รณรงค์ต้าน พ.ร.ก.แล้ว น่าจะรณรงค์ต้านความรุนแรงด้วย
ช่วง 3-4 เดือนมานี้ มีความเคลื่อนไหวจากองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ออกมารณรงค์ต่อต้านการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กันอย่างคึกคัก หนักแน่น และจริงจังมากเป็นพิเศษ
ล่าสุดมีการตั้งเครือข่ายประชาสังคมคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชักชวนให้พี่น้องประชาชนส่งจดหมายสันติภาพ หรือโปสการ์ดคัดค้าน พ.ร.ก.ไปยังสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติกันเลยทีเดียว
ขณะที่อีกหลายองค์กรก็ร่วมทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ เรียกร้องให้ทบทวนการขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งที่ 26 โดยมีเหตุผลประกอบ 4-5 ประการ (ซึ่ง ครม.เพิ่งมีมติอนุมัติขยายเวลาการประกาศไปเมื่อวันอังคารที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา) แม้สาระในจดหมายจะไม่ได้ระบุชัดเจนให้เลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ให้ทบทวนการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.มิให้กระทบสิทธิของประชาชนจนขัดหลักนิติธรรม และให้มีกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลจากภาคส่วนอื่นๆ มากขึ้น แต่องค์กรที่ร่วมกันทำจดหมายนี้ ก็เคยจัดแถลงข่าวและจัดเวทีเรียกร้องให้ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างดุเดือดมาแล้วหลายครั้ง
ผมอ่านข้อความรณรงค์เหล่านี้แล้วก็ไม่ได้ตั้งใจจะคัดค้านอะไร เพียงแต่มีคำถามตะหงิดๆ อยู่ในใจ 2-3 ประเด็น เช่น เรียกร้องให้เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯแล้ว จะเรียกร้องให้เลิกกฎอัยการศึกด้วยหรือเปล่า เพราะจริงๆ กฎอัยการศึกมีเนื้อหาลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนหนักกว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ไม่ทราบว่าเหตุใดการรณรงค์จึงมุ่งเฉพาะ พ.ร.ก.เท่านั้น
และอีกคำถามหนึ่งก็คือ ท่าทีไม่เอา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ดังที่รณรงค์กันอยู่นี้ หมายรวมถึงการไม่เอาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ด้วยหรือเปล่า เพราะเป็นเรื่องแปลกแต่จริงที่ไม่ค่อยเคยเห็นองค์กรไหนในพื้นที่แสดงจุดยืนปฏิเสธหรือประณามการใช้ความรุนแรงของกลุ่มก่อความไม่สงบในแง่สาระอย่างจริงจังเลย
ต้องเข้าใจว่าดินแดนแห่งนี้ไม่มีวันสงบสุขอย่างถาวรหากทุกภาคส่วนไม่รวมพลังกันต่อต้านการใช้ความรุนแรงจากทุกฝ่ายในทุกกรณี
ด้วยเหตุนี้จึงมีหลายคนที่อาจจะไม่ได้ติดตามข่าวสารจากชายแดนใต้ชนิดเกาะติดมากนักสอบถามเอากับผมว่า ทำไมเขารณรงค์ต้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯกันแล้ว ถึงไม่รณรงค์ต่อต้านความรุนแรงด้วย เพราะบางคนเกรงว่าจะเป็นการส่งสัญญาณผิด ทำนองว่าไม่เอา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่เอาความรุนแรง หรือให้เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯไปเสีย โดยไม่สนใจว่าในพื้นที่จะมีความรุนแรงเกิดอยู่หรือไม่ ซึ่งผมได้ยินได้ฟังข้อสังเกตดังที่ยกมาเล่าให้ฟังนี้แล้วก็รู้สึกว่าเป็นอันตรายอยู่เหมือนกัน
ก่อนอื่นผมขอชี้แจงในเบื้องต้นว่า ผมเชื่อโดยสุจริตใจว่ากลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวไม่เอา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ไม่ว่าจะรณรงค์ให้เตะ หรือต้าน หรืออะไรก็ตามที) มีเจตนาดีและมีเหตุผลดีๆ อยู่ในใจ ซึ่งผมพอจะอธิบายได้ตามความเข้าใจส่วนตัวดังนี้
- พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯถูกประกาศใช้ในพื้นที่มาหลายปี แต่ก็แก้ปัญหาความรุนแรงไม่ได้ เพราะยังมีความรุนแรงรายวันเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- ความรุนแรง (ไม่ว่าจะเกิดจากฝ่ายใดก็ตาม) ถูกต่อต้านโดยนัยอยู่แล้ว เพราะไม่มีใครต้องการความรุนแรง จึงไม่จำเป็นต้องรณรงค์ต่อต้านความรุนแรง
- กลุ่มที่ไม่เอา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อาจจะมองว่าความรุนแรงส่วนหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการใช้ พ.ร.ก. นั่นคือความรุนแรงโดยรัฐ และเมื่อใช้ พ.ร.ก.ก็ยิ่งทำให้เกิดความรุนแรงสะท้อนกลับ กล่าวคือยิ่งใช้ยิ่งรุนแรง หรือยิ่งใช้ก็ยิ่งละเมิดสิทธิ และจะยิ่งถูกตอบโต้รุนแรงจากฝ่ายที่ถูกละเมิดหรือฉวยโอกาสจากการละเมิดสิทธิมาเป็นเงื่อนไขในการก่อความรุนแรง ฉะนั้นจึงต้องต้าน พ.ร.ก.
