กรมสุขภาพจิต วอนสื่อนำเสนอข่าวหยุดชี้นำ ลดปัญหาการฆ่าตัวตาย
นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต แนะสังคมไทยมองมิติการฆ่าตัวตายในมุมใหม่ ไม่ใช่กลุ่มคนที่อ่อนแอ หรือแพ้ชีวิต แต่เป็นช่วงชีวิตที่เปราะบาง ชี้หากได้รับการช่วยเหลือจะยืนขึ้นมาได้ วอนสื่อนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตาย ต้องช่วยสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับสังคมด้วย ไม่ชี้นำ จนนำไปสู่การลอกเลียนแบบ หรือเปิดวิธีการ ปมสาเหตุ
วันที่ 28 มีนาคม นายแพทย์ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวในเวที สช.เจาะประเด็นครั้งที่ 1/2559 "ฆ่าตัวตาย สุขภาวะคนไทยบนปากเหว" ณ อาคารสุขภาพแห่งชาติ จังหวัดนนทบุรี ตอนหนึ่งถึงสถานการณ์สุขภาพจิตของคนไทยว่า จากผลการสำรวจความสุขของประเทศต่างๆ ในรายงานความสุขโลก (World Happiness Report) พบว่า รายงานความสุขของประเทศไทยมีลำดับที่ดีขึ้น ตลอดช่วง 4 ปีที่ผ่านมา โดยปี 2558 อยู่ลำดับที่ 34 และล่าสุดปี 2559 อยู่ลำดับที่ 33 แต่ตัวเลขนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า ความสุขจะเท่าเทียมกันหมด เพราะทุกๆ ประเทศ มีทั้งคนมีความสุขมาก และคนที่มีความสุขน้อย
ส่วนอัตราการฆ่าตัวตายนั้น นพ.ประเวช กล่าวถึงค่าเฉลี่ยอัตราการฆ่าตัวตายทั่วโลกนั้นอยู่ที่ 16 คนต่อประชากรแสนคนต่อปี ซึ่งอัตราการฆ่าตัวตายของโลกสูงสุดอยู่ที่ 40 คนต่อประชากรแสนคนต่อปี ซึ่งมักจะอยู่แถบยุโรปตะวันออก
“สำหรับประเทศไทย ค่าเฉลี่ยการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 6 คนต่อประชากรแสนคนต่อปี ซึ่งยังอยู่ในลำดับใกล้เคียงเดิมในปี 2557 อยู่ที่ประมาณ 3,900 คนต่อปี คิดเป็นอันดับที่ 57 ของโลก”นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต กล่าว และว่า ตัวเลขนี้ยังเชื่อถือได้ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะยังมีการปิดบัง ไม่บอกความจริงของญาติจากการทำประกัน
นพ.ประเวศ กล่าวถึงคนที่ป่วยถึงขั้นโรคจิตจริงๆ มีเพียง 1% ของประชากรไทย แต่สำหรับผู้ที่มีปัญหาจิตเวชทั้งหมดที่ครั้งหนึ่งในชีวิตมีโอกาสไม่สบายถึงขั้นทำให้การดำเนินชีวิตเสียไป พบมี 1 ใน 4 ซึ่งเขาเหล่านั้นมีความทุกข์ ความเศร้ามากจนสูญเสียความสามารถในการดำเนินชีวิต โดยต้องการความช่วยเหลือที่เหมาะสม
“ขณะนี้หลายฝ่ายได้ร่วมกันขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 พ.ศ.2554 เรื่อง “สุขใจ...ไม่คิดสั้น” โดยกรมสุขภาพจิตเป็นแกนสำคัญเน้นการบูรณาการทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้การบริการจิตเวชและสุขภาพจิต เป็นบริการหลัก 1 ใน 10 รายการสำคัญของเครือข่ายสถานบริการ เพื่อช่วยขยายการเข้าถึงบริการรักษาโรคจิตเวชในผู้ใหญ่เพิ่มมากขึ้น”
นพ.ประเวศ กล่าวอีกว่า ในอดีตมีกองทุนสุขภาพกองทุนหนึ่ง หากใครทำร้ายตัวเองมา ไม่มีสิทธิในการเบิกค่ารักษาพยาบาล จากนั้นจึงมีการสื่อสารถึงสาเหตุการทำร้ายตัวเอง มีปัจจัยหลากหลายมาก ไม่ใช่แค่การเรียกร้องความเห็นใจ ทัศนะเชิงลบแบบนี้ยังแฝงอยู่ในสังคมไทย และระบบสาธารณสุข
“ ความสุขและสุขภาพจิต มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ แต่ละฝ่ายต้องเปลี่ยนกรอบการมองให้เป็นเรื่องกำลังคน ศักยภาพของประเทศ ซึ่งข้อเสนอของสมัชชาสุขภาพ ได้เสนอให้มีการผลักดันให้อัตราการฆ่าตัวตายของประเทศ เป็นตัวชี้วัดด้านการพัฒนาสังคมระดับชาติด้วย
เรากำลังพูดเรื่องโรคจิตเวชเหมือนกับเป็นโรคๆ เดียว จริงๆมีหลากโรคมาก เช่นเดียวกับโรคมะเร็ง ที่บอกว่าเป็นมะเร็งแล้วต้องตาย แต่การเป็นมะเร็งแต่ละที่ไม่เหมือนกัน บางทีก็อยู่ได้ โรคทางจิตเวชก็เช่นเดียวกันที่บอก เป็นซ้ำ รักษาไม่หายนั้น ส่วนใหญ่คือกลุ่ม 1% ที่ป่วยหนัก ที่เหลือเป็นกลุ่ม 1 ใน 4 ประชากรที่ครั้งหนึ่งมีโอกาสป่วยทางจิต หากวางระบบที่ดี ส่วนใหญ่รักษาหายได้ และเป็นกำลังสำคัญของสังคม เราต้องมีระบบความช่วยเหลือจะป้องกันไม่ให้คนเหล่านั้นวิ่งสู่วงจรทำให้ปัญหาหนักขึ้น” นายแพทย์ประเวช กล่าว และว่า สังคมไทยต้องมองมิติการฆ่าตัวตายในมุมใหม่ ไม่ใช่กลุ่มคนที่อ่อนแอ หรือแพ้ชีวิต แต่เป็นช่วงชีวิตที่เขาอยู่ในสภาวะเปราะบาง หากได้รับการช่วยเหลือจะยืนขึ้นมาได้
นพ.ประเวช กล่าวถึงการนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตายของสื่อด้วยว่า องค์การอนามัยโลกได้ให้ข้อแนะนำ การนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตาย ต้องช่วยสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับสังคมด้วย เช่น การไม่ชี้นำ จนนำไปสู่การลอกเลียนแบบ หรือเปิดวิธีการ ปมสาเหตุการฆ่าตัว ตาย หรือเปิดภาพศพของผู้ตาย เป็นต้น