เผยโฉม! ‘สะพานข้าม น.ป่าสัก’ จ.อยุธยา สิ้นสุดสัญญา 5 เดือน - งานไม่เดิน
ดูชัด ๆ! ‘สะพานแขวนข้ามแม่น้ำป่าสัก’ วัดสะดือ ม.6 เชื่อมวัดไก่จ้น ม.10 ต.ท่าหลวง-อยุธยา หลังพ่อเหยื่อสะพาน ฯ 200 ปี ร้องสอบปมวัสดุตามแบบ? ก่อนสร้าง 'สะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก' แทน พบเลยกำหนดสิ้นสุดสัญญา 4 เดือน 24 วัน
กรณีนายอนุนาท เสือสมิง บิดาเด็กหญิงวัย 10 ปี ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สะพานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปีพังถล่ม เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2556 ทำหนังสือถึงหัวหน้าหน่วยงานราชการศูนย์ดำรงธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ขอให้ระงับยับยั้งชั่วคราว การรื้อถอนสะพานแขวนคนเดิมข้ามแม่น้ำป่าสัก บริเวณวัดสะดือ หมู่ที่ 6 เชื่อมวัดไก่จ้น หมู่ที่ 10 ต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.อยุธยา โดยระบุว่า
ต้องการให้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการก่อสร้างและการใช้วัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้างตรงตามแบบแปลนงานก่อสร้าง และตามสัญญาจ้างทุกประการหรือไม่ หรือเชิญผู้เชี่ยวชาญจากกองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มาร่วมกันตรวจสอบ ก่อนที่จะดำเนินการรื้อถอนสะพานแขวนดังกล่าว เนื่องจาก สะพานแขวนแห่งนี้ มีการก่อสร้างเทียบเคียง หรือวิธีการ หรือขั้นตอนการดำเนินการก่อสร้าง เช่นเดียวกับ สะพานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ของเทศบาล ต.ท่าหลวง ที่พังถล่มเสียหายอย่างสิ้นเชิง (อ่านประกอบ : ‘จ.อยุธยา’ สั่งรื้อ ‘สะพานข้าม น.ป่าสัก’ หลังพ่อเหยื่อสะพานฯ 200 ปีร้องสอบ)
สำนักข่าวอิศรา www.isranew.org รวบรวมหนังสือร้องเรียนของนายอนุนาท กรณีขอให้ระงับยับยั้งชั่วคราว การรื้อถอนสะพานแขวนคนเดิมข้ามแม่น้ำป่าสัก วัดสะดือ หมู่ที่ 6 เชื่อมวัดไก่จ้น หมู่ที่ 10 ต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.อยุธยา เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2558 ถึง สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จ.อยุธยา และ หัวหน้าหน่วยราชการศูนย์ดำรงธรรม ผู้ว่า ฯ จ.อยุธยา มานำเสนอ ดังนี้
ด้วยข้าพเจ้า นายอนุนาท เสือสมิง เป็นบิดาของเด็กหญิง 10 ปี ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สะพานสมโภช ฯ 200 ปี ขอใช้สิทธิโดยชอบธรรม โดยชอบด้วยกฎหมาย และเป็นผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์ดังกล่าว ขอทราบผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง ตามเรื่องที่ร้องเรียน เพื่อประโยชน์แห่งสาธารณชน และเพื่อความเป็นธรรมทั้งหลายทั้งปวงในสังคม และตามหลักนิติธรรม ย่อมได้รับความคุ้มครอง ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 4 เพื่อความโปร่งใส ชัดเจน และซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์สูงสุดในการใช้เงินภาษีของประชาชน