แม้ผมจะมีเหตุผลที่ช่วยอธิบายใน 2-3 ประเด็นดังกล่าว แต่ก็ยังมีคำถามค้างคาใจอยู่ดี เพราะต้องไม่ลืมว่าความรุนแรงที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้ เกิดขึ้นก่อนที่รัฐจะประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในกลางปี 2548 โดยหากเริ่มนับความรุนแรงรอบใหม่ตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 ก็เป็นเวลาถึงปีครึ่งที่เป็นช่วงที่ไม่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดย พ.ร.ก. มีแต่ใช้กฎอัยการศึก
ผมเคยรับฟังการอภิปรายแสดงความเห็นจากหลายเวทีทั้งในและนอกพื้นที่ชายแดนใต้ มีบางคนที่คัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พูดเหมือนกับว่า ชายแดนใต้อยู่กันอย่างสงบสุขร่มเย็น จวบจนรัฐบาลส่งทหารลงมาเมื่อปี 2547 และประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในปี 2548 นั่นแหละ จึงมีแต่ความทุกข์ ความรุนแรง และความสูญเสีย
แต่ความจริงเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า ทุกคนก็ทราบดีอยู่แก่ใจ...
และผมเชื่อโดยสุจริตว่าทุกคนเข้าใจดีถึงสภาพการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ว่ามีลักษณะของการก่อการร้าย ไม่ใช่อาชญากรรมธรรมดาทั่วไปที่จะใช้ประมวลกฎหมายอาญาคลี่คลายสถานการณ์ได้
ฉะนั้นไม่ว่าจะรณรงค์คัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ผมก็อยากให้ทัศนะว่า การรณรงค์แบบนี้ต้องระมัดระวังให้มาก เพราะจากเหตุผลที่ยกมาก็มีคำถามเชิงสะท้อนกลับอยู่หลายเรื่อง หลายมุม
เช่น ฝ่ายความมั่นคงอาจจะบอกว่า ก็ขนาดประกาศใช้กฎหมายพิเศษและมีอำนาจพิเศษขนาดนี้ยัง "เอาไม่อยู่" แล้วถ้าไม่ใช้กฎหมายพิเศษเลยจะเอาอยู่ได้อย่างไร?
