สกว. ดันวิจัยเข้าแผนยุทธศาสตร์สุโขทัย ชูรูปธรรมพัฒนาชุมชนยั่งยืน
สกว.ร่วมท้องถิ่น สืบรากสานแก่นภูมิปัญญาพื้นบ้านสุโขทัยสู่หลักสูตรท้องถิ่นและการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เปิดเส้นทางทัวร์ 12 ชุมชนรอบอุทยานทัวร์ประวัติศาสตร์ กระจายรายได้ให้ชาวบ้าน
เร็วๆนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุโขทัย เทศบาลเมืองสุโขทัยธานี เทศบาลตำบลเมืองเก่า และสมาคมการท่องเที่ยวจ.สุโขทัย เปิดงาน “รอบรั้วเมืองพระร่วง สานสายใยแห่งวัฒนธรรมชุมชน สืบค้นประวัติศาสตร์เมืองมรดกโลก” ที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จ.สุโขทัย เพื่อเปิดเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ใน 12 ชุมชน สืบเนื่องจาก สกว. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยนเรศวร พัฒนา “โครงการการพัฒนาชุมชนรอบอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยแบบมีส่วนร่วมโดยใช้องค์ความรู้ทางวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยว”
รศ.ดร.จิรวัฒน์ พิระสันต์ หัวหน้าโครงการฯ กล่าวกับศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา ว่าโครงการดังกล่าวเพื่อเปิดพื้นที่ชุมชนรอบอุทยานประวัติศาสตร์ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมและกระจายรายได้สู่ชุมชน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านในท้องถิ่น ภาครัฐและเอกชน โดยครอบคลุม 12 ชุมชนในเทศบาลเมืองเก่า จ.สุโขทัย ได้แก่ ชุมชนบ้านใหม่ตระพังทอง ชุมชนแม่รำพัน ชุมชนศรีชุม ชุมชนรามเล็ก ชุมชนรามใหญ่ ชุมชนบ้านใต้ ชุมชนบ้านเหนือ ชุมชนสุโขทัยนคร ชุมชนลิไท ชุมชนตระพังทองหลาง ชุมชนสุโขทัยนคร1 ชุมชนสุโขทัยนคร3 และชุมชนวัดป่ามะม่วง
“ชุมชนมีศักยภาพในการจัดท่องเที่ยวมาก เช่น มีแหล่งหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาและผลิตภัณฑ์สังคโลก 5 แห่ง แกะสลัก 24 แห่ง เฟอร์นิเจอร์ไม้ 1 แห่ง หล่อพระ 2 แห่ง ร้านอาหารพื้นบ้าน 15 แห่ง พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น 4 แห่ง จนปี 53ได้รับรางวัลโครงการวิจัยดีเด่นของ สกว.กลุ่มงานวิจัยเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่”
ดร.จิรวัฒน์ ยังกล่าวว่าโครงการต้องการส่งเสริมให้ประชาชนในชุมชนมีส่วนร่วมพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง โดยเน้นจิตสาธารณะพัฒนาชุมชนให้เจริญก้าวหน้ามากกว่าการวัดด้วยดัชนีตัวเลขทางเศรษฐกิจ ที่สำคัญต้องไม่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน โดยได้นำผลงานวิจัยดังกล่าวเสนอเป็นแผนยุทธศาสตร์พัฒนาพื้นที่แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว
ศ.ดร.สวัสดิ์ ตันตระรัตน์ ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวว่าโครงการดังกล่าวเป็นแบบอย่างของความสำเร็จในการพัฒนาพื้นที่ อีกทั้งยังเผยแพร่เส้นทางการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของชุมชนรอบอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ซึ่งเป็นการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนที่ต่อเนื่องและยั่งยืน
ทั้งนี้โครงการดังกล่าวต่อเนื่องมาจาก “โครงการการสืบค้นข้อมูลทางด้านวัฒนธรรมของจังหวัดสุโขทัย” ในปี 2551-2552 ที่สืบค้นองค์ความรู้จากปราชญ์ชาวบ้านย้อนหลังไป 100 ปีในทุกหมู่บ้านของจังหวัด 5 มิติเชิงลึก 1.วัฒนธรรมมุขปาฐะที่สืบทอดผ่านภาษา 2.วัฒนธรรมด้านศิลปะการแสดง 3.ความรู้เกี่ยวกับจักรวาลและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ 4.ความรู้ด้านช่างฝีมือของชาวบ้าน 5.ขนบธรรมเนียมประเพณี พิธีกรรมและงานฉลอง ซึ่งกลายเป็นฐานข้อมูลด้านวัฒนธรรมของจังหวัด ถูกนำไปบรรจุเป็นหลักสูตรของโรงเรียนต่างๆในจังหวัด และยังนำไปสู่การจัดการท่องเที่ยวบนฐานวัฒนธรรมทั่วจังหวัด
ด้วยความสำเร็จดังกล่าว จึงมีการพัฒนา“โครงการการพัฒนาชุมชนรอบอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยแบบมีส่วนร่วมโดยใช้องค์ความรู้ทางวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยว” ในปี 2553-2555 ซึ่งปัจจุบันสามารถพัฒนาจุดที่เป็นท่องเที่ยวหลักได้ 12 จุด อาทิ ศาลตาผาดำสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนในชุมชนรอบอุทยานให้ความเคารพ ย่านจำหน่ายหัตถกรรมแกะสลักไม้ ย่านแกะสลักไม้และขนมไทย ย่านประติมากรรมไทย ย่านเครื่องปั้นดินเผาสังคโลก ย่านพระพุทธรูปไม้แกะสลัก .