ทีดีอาร์ไอเสนอยกระดับท้องถิ่น กระจายอำนาจสู่ “จังหวัดจัดการตนเอง”
'ดร.สมเกียรติ' ชี้ 3 สาเหตุ ท้องถิ่นไทยบริการ ปชช.ไม่ดี ขาดอิสระ-ขาดขีดความสามารถ-ขาดกลไกรับผิดชอบ เเนะเร่งกระจายอำนาจ ดันจังหวัดจัดการตนเอง ด้านเลขาธิการ สถาบันพระปกเกล้า วอนเลิกอ้างให้ท้องถิ่นปกครองตนเองจะทำให้เอื้อคอร์รัปชัน เผยนักการเมืองเปลี่ยนเป็นนักบริหารเมืองเเล้ว
วันที่ 29 มีนาคม 2559 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดสัมมนาวิชาการ ทีดีอาร์ไอ ประจำปี 2559 เรื่อง “ปรับบทบาทรัฐไทย...ให้ประชาชนได้บริการที่ดี” ณ โรงละครอักษรา คิง พาวเวอร์ กรุงเทพฯ
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวตอนหนึ่งในหัวข้อ “ให้ท้องถิ่นตัดสินใจ” ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีบริการที่ดีเกิดขึ้นจากท้องถิ่นมากเท่าที่ควร มีสาเหตุ 3 ประการ คือ
1.การขาดอิสระของท้องถิ่น มีการศึกษาชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันท้องถิ่นต้องรับผิดชอบร่วมกับกระทรวงมหาดไทย นั่นคือ นายอำเภอหรือผู้ว่าราชการจังหวัด มากกว่ารับผิดชอบต่อประชาชน เพราะกฎหมายกำหนดให้นายอำเภอสามารถเตือนนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ได้ หากทำเรื่องที่มีความเสียหาย เมื่อไม่ฟังก็สามารถสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวหรือปลดออกจากตำแหน่ง ทั้งที่นายก อบต.มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
นอกจากนี้ยังมีกรณีศึกษาพบปัญหาการที่กระทรวงมหาดไทยอนุมัติร่างงบประมาณท้องถิ่น ยกตัวอย่าง นายอำเภอบางคนของบประมาณจาก อบต. เพื่อแลกกับการอนุมัติงบประมาณของ อบต. หากไม่ยอมอาจเป็นไปได้ที่จะไม่ได้รับการอนุมัติ หรือสภา อบต.บางแห่งต้องการย้ายสถานที่ก่อสร้างอาคาร แต่ย้ายไม่ได้ เพราะผู้ว่าราชการจังหวัดไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่า การลงมติไม่ได้ชูมือเหนือศีรษะตามระเบียบ
2.การขาดขีดความสามารถของท้องถิ่น เมื่อมีการรับภารกิจมาแล้ว ไม่มีการเตรียมตัวอย่างดีจากหน่วยงานกลาง ขาดกลไกสนับสนุน และท้องถิ่นหลายแห่งมีขนาดเล็กมากเกินไป มีประชากรน้อยกว่า 1 หมื่นคน ทำให้ประสบปัญหาในหลายเรื่อง ประกอบกับไม่มีเจ้าหน้าที่ด้านเทคนิคอย่างเพียงพอ เช่น ด้านวิศวกรรม
นอกจากนี้หาก อบต.ที่มีขนาดเล็กมากเกินไป จะขาดความอิสระในการเก็บภาษีจากฐานในท้องถิ่น ทำให้ไม่สามารถพึ่งพาจากฐานภาษีนั้นได้ เป็นสาเหตุทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขาดขีดความสามารถอย่างที่ควรจะเป็น
3.การขาดกลไกการรับผิดชอบของท้องถิ่นต่อประชาชน ขาดการกำหนดมาตรฐานการบริการ ทำให้ประชาชนไม่ทราบว่าอะไรคือการบริการที่ควรจะได้รับ ขาดการเปิดเผยข้อมูล ผลการดำเนินงาน งบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้างของ อปท.อย่างเป็นระบบ และการไม่ได้เก็บภาษีจากคนในท้องถิ่น หรือเก็บภาษีไปแล้วคนไม่รู้ตัว เช่น ภาษีแวต ทำให้ประชาชนไม่รู้สึกว่ารัฐบาลท้องถิ่นต้องรับผิดชอบตัวเรา
ประธาน ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงข้อเสนอให้ยกระดับการกระจายอำนาจ โดยการเพิ่มอิสระให้แก่ท้องถิ่น ดีที่สุด คือ ต้องให้ราชการส่วนภูมิภาค จังหวัด และอำเภอ รวมเข้ากับท้องถิ่น กลายเป็น “จังหวัดจัดการตนเอง” ถ้าทำไม่ได้อย่างน้อยที่สุดต้องแก้ไขกฎหมายไม่ให้กระทรวงมหาดไทยแทรกแซงท้องถิ่น และให้ท้องถิ่นมีอิสระในการเก็บภาษีจากฐานที่ใหญ่เพียงพอด้วย
