น่าตกใจ! เด็กไทยอ่านไม่ออก 20% นักวิชาการแนะพ่อแม่ปลูกฝังตั้งแต่ 3 ขวบ
เผยสถิติน่าตกใจ พบเด็กไทยอ่านหนังสือไม่ออกกว่า 20% ทำเด็กหลุดจากระบบการเรียนสูงปีละหลายแสนคน นักวิชาการแนะ สร้างเสริมการอ่านตั้งแต่เล็ก สร้างรากฐานที่มั่นคง ติงร่างรธน.หนุนเด็กเล็กดีเเล้ว แต่ลดทอนเรียนขั้นต่ำต้องคิดให้ดี
สืบเนื่องจากรายงานสถิติการอ่านของคนไทยประจำปี 2558 จัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า มีคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ขึ้นไป ไม่อ่านหนังสือถึงร้อยละ 22.3 หรือ13.9 ล้านคน และหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ไม่อ่าน พบว่า อ่านหนังสือไม่ออกมากถึง ร้อยละ 20.6 โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น (อายุตั้งแต่ 15-24ปี) มีจำนวนมากถึง ร้อยละ 13.1
นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. ให้สัมภาษณ์กับ สำนักข่าวอิศรา ถึงปัญหาการอ่านไม่ออกนั้น มีจุดเริ่มมาจากรากฐานในช่วงวัยเด็กช่วงปฐมวัย โดยเฉพาะในเล็กๆ ก่อน6 ขวบเป็นช่วงที่เซลล์สมองของมนุษย์เติบโตสูงสุด ส่วนช่วง3-5 ขวบ เป็นช่วงวัยทองในการบ่มเพาะในทุกๆ เรื่อง พัฒนาการทางภาษาเริ่มจากครอบครัวโดยเฉพาะในเรื่องการอ่าน หากขาดตรงนี้เมื่อเข้าสู่วัยเรียนพัฒนาการด้านอื่นจะด้อยลง ไม่สามารถจัดการทักษะในเรื่องอื่นๆ ได้ จึงเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่เด็กไทยจำนวนหลายแสนคนออกจากระบบการเรียนกลางคัน เพราะขาดการพัฒนาทักษะทางสมองตั้งแต่เยาว์วัย
นางสุดใจ กล่าวว่า ถ้าเราสามารถทำให้พ่อแม่อ่านหนังสือให้ฟังตั้งแต่เล็กๆ (0-3 ขวบ) วันละ 15 นาที ต่อปีเด็กจะมีคลังคำเป็นล้านๆ คำ แต่หากเด็กไม่ได้รับการปลูกฟังในเรื่องการอ่าน ซึ่งเกี่ยวข้องในด้านภาษานั้น พัฒนาการในด้านอื่นๆ ของเด็กจะด้อยไปด้วย ส่งผลอย่างต่อเนื่อง และค่อนข้างสอดคล้องในงาน วิจัย ที่บอกว่า ถ้าเราลงทุนในเด็กปฐมวัยแค่บาทเดียว แต่สังคมจะได้ทุนกลับมากกว่า 7 เท่า นั่นแปลว่า เราสามารถสร้างเด็กที่เก่งได้ตั้งแต่ปฐมวัย การสร้างปัจจัยแวดล้อมในครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญ และยังมีผลการวิจัยพบว่า บ้านที่มีหนังสือเด็กอย่างน้อย 3 เล่ม จะช่วยให้เด็กในบ้านมีพัฒนาการดีขึ้นถึง 70% และโอกาสที่เด็กจะใฝ่เรียนจะสูงขึ้นด้วย แต่วันนี้ประเทศไทยพบว่า มีเด็กกว่า 1.8 ล้านคน ไม่เข้าถึงการอ่าน การไม่มีหนังสืออ่านสะท้อนความเหลื่อมล้ำของสังคม
"วันนี้นอกจากมีอัตราการอ่านเพิ่มขึ้น เราอยากได้คนที่คิด วิเคราะห์เป็นเพราะทักษะนี้จะพาไปสู่กระบวนการอื่นๆ ในสังคม ทำอย่างไรให้การศึกษาไปถึงจุดนั้น"
เมื่อถามถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดโดยเฉพาะเรื่องการศึกษาที่จะเน้นไปที่เด็กก่อนวัยเรียน นางสุดใจ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดี สนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง แต่ในภาวะที่ความเหลื่อมล้ำทางสังคมค่อนข้างสูง การลดทอนการศึกษาขั้นพื้นฐานจะเป็นการตอกย้ำความเหลื่อมล้ำทางสังคมให้ลึกลงหรือไม่ จะส่งผลต่อการออกเรียนกลางคัน เพราะวันนี้เราไม่มีระบบการสร้างการเรียนรู้ที่จะสร้างอาชีพในอนาคตได้ อันนี้เราคงต้องไตร่ตรองให้ดี หรือทำอย่างไรให้การศึกษาท้องถิ่นเข้มเเข็งและสามารถรองรับเด็กได้ ระบบการศึกษาควรออกแบบให้เหมาะสมกับบริบทของท้องถิ่น วิถีชีวิตของเด็กถ้าสามารถทำตรงนี้ได้เเล้วจะหยุดเรียนช่วงไหนค่อยว่ากัน ขนาดว่า ฟรีเเล้วยังมีเด็กไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาอีกจำนวนมาก
ด้านนายจรัญ หอมเทียนทอง นากยกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้เด็กอ่านไม่ออก หรือไม่อยากอ่านหนังสือ ก็คือโรงเรียน วันนี้ครูไปบังคับให้เด็กอ่าน ปัญหาเลยเกิด เพราะโดยธรรมชาติของมนุษย์ไม่ชอบการโดนบังคับ ทุกคนมีวิญญาณความเป็นเสรี ดังนั้น พ่อแม่ ครอบครัว ครูต้องไม่บังคับเด็กให้อ่าน ยิ่งมีการบังคับเด็กจะยิ่งกลายเป็นสัตว์ประหลาด
สามารถ download ไฟล์ได้ที่ http://www.tkpark.or.th/stocks/extra/002474.pdf