สื่ออิเล็กทรอนิกส์ตัวช่วย สนง.สถิติแห่งชาติ เผยคนไทยอ่านเพิ่มขึ้น 66 นาที/วัน
สำนักงานสถิติฯ - TK Park เผยผลสำรวจการอ่านล่าสุด พบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ทำให้ระยะเวลาในการอ่านของคนไทยเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่หนังสือกระดาษยังคงเป็นรูปแบบสื่อที่ครองความนิยมนักอ่านอยู่กว่า 96% น่าตกใจมีคนอ่านหนังสือไม่ออกถึง 20.6%
วันที่ 30 มีนาคม 2559 ที่ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park) ร่วมกับ สำนักงานสถิติแห่งชาติ จัดแถลงข่าวรายงานผลสำรวจการอ่านประจำปี 2558
นางปัทมา อมรสิริสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักสถิติสังคม เปิดเผยว่าจากการสำรวจประชากรตัวอย่าง 55,920 ครัวเรือน พบว่า การอ่านของประชากรอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป มีอัตราการอ่านลดลงจากร้อยละ 81.8 ในปี 2556 เป็นร้อยละ 77.7 ในปี 2558 ลดลงร้อยละ 4.1 โดยมีอัตราการอ่านลดลงในทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะในกลุ่มวัยเด็ก (6-14 ปี) และในกลุ่มเยาวชน (15-24ปี) มีอัตราการอ่านสูงใกล้เคียงกันคือร้อยละ 90.7 และ 89.6 รองลงมาคือ กลุ่มวัยทำงาน (25-29ปี) คือร้อยละ 79.1 และต่ำสุดคือกลุ่มวัยอายุ (60ปีขึ้นไป) คือร้อยละ 52.8
นางปัทมา กล่าวว่า แม้อัตราความถี่ในการอ่านจะลดลงจากปี 2556 แต่กลับพบว่า เวลาเฉลี่ยที่ใช้อ่านหนังสือนั้นคือ 1 ชั่วโมง 6 นาที หรือเท่ากับ 66 นาทีต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่อยู่ที่ 37 นาทีต่อวัน โดยกลุ่มที่ใช้เวลาอ่านมาสุดคือ กลุ่มเยาวชน เฉลี่ย 1 ชั่วโมง34 นาที รองลงมาคือกลุ่มวัยทำงานที่มีอัตราเฉลี่ยต่อวันราว 1 ชั่วโมง ส่วนวัยสูงอายุใช้เวลาอ่านน้อยที่สุดที่ 44 นาทีต่อวัน ซึ่งแน่นอนว่า สื่ออิเล็กทรอนิกส์มีส่วนทำให้ระยะเวลาในการอ่านเพิ่มสูงขึ้น เพราะมากกว่าครึ่งของกลุ่มตัวอย่าง ระบุว่า อ่านผ่านสื่อออนไลน์และสื่ออิเล็กทรอนิส์ ขณะที่หนังสือกระดาษยังคงเป็นรูปแบบสื่อที่ครองความนิยมนักอ่านอยู่กว่า 96.1% แม้ว่าอัตราการซื้อหนังสือเล่มของผู้ใหญ่ลดลงจากปี 2556 ที่มีอัตราอยู่ที่ร้อยละ 82.6 เหลือร้อยละ 78.5
ส่วนข้อมูลของผู้ที่ไม่อ่านหนังสือ พบว่า มีมากถึงร้อยละ 22.3 หรือราว 13.9 ล้านคน โดยสาเหตุหลักคือ ชอบดูโทรทัศน์ถึง 41.9% รองลงมาคือ ไม่มีเวลาอ่าน 24.6 % ไม่ชอบอ่าน 24.8% และที่น่าตกใจคือ อ่านหนังสือไม่ออกถึง 20.6%
ผอ.สำนักสถิติสังคม กล่าวถึงวิธีการรณรงค์ให้คนรักการอ่านที่ดีที่สุด คือ การปลูกฝังผ่านพ่อแม่และครอบครัว รวมไปถึงสถาบันการศึกษา นอกจากนี้ข้อมูลดังกล่าวสามารถเป็นเครื่องบ่งชี้และเป็นเครื่องมือหาแนวทางเพื่อส่งเสริมการอ่าน ความรู้ และความเข้าใจของประชากร เพื่อสนับสนุนแนวทางการเรียนรู้ตลอดชีวิต สร้างยุทธศาสตร์ เป้าหมายการดำเนินงานเพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาตามความเป็นจริง
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับการสำรวจสถิติการอ่านของประเทศไทย โดยสำนักงานสถิติแห่งชาตินั้น จะจัดทำขึ้นในทุกๆ 2 ปี ซึ่งเป็นการสำรวจพฤติกรรมการอ่านของประชากรนอกเวลาเรียน เวลาทำงาน เป็นการอ่านหนังสือบทความทุกประเภท ทั้งที่เป็นรูปเล่มเอกสาร หรือสื่ออิเล็กทรอนิส์ โดยที่ปี 2558 เป็นปีแรกที่ได้ขยายคำนิยามการอ่านในการสำรวจให้รวมการอ่านข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ อย่าง facebook twitter เป็นต้นแต่มีข้อยกเว้นการอ่านข้อความเพื่อการสนทนาหรือติดต่อสื่อสาร