หรือพี่น้องประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะชาวไทยพุทธ กลุ่มครู หรือกลุ่มผู้สูญเสียจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยกลุ่มก่อความไม่สงบ พวกเขาจะว่าอย่างไรกับการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ฉะนั้นผมจึงคิดว่าเรื่องละเอียดอ่อนแบบนี้ ไม่ควรใช้วิธีรณรงค์อย่างเดียวหรือด้านเดียว แต่ควรเปิดเวทีและสร้างพื้นที่ให้กับประชาชนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงจากสถานการณ์ความไม่สงบบ้าง อาทิ กลุ่มชุมชนไทยพุทธจากบ้านคอกกระบือ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ซึ่งเคยรวมตัวกันไปที่ค่ายสิรินธร ขอร้อง กอ.รมน.ภาค 4 ไม่ให้ถอนทหารออกจากชุมชน หรือพี่น้องประชาชนทุกศาสนาในย่านธุรกิจการค้าในตัวเมืองยะลาที่ถูกวางระเบิดครั้งแล้วครั้งเล่าจนรัฐจ่ายเงินเยียวยาแทบไม่ทัน หรือชุมชนคนไทยเชื้อสายจีนใน อ.เมืองปัตตานี อ.เมืองนราธิวาส รวมทั้งกลุ่มครูที่เรียกร้องให้ฝ่ายความมั่นคงเพิ่มมาตรการความเข้มข้นในการรักษาความปลอดภัยให้กับพวกเขาด้วย ฯลฯ
เพราะความเข้มในการรักษาความปลอดภัยย่อมต้องใช้กำลังพล และการมีหรือใช้กฎหมายพิเศษด้านหนึ่งก็เพื่อให้สามารถระดมกำลังพลจากหน่วยต่างๆ ทั้งตำรวจ ทหาร และพลเรือน ให้มีสถานะเป็น "เจ้าพนักงาน" ในการประกอบกำลังเพื่อปฏิบัติภารกิจคุ้มครองความปลอดภัยได้ ซึ่งอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 พล.อ.พิเชษฐ์ วิสัยจร เคยบอกเอาไว้ว่ามีถึงวันละกว่า 2,600 ภารกิจ
และนั่นก็จะเกิดคำถามที่แหลมคมว่า เมื่อเลิกใช้กฎหมายพิเศษ ให้เหลือแต่กฎหมายธรรมดา ฝ่ายที่จะใช้อำนาจตรวจค้นจับกุมได้ก็เหลือเพียงตำรวจกับศาลเท่านั้น ส่วนทหารจะปฏิบัติการอะไรไม่ได้เลย แล้วกำลังตำรวจที่มีอยู่เพียงพอที่จะรับผิดชอบภารกิจทั้งหมดนั้นหรือไม่?
คำถามเหล่านี้ไม่ว่าจะมีเหตุผลสนับสนุนมากน้อยแค่ไหน หรือใครจะมองว่าเป็นเรื่องของคนส่วนน้อย แต่ก็เป็นคำถามและความเรียกร้องต้องการที่ควรรับฟังมิใช่หรือ
เพราะการพยายามรักษาสิทธิของประชาชนควรมองในภาพกว้าง และคำนึงถึงเสียงส่วนน้อยในพื้นที่ด้วยเช่นกัน
ขณะเดียวกัน ผมก็เห็นว่าฝ่ายความมั่นคงน่าจะปรับบทบาทสื่อสารกับฝ่ายต่างๆ ให้มากขึ้น โดยเฉพาะนำข้อมูลออกมาชี้แจงแถลงไขว่า หลังจากใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มานานกว่า 6 ปีแล้วประสบผลสำเร็จอะไรบ้าง นอกจากผลในภาพรวมว่าเหตุรุนแรงลดลงในแง่ตัวเลข เพราะฝ่ายความมั่นคงน่าจะมีข้อมูลลึกกว่านั้น เช่น ทำให้รับรู้ข้อมูลโครงสร้างกลุ่มก่อความไม่สงบมากขึ้นถึงระดับไหน ข้อมูลดังกล่าวนำไปสู่การจับกุมผู้ก่อความไม่สงบ "ตัวจริง" ที่ศาลพิพากษาลงโทษได้จำนวนเท่าไหร่ และหากไม่มีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ การปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จะเป็นอย่างไร เหล่านี้เป็นต้น
ผมเคยเขียนแสดงทัศนะเอาไว้ในคอลัมน์นี้ โดยอ้างความเห็นของท่านชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรมว่า ทางออกที่ดีที่สุดคือทุกฝ่ายควรมานั่งถกกันว่าจะใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด มากกว่ามุ่งยกเลิกโดยที่มีประชาชนบางกลุ่มยังเรียกร้องต้องการ เพราะความรุนแรงยังคงเกิดขึ้นและดำรงอยู่
ที่สำคัญในข้อเรียกร้องของฝ่ายคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็ไม่ได้บอกว่า ถ้าเลิก พ.ร.ก.แล้ว จะให้รัฐใช้เครื่องมืออะไรแทนในการแก้ไขสถานการณ์ หรือคิดว่ารัฐไม่จำเป็นต้องมีเครื่องมือพิเศษอะไรเลย ถ้าจะเอาอย่างนั้นก็น่าจะพูดกันให้ชัด แล้วลองสอบถามผู้ปฏิบัติ (ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง) เขาด้วยว่าโอเคหรือไม่ เพราะเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายความมั่นคงก็ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง ตายเป็นใบไม้ร่วงแทบทุกวัน
ทหารหลัก ทหารเกณฑ์ที่ปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้มาจากภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน ทุกคนก็เป็นลูกหลานไทย มีพ่อ มีแม่ มีครอบครัวเหมือนกันมิใช่หรือ?