โดยเฉพาะ ป้ายโครงการใหม่ ‘สะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก คนเดินข้าม แม่น้ำป่าสัก’ และงบประมาณค่าก่อสร้าง สำนักงานโยธา ฯ จ.อยุธยา ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ‘ระยะเวลาสัญญาเริ่มวันที่ 13 พ.ย. 2557 สิ้นสุด วันที่ 7 พ.ย. 2558’ (รวม 360 วัน) จนปัจจุบันยังไม่เริ่มงานก่อสร้างใด ๆ เลย เกรงว่า หากการก่อสร้างดำเนินต่อไป ตามระยะเวลาสัญญา โดย สิ้นสุดวันที่ 7 พ.ย. 2558 อาจจะได้งานก่อสร้างที่ไม่มีคุณภาพ ไม่มั่นคงแข็งแรง ทนทานอย่างถาวร หรืองานที่ได้อาจต่ำกว่ามาตรฐาน เพราะมีการเร่งรีบ เร่งรัด จนเกินไป อย่าลืมว่า งานสร้างสะพานที่มีตอม่อคอนกรีตในน้ำ ต้องสามารถทนทานต่อแรงดันน้ำมหาศาล กรณีเกิดอุทกภัย หรือทนต่อการกัดเซาะกัดกร่อนจากแรงดันน้ำได้ เพราะสะพานที่สร้างอยู่ ต้องให้มีความมั่นคงแข็งแรง ใช้ได้ชั่วลูกชั่วหลาน สร้างแล้วต้องใช้ได้นานคุ้มค่าเงินที่สูญเสียไป
โดย คำนึงถึงสวัสดิภาพความปลอดภัยของประชาชนที่ใช้สัญจรเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งอาจจะเกิดเหตุการณ์เศร้าสลดใจขึ้นได้อีก เหมือนกับเหตุการณ์สะพานสมโภช ฯ 200 ปี ของเทศบาล ต.ท่าหลวง ที่ทำให้บุตรสาวคนโต อายุ 10 ปีของข้าพเจ้าเสียชีวิต โดย มีผู้เสียชีวิต จำนวน 4 ราย และผู้บาดเจ็บจำนวนมาก ที่ อ.ท่าเรือ จ.อยุธยา เมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 เม.ย. 2556 ซึ่งสะพานดังกล่าว เป็นระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน สร้างด้วยเงินภาษีของประชาชน และควรจัดทำป้ายแสดงรูปแบบแปลนภาพสะพานที่จะก่อสร้างขึ้นมาใหม่ ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบ ไม่ใช่แสดงแต่งบประมาณค่าก่อสร้างเพียงอย่างเดียว
และได้โปรดรีบดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน หรือเชิญผู้เชี่ยวชาญจากกองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย มาร่วมกันตรวจสอบสะพานแขวนคนเดินข้ามแม่น้ำป่าสัก (ของเดิม) ว่า มีการก่อสร้างและการใช้วัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้างตรงตามแบบแปลนงานก่อสร้าง และตามสัญญาจ้างทุกประการหรือไม่ ก่อนที่จะดำเนินการรื้อถอนสะพานแขวน เพื่อไม่ให้รัฐเสียประโยชน์ต่องบประมาณแผ่นดิน และเงินภาษีของประชาชน โดย ยึดประโยชน์ต่อสาธารณชนเป็นสิ่งสำคัญ
