำนึกท้องถิ่นจริงๆจะเป็นแขนขาราชการไปโดยปริยาย”
ดร.ศรีศักร กล่าวและว่า ต้องสร้างองค์กรประชาชนให้เข้มแข็งเพื่อต่อรององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและนายทุน รัฐต้องกระจายอำนาจให้เป็นจริง ภูมิปัญญาเกิดจากลองผิดลองถูกได้ ชุมชนต้องช่วยกันสร้างพลังต่อรองอำนาจภายนอก การจัดการป่าชุมชนก็เป็นรูปธรรมหนึ่งที่เป็นจริงได้ด้วยพลังทางสังคม
มิเตอร์เจมส์ แบมตัน ผู้ประสานงานโครงการของรีคอฟ กล่าวถึงกรณีศึกษาป่าชุมชนที่น่าสนใจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค เช่น ในประเทศกัมพูชาและอินโดนีเซีย มีการจัดการป่าระดับชุมชนระดับหมู่บ้าน มีข้อตกลงในการใช้ประโยชน์จากป่า ในแคนาดามีเครือข่ายป่าชุมชนที่เกิดขึ้นมา 19 ปี ส่วนในเวียดนาม ภาครัฐเริ่มเห็นความสำคัญ โดยจะมีการยกพื้นที่ป่า 18 ล้านไร่ให้ชุมชนจัดการ
“หลายประเทศพบว่าถ้ามีการทำป่าชุมชน ปริมาณการทำลายป่าลดลง และวิถีชีวิตชาวบ้านในพื้นที่จะดีกว่าชุมชนที่อยู่รอบนอกป่าชุมชน แต่ควรต้องประสานประโยชน์ในการดูแลป่าร่วมกับภาครัฐด้วย” .