“อิทธิพลของศาสนากับการกำหนดโทษประหารชีวิต”
"สิ่งที่ผมอยากนำเสนอจากการที่ได้ศึกษาข้อมูลบางส่วนเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ การคงอยู่หรือยกเลิกโทษประหารชีวิตนั้น “ศาสนา” ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่มีอิทธิต่อการกำหนดนโยบายในเรื่องนี้หรือไม่?"
โทษประหารชีวิตยังควรบัญญัติไว้ในกฎหมายหรือควรยกเลิกโทษนี้ได้แล้ว? ประเด็นนี้ถูกหยิบยกขึ้นพิจารณาในเวทีระหว่างประเทศเกือบตลอดระยะเวลา ๗๐ ปีที่ผ่านมา โดยเริ่มตั้งแต่เมื่อมีการพิจารณา The Universal Declaration of Human Rights ในปี ๑๙๔๘ สิ่งที่ผมอยากนำเสนอจากการที่ได้ศึกษาข้อมูลบางส่วนเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ การคงอยู่หรือยกเลิกโทษประหารชีวิตนั้น “ศาสนา” ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่มีอิทธิต่อการกำหนดนโยบายในเรื่องนี้หรือไม่
ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่ามีประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตไปแล้วกว่า ๑๒๐ ประเทศ ประกอบไปด้วยประเทศที่ยกเลิกชัดเจนในตัวบทกฎหมายประมาณ ๗๐ ประเทศ ประเทศที่ยกเลิกการใช้โทษประหารในทางปฏิบัติ ประมาณ ๔๐ ประเทศ และประเทศที่ยกเลิกการใช้โทษประหารกับความผิดทั่วไปอีกประมาณ ๑๐ ประเทศ จากสถิติที่กล่าวมานี้ ประเทศที่มีการยกเลิกโทษประหารชีวิตจะเป็นประเทศที่นับถือศาสนาคริสต์เป็นส่วนใหญ่ เหตุที่ประเทศที่นับถือศาสนาพุทธและอิสลามยังคงมีการกำหนดโทษประหารชีวิตนั้น หลักเกณฑ์หรือคำสอนทางศาสนาจะถือเป็นอิทธิพลต่อการกำหนดกฎหมายในส่วนนี้หรือไม่ จริงๆ แล้วหลักสั้นๆ ในเรื่องนี้ของแต่ละศาสนามีว่าอย่างไร เราลองมาดูกันที่ละศาสนานะครับ
จริงๆ แล้วหลักของ Jewish และ Christian ไม่ได้มีการกำหนดห้ามในเรื่องการลงโทษประหารชีวิตแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังมีหลักฐานที่ยืนยันว่า Hebrew Bible นั้นให้การรับรองโทษประหารชีวิตไว้ด้วย โทษประหารชีวิตถือเป็นโทษที่ถูกนำมาใช้กับผู้กระทำผิดทางอาญามากที่สุดในช่วงระหว่าง 4 BC – 29 AD ในคัมภีร์ Bible โทษประหารชีวิตถูกพิจารณาให้นำมาใช้กับการกระทำผิดในบางประเภทเช่น การข่มขื่น การคบชู้ (adultery) การร่วมประเวณีระหว่างผู้ใกล้ชิดทางพันธุกรรมอย่างมาก (incest) เป็นต้น
จากเหตุผลดั่งที่ยกขึ้นทำให้เห็นได้ว่า การยกเลิกโทษประหารชีวิตที่เกิดขึ้นของกลุ่มสหภาพยุโรปหรือในประเทศที่นับถือคริสตศาสนานั้นไม่ใช่ผลที่มาจากข้อกำหนดในศาสนาแต่อย่างใด จึงทำให้เห็นบางประเทศเช่นสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศที่นับถือศาสนาคริสต์เช่นกันแต่โทษประหารชีวิตยังคงมีการกำหนดในกฎหมายและมีการบังคับใช้อยู่ในหลายรัฐ ดังนั้นปัจจัยอื่นน่าจะมีอิทธิพลเหนือกว่าเหตุผลในทางศาสนาในการกำหนดนโบายเกี่ยวกับโทษประหารชีวิตสำหรับประเทศที่นับถือศาสนาคริสต์
หลักของศาสนาพุทธเรื่องการห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิตน่าจะเป็นหลักใหญ่ที่สำคัญตามคำสอนของพระพุทธเจ้า และจากหลักฐานของการปกครองในประเทศที่ศาสนาพุทธมีความสำคัญในอดีตที่ผ่านมามีการยืนยันว่ามีการบังคับใช้โทษอื่นแทนโทษประหารชีวิต เช่นการให้เนรเทศ (banishment or exile) การปกครองทางตอนกลางของอินเดียในอดีตโทษประหารก็ไม่ได้มีการบังคับใช้ แต่ในสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช โทษประหารชีวิตยังมีการใช้บังคับอยู่
ส่วนประเทศญี่ปุ่นก็เคยมีช่วงเวลาที่โทษประหารชีวิตได้ถูกยกเลิกไปในสมัยของจักรพรรดิ Shomu (724-749 AD) และก็กลับมาใช้อีกจนถึงบัจจุบัน ในขณะที่ในกัมพูชามีการยกเลิกโทษประหารไปตั้งแต่ปี 1993
ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าแม้หลักของพุทธศาสนาจะห้ามการทำลายชีวิต แต่ประเทศโดยส่วนใหญ่ก็ยังคงมีการบังคับใช้โทษประหารชีวิตอยู่ ย่อมแสดงให้เห็นว่าคำสอนในศาสนาพุทธไม่ได้มีอิทธิพลต่อการกำหนดบทลงโทษประหารชีวิตแต่อย่างใด อาจเป็นเพราะพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนจักร ไม่เคยครอบอาณาจักร เหมือนกรณีที่เกิดขึ้นในครั้งเมื่อคริสตศาสนาเคยครอบครองอาณาจักร จนมีการนำกฎหมายศักดิ์สิทธิ์ (divine law) มากำหนดไว้เป็นกฎหมายให้มีการลงโทษ เช่นการคบชู้ในประเทศที่เป็นคริสตศาสนา การกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นการทำความผิดที่มีโทษทางอาญา ซึ่งต่างจากประเทศที่นับถือศาสนาพุทธ ซึ่งแม้จะมีการสอนหลักการห้ามผิดลูกผิดเมียในศีล ๕ แต่การกระทำดังกล่าว ก็ไม่เคยถูกบัญญัติให้เป็นความผิดและต้