ขณะที่ บิดาเด็กหญิงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สะพาน ฯ 200 ปีพังถล่ม เผยว่า ได้ร้องเรียนเรื่องดังกล่าวต่อศูนย์ดำรงธรรม จ.อยุธยา แล้วถึง 3 ครั้ง โดยปัจจุบัน มีเจ้าหน้าที่รัฐเริ่มมาดำเนินการรื้อถอนสะพานแขวน ฯ แล้ว แสดงให้เห็นว่า ทางจังหวัดไม่ได้สนใจข้อร้องเรียนของประชาชน และไม่สนเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นด้วย ทั้งนี้ ได้โทรศัพท์สอบถามความคืบหน้ากับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นแล้ว แต่กลับได้รับคำตอบว่า ไม่รู้เรื่อง ทั้งที่ มีการลงเลขรับหนังสือไว้แล้ว และทางกระทรวงมหาดไทยก็มีหนังสือตอบกลับระบุให้ จ.อยุธยา ดำเนินการแล้ว แต่ว่าทาง จ.อยุธยา จะรื้อสะพานแขวน ฯ ลูกเดียว
“ขนาดกระทรวงมหาดไทยสั่ง จังหวัดยังไม่สนใจเลย ดูแล้วทางจังหวัดคงกลัวเจอการทุจริตคอร์รัปชั่นในการก่อสร้างโครงการนี้ ถึงไม่ยอมแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง ก่อนที่จะรื้อสะพานแขวน ฯ นี้ เนื่องจาก น่าสังเกตว่า โครงการก่อสร้างสะพานแขวน ฯ ของเดิม มีวงเงินค่าก่อสร้างสูงถึง 18 ล้านบาท ขณะที่ ค่าก่อสร้างโครงการใหม่ที่กำลังจะสร้าง ซึ่งเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก กลับมีค่าก่อสร้างแค่ 13 ล้านบาท โดย เท่าที่ทราบมา สะพานแขวนต้องมีราคาต่ำกว่าสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก” นายอนุนาท ยืนยัน
เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2559 ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org โทรศัพท์ติดต่อไปที่ นายโชคชัย เมฆฉาย วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จ.อยุธยา เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว นายโชคชัย ระบุว่า สะพานแขวนดังกล่าวสร้างเสร็จตั้งแต่ก่อนปี 2554 จำเวลาที่แน่ชัดไม่ได้ แต่ทราบกันดีว่า เกิดน้ำท่วมใหญ่ขึ้นและระดับน้ำสูงถึงพื้นสะพานแขวนดังกล่าว ทำให้ตัวสะพานโย้ ชิ้นส่วนเสียหาย ทางจังหวัด และ โยธา ฯ จึงปรึกษากัน และได้จัดงบประมาณเพื่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กทดแทน ตรงตำแหน่งที่เดิม แต่เนื่องจาก ต้องมีกระบวนการขออนุญาตจากทางกรมธนารักษ์ก่อน
“สะพานคอนกรีตเสริมเหล็กของใหม่ที่กำลังสร้าง นั้น มีความสูรงกว่าสะพานแขวนเดิม ประมาณ 50 ซม. ส่วนกรณีที่คุณอนุนาทร้องว่า ให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบก่อน ขอเรียนว่า โดยหลักการแล้ว ไม่มีข้อบังคับตรงนี้ จึงยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบ” นายโชคชัย ยืนยัน
เมื่อถามว่า ระยะเวลาสัญญาระบุว่า วันสิ้นสุดโครงการ คือ 7 พ.ย. 2558 รวม 360 วัน โดย ผู้ร้องระบุว่า ยังไม่มีการรื้อถอนใด ๆ ชี้แจงว่าอย่างไร นายโชคชัย เผยทันทีว่า "ต้องขอตัวไปประชุมก่อน อย่างไร ขอเรียนเชิญผู้สื่อข่าวเข้ามาให้ข้อมูลที่สำนักงาน ฯ จะดีกว่า เนื่องจาก เรื่องนี้มันยาว เกรงว่า จะไม่ทันประชุม อย่างไรก็ตาม เราพร้อมชี้แจง"