ส่วน อปท.ที่มีขนาดเล็กมากเกินไป จะมีต้นทุนสูง ประชาชนจะไม่ได้รับบริการที่ดี ควรควบรวม ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น โดยมีส่วนกลางเป็นพี่เลี้ยง ตลอดจนทำให้ท้องถิ่นรับผิดชอบต่อประชาชน กำหนดหลักเกณฑ์ให้เปิดเผยผลงาน แก้ไขกฎระเบียบให้ถอดถอนได้มากขึ้น เพราะขณะนี้ยากที่จะให้รัฐบาลกลางคิดสูตรเดียวบริหารทั้งประเทศ
อย่านำเรื่องคอร์รัปชันมาทำลายหลักการกระจายอำนาจ
ด้าน รศ.ดร.วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการ สถาบันพระปกเกล้า กล่าวเพิ่มเติมถึงแนวคิดการกระจายอำนาจว่า เป็นการนำอำนาจการแก้ไขปัญหาไว้ใกล้ประชาชน ส่วนการถ่ายโอนภารกิจเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งในการปรับบทบาทภาครัฐกับท้องถิ่นให้เกิดความชัดเจนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญ คือ ทำให้ท้องถิ่นมีนวัตกรรมและตอบโจทย์ปัญหาของบ้านเมืองได้ ฉะนั้น เมื่อกระจายอำนาจแล้ว ท้องถิ่นจะรับมือไหวหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการยอมรับว่า สิ่งเหล่านั้นเป็นการเรียนรู้ อาจล้มเหลวได้บ้างเช่นเดียวกับภาครัฐ
ส่วนการควบรวมองค์กรท้องถิ่นขนาดเล็ก เลขาธิการ สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า เรากำลังพูดเรื่องประสิทธิภาพ แต่คำนี้อาจไม่ใช่ในเชิงเศรษฐศาสตร์อย่างเดียว แต่ต้องตอบโจทย์เรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน การสร้างให้ประชาชนเป็นเจ้าของ ซึ่งในแง่การมีส่วนร่วมยิ่งเล็กยิ่งดี แต่แง่การบริหารแล้วยิ่งเล็ก ต้นทุนจะสูง ฉะนั้นการควบรวมต้องกลับมาคุยเรื่องภูมิสังคมและภูมิรัฐศาสตร์ด้วย
รศ.ดร.วุฒิสาร ยังกล่าวว่า ประเด็นกระจายอำนาจแล้ว จะทำให้เกิดการคอร์รัปชันในท้องถิ่นมากขึ้น ซึ่งทุกครั้งที่คุยเรื่องคอร์รัปชัน หมายความว่า เราจับได้ ถ้าจับไม่ได้ เราจะไม่ทราบว่ามีการคอร์รัปชัน สิ่งที่ปรากฎ คือ ท้องถิ่นถูกจับเรื่องคอร์รัปชันมากขึ้น หากมองในทางลบ คือ ท้องถิ่นคอร์รัปชันมาก
สิ่งสำคัญ คือ กลไกการตรวจสอบทำงาน ซึ่งองค์กรตรวจสอบพบผู้คอร์รัปชันได้เพราะมีคนร้องเรียน นั่นแสดงว่า การเฝ้าระวัง กลไกความเป็นเจ้าของ และกลไกทางการเมือง ทำหน้าที่แล้ว เพราะฉะนั้นจึงเห็นด้วยกับการจับและต้องลงโทษให้เร็ว ฉะนั้นอย่านำเรื่องคอร์รัปชันมาทำลายหลักการกระจายอำนาจ
ทั้งนี้ ไม่ต้องห่วงว่าจะมีเจ้าพ่อเจ้าแม่ปกครองท้องถิ่น เพราะไม่ทราบว่าคำเหล่านั้นหมายความว่าอย่างไร แต่ปัจจุบันนักการเมืองท้องถิ่นเปลี่ยนตนเองมาเป็นนักบริหารเมืองมากขึ้น และเมื่อมีอิสระจะช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ ตอบโจทย์บ้านเมือง
“การกระจายอำนาจเป็นการกระจายภาระความรับผิดชอบ ไม่ใช่อำนาจทางการปกครอง แต่เป็นอำนาจในการแก้ปัญหาอย่างมีอิสระและใช้จ่ายทรัพยากร หรือกำหนดลมหายใจเมืองของตนเอง เพราะฉะนั้นคนที่โต้แย้งว่าเมื่อกระจายอำนาจแล้วจะมีปัญหาด้านความมั่นคง จะบอกว่าไทยมีความชัดเจนมานานแล้วตั้งแต่ปี 2540 จะต้องเป็นไปตามโครงสร้างรัฐเดี่ยว” เลขาธิการ สถาบันพระปกเกล้า กล่าว .