พื้นที่ผลิตประปาเลี้ยงคนกรุง นักวิชาการค้านสร้างไฟฟ้าขยะที่เชียงรากใหญ่
ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ ติงนโยบายกำจัดขยะไม่คุ้ม เปิดช่องคอรัปชั่น ทั้งยังขาดธรรมาภิบาลต่อชุมชน ด้านนักกฎหมายฟันธง เชียงรากใหญ่ไม่เหมาะสร้างโรงไฟฟ้าขยะ ฝั่งผู้ช่วยการประปา ประกาศชัดไม่สนับสนุน
เมื่อวัน29 มีนาคม 2559 ในเวทีเสวนาวิชาการ “ธรรมภิบาลเพื่อการจัดการขยะอย่างยั่งยืน :กรณี ศูนย์กำจัดขยะและโรงไฟฟ้าเชียงรากใหญ่” จัดโดย มูลนิธิบูรณะนิเวศ วิทยาลัย ป๋วย อึ้งภากรณ์ และคณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวถึงการสร้างโรงไฟฟ้าขยะโดยเฉพาะที่เชียงราก ชี้ชัดว่ารัฐดำเนินนโยบายโดยขาดธรรมาภิบาล ซึ่งหากมองหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกพื้นที่ฝังกลบขยะมูลฝอยตามประกาศกรมควมคุมมลพิษ พบว่า ในข้อแรก กำหนดให้สถานที่ฝังกลบขยะต้องไม่ตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 และควรตั้งอยู่ห่างจากบ่อน้ำดื่มหรือโรงผลิตน้ำประปาในปัจจุบันไม่น้อยกว่า 700 เมตร รวมถึงแหล่งน้ำธรรมชาติอื่นๆ ไม่น้อยกว่า 300 เมตร
ผอ. มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวต่อว่า เกณฑ์ข้อสำคัญในการคัดเลือกพื้นที่มาก่อสร้างนั้นต่อมีการทำประชาพิจารณ์ให้เกิดความยอมรับของประชาชน ก่อนที่จะดำเนินการ ถามว่า วันนี้ได้ทำบ้างไหม ส่วนแง่มุมที่รัฐควรจะพิจารณาทบทวนสำหรับนโยบายกำจัดขยะก็คือ โรงเผาขยะเป็นทางเลือกการจัดการที่แพงที่สุด มีราคาค่าอุปกรณ์และเทคโนโลยีเพื่อให้ได้ตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อมสูงมาก การเผาขยะนอกจากจะก่อมลพิษสู่อากาศแล้ว ยังเกิดขี้เถ้าที่มีสารพิษ ซึ่งต้องฝังกลบตามหลักวิศวกรรมที่มีต้นทุนสูง
"ขณะที่ขยะในประเทศไทยส่วนใหญ่ไม่มีการคัดแยก เป็นขยะเปียกหรือขยะอินทรีย์ ทำให้ประสิทธิภาพในการเผาลดลง หรือไม่คุ้มทุนที่จะดำเนินการต่อ และสิ่งที่น่าห่วงพบว่าที่ผ่านมาโครงการขนาดใหญ่ของประเทศมักมีการทุจริตคอรัปชั่น และยิ่งโครงการที่ต้องใช้งบประมาณสูงในทุกด้านๆ แบบนี้ หากการจัดการขยะภายใต้แผนดังกล่าวไม่นำมาสู่การแก้ปัญหาที่แท้จริง รัฐรวมถึงประชาชนจะต้องมาเสียค่าโง่กับความเสียหายที่เกิดขึ้น"
ด้านนายชำนัญ ศิริรักษ์ นักกฎหมายและทนายความด้านสิ่งแวลดล้อม กล่าวถึงกรณีการสร้างโรงไฟฟ้าขยะที่เชียงรากใหญ่ว่า พื้นที่ดังกล่าวไม่มีความเหมาะสมในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะในเรื่องของสุขภาพ สิ่งแวดล้อม พื้นที่ดังกล่าเป็นพื้นที่ที่มีประชาชนอาศัย เป็นแหล่งเพาะปลูกพืช หากมองในเชิงกายภาพแล้วไม่มีข้อไหนที่เชียงรากใหญ่เหมาะสมในการก่อสร้าง ตัวโครงการโรงไฟฟ้าขยะจะมีการเผาเพื่อให้ได้ไฟฟ้ามากกว่า 10 เมกกะวัตต์ต่อวัน นั่นหมายความว่าจะมีรถขยะขนขยะจากทุกที่เข้าไปในชุมชน ทั้งๆ เป็นพื้นที่ที่มีการผลิตน้ำประปาจุดสำคัญเพื่อเลี้ยงคนทั้งกรุงเทพฯ
"วันนี้เรากำลังจะย้ายโรงงานเข้าไปอยู่กับชุมชน พื้นที่เชียงใหญ่เป็นพื้นที่ตามผังเมืองสีเขียว แต่วันนี้รัฐก็ยกเลิกไป การทำ EIA ก็ยกเลิกไป การรับฟังประชาชนในพื้นที่ก็ไม่มี สิ่งเหล่านี้สะท้อนการขาดการมีส่วนร่วมของชุมชนอันเป็นพื้นฐานสำคัญ คสช.บอกจะมอบความสงบเรียบร้อยให้คนในประเทศ แต่วันนี้เจตนารมณ์เดิมนั้นหมดสิ้นไปแล้ว ชาวบ้านมีแต่ความขัดแย้งกัน ไม่แปลกใจหากเรตติ้งของท่านจะตกลง” นักกฎหมายกล่าว
นายชัยวัฒน์ วรพิบูลพงศ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการการประปานครหลวง ในฐานะตัวแทนของสหภาพแรงงานของการประปา กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะที่เชียงรากใหญ่ เพราะพื้นที่ดังกล่าวนั้นเป็นแหล่งผลิตน้ำประปาที่สำคัญที่สุดให้กับกรุงเทพฯ วันนี้เรามีน้ำดิบที่มีคุณภาพระดับโลก หล่อเลี้ยงคนกรุงเทพฯ หลายสิบล้านคน แต่รัฐจะเอาโรงไฟฟ้าขยะมาตั้งใกล้กับแหล่งน้ำ โดยไม่ได้คำนึงว่าผลกระทบจะเกิดอะไรบ้าง เอาแค่สารตัวเดียวที่เผาออกมา ซึ่งขอเรียกง่ายๆ ว่า สารก่อมะเร็ง แค่ตัวนี้ตัวเดียวก็พอ ถามว่าคนกรุงเทพฯ ยอมให้มีการสร้างได้หรือไม่