อย่างไรก็ตามเมื่อถามว่า ยืนยันได้หรือไม่ ว่า โครงการก่อสร้างสะพานแขวนดังกล่าว ไม่มีการ ‘ทุจริต’ เกิดขึ้น นายโชคชัย ระบุว่า “สะพานดังกล่าวสร้างเสร็จก่อนที่ผมจะเข้ามาทำงานที่นี่ และหน่วยงานของเราไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบ ตรงนี้ไม่ได้ปัดนะ เพราะยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่เข้าทำงาน แต่ทราบมาว่า ทาง อ.ท่าเรือ เป็นผู้บริหารสัญญา ส่วนเรื่องรื้อถอนสะพาน ฯ ทางเราเป็นผู้รับผิดชอบจริง”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สะพานแขวนคนเดินข้ามแม่น้ำป่าสัก บริเวณวัดสะดือ หมู่ที่ 6 เชื่อมวัดไก่จ้น หมู่ที่ 10 ต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.อยุธยา มีค่าก่อสร้าง 18,590,000 บาท และสิ้นสุดประกันเมื่อเดือน ก.ย. 2556 ขณะที่ สะพานคอนกรีตเสริมเหล็กข้ามแม่น้ำป่าสักที่กำลังก่อสร้างใหม่ กว้าง 2 เมตร ยาว 128 เมตร ระบุค่าก่อสร้าง 13,077,000 บาท ผู้รับจ้าง ได้แก่ บริษัท ไทยวัฒน์วิศวการทาง จำกัด โดย ระบุระยะเวลาสัญญา เริ่มวันที่ 13 พ.ย. 2557 สิ้นสุดวันที่ 7 พ.ย. 2558 (รวม 360 วัน)
อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้ เลยกำหนดเวลาวันสิ้นสุดสัญญาโครงการก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กดังกล่าว เป็นเวลา 4 เดือน 24 วันแล้ว ปัจจุบัน เพิ่งจะมีเจ้าหน้าที่รัฐเริ่มเข้ามารื้อถอนสะพานแขวนของเดิมออก (ดูรูปภาพประกอบ)
อ่านประกอบ :
อ.ก.พ.มหาดไทย รับคำค้านพ่อเหยื่อสะพาน200ปี สั่งสอบวินัยร้ายแรง'วิศวกร'
จ.อยุธยาตั้ง กก.สอบ'นายกเทศมนตรีท่าหลวง'ปมสะพาน 200 ปีถล่มแล้ว
เปิดชื่อ-พฤติการณ์คดีสะพาน 200 ปีถล่ม! ซ่อม 4 ครั้งไม่ตรวจให้ดีก่อน
ป.ป.ช.ตั้งอนุฯลุยสอบปมสะพาน 200 ปีถล่ม! วิศวกรออกแบบเผ่น-แจ้งคำสั่งไม่ได้
ตามไม่เจอ! 'วิศวฯออกแบบ' สะพานฯ200ปีอยุธยาถล่ม-หลังป.ป.ช.ตั้งกก.สอบ
‘ไล่ออก’สถานเดียว! พ่อเหยื่อสะพานถล่มจ้างทนายสู้ไม่แก้ไขโทษเจอ ม.157
ผู้ว่าฯอยุธยาเซ็นปลดวิศวกรสร้างสะพานฯ 200 ปีถล่ม-ตัดเงินเดือน กก.ตรวจรับฯ
ยื่นครั้งสุดท้าย! เหยื่อสะพาน 200 ปีถล่มขอผู้ว่าลงโทษไล่'วิศวกร'ออก
ใช้ 9 เดือนซ่อม 4 ครั้ง! กก.สอบปมสะพาน 200 ปีถล่มยันฝีมือ"เอกชน"
กรมโยธาฯยังยัน'วิศวกร'สะพาน200ปีถล่มโทษแค่ลดเงินเดือน-ป.ป.ช.รุดสอบแล้ว
ตร.ส่งคดีสะพาน 200 ปีถล่มฯให้อัยการฟ้อง-"วิศวกร"รู้โดนสาวถึง รีบชิ่งหนี
"วิศวกร"สร้างสะพาน 200 ปีถล่มหนีแล้ว! ตร.ออกหมายจับพบปลอมเอกสารด้วย
รายชื่อ 17 นักการเมือง-ขรก.ในผลสอบคดีสะพานฯ 200 ปี อยุธยา ถล่ม!
เปิดเอกสารมัดสัมพันธ์ลึก "เอกชน-วิศวกร" สะพานฯถล่ม ไฉนคดีทุจริตไม่คืบหน้า!
มีคนตายถูกลงโทษแค่ตัดเงินเดือน! พ่อเหยื่อสะพานฯ200ปีถล่ม โวยให้ไล่ออก
เปิดหนังสือ"ดีเอสไอ"ตอบพ่อเหยื่อสะพาน200 ปีถล่ม ลุยล่าตัวผู้กระทำผิดแน่!