จะว่าไปหากมองในมิติการเมือง ผมคิดว่าไม่มีรัฐบาลชุดไหนอยากใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯหรอก ถ้าเลิกได้เขาคงเลิกไปนานแล้ว เพราะคงไม่มีใครอยากให้ประเทศหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของประเทศตกอยู่ภายใต้ภาวะฉุกเฉินหรือสถานการณ์ความไม่มั่นคง ถ้าเลิกได้เขาคงเลิกทันที แต่คำถามคือทำไมไม่เลิก
เหตุผลก็คงพอมีอยู่ และเหตุผลนั้นก็น่าจะฟังขึ้นอยู่บ้าง เพราะในรัฐบาลประชาธิปัตย์ เข้าใจว่าได้จ้างนักวิชาการในพื้นที่ทำวิจัยว่าควรเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯหรือเปล่า ผลที่ออกมาก็ไม่ได้ฟันธงให้เลิก แต่ให้ปรับการใช้ และผมเข้าใจว่านักวิชาการท่านนี้ปัจจุบันก็อยู่ในกลุ่มที่เรียกร้องให้เลิก พ.ร.ก.ด้วย หรืองานวิจัยชิ้นต่อมาของท่านเปลี่ยนแปลงผลไปแล้วผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน (ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ต้องขออภัย)
อย่างไรก็ตาม ถึงที่สุดแล้วผมเห็นด้วยว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีจุดอ่อนเยอะ และควรปรับการใช้ รวมทั้งควรยกเลิกมาตราที่ป้องกันการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐไม่ให้ต้องรับผิดในทางปกครอง ทั้งยังควรเพิ่มกระบวนการรับผิดชอบต่อประชาชนเข้าไป คือให้รายงานผลการปฏิบัติต่อรัฐสภาและสาธารณชน
แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ผมมีข้อสันนิษฐานทิ้งท้ายว่า ความพยายามให้เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯของบางกลุ่ม (ขอย้ำว่าแค่บางกลุ่มเท่านั้น) น่าจะเป็นการรณรงค์เชิงสัญลักษณ์ที่วางเป้าเอาไว้มากกว่าการเลิกใช้กฎหมายพิเศษเพื่อปกป้องสิทธิของประชาชน แต่น่าจะมีเป้าหมายอยู่ที่การปฏิเสธวิธีการแก้ปัญหาโดยทหาร เพื่อให้หันไปใช้กระบวนการทางการเมืองแทน ซึ่งจุดนี้ผมเห็นด้วยบางส่วน คือเห็นด้วยว่าควรให้น้ำหนักกับการแก้ปัญหาในทางการเมืองมากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่เลิกใช้ปฏิบัติการทางทหารไปเลย เพราะการก่อความรุนแรงประเภทฆ่าตัดคอหรือลอบวางระเบิดโดยไม่สนใจชีวิตผู้บริสุทธิ์ยังมีอยู่
ที่สำคัญ...ประเด็นที่น่าคิดก็คือ กระบวนการทางการเมืองที่ว่านั้นมีการเซ็ต "รูปแบบ" รออยู่แล้วจากบางกลุ่มที่เคลื่อนไหวต่อเนื่องและอ้างเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน แต่ก็เป็น "รูปแบบ" ที่ถูกตั้งคำถามจากหลายฝ่ายเหมือนกันว่าดีจริงหรือไม่ ซึ่งฝั่งเจ้าของรูปแบบเองก็ยังไม่เคยให้คำตอบชัดๆ ในเชิงวิชาการ มีแต่ตอบในเชิงอุดมการณ์และปลุกระดมในท่าทีที่ไม่ค่อยอยากให้มีการตรวจสอบสักเท่าไหร่
นี่ต่างหากคือสิ่งที่น่ากลัวอย่างแท้จริงในความรู้สึกของผม...
กลัวว่าบางส่วนของกระแสรณรงค์นี้จะมุ่งสู่การถ่ายโอนอำนาจจากกลุ่มที่รับผิดชอบปัญหาอยู่เดิม ไปสู่อีกกลุ่มหนึ่งที่ตั้งแท่นรออยู่แล้ว โดยที่สุดท้ายประชาชนก็ได้แต่นั่งมองตาปริบๆ เหมือนเคย!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพประกอบที่ตัดจากภาพสัญลักษณ์รณรงค์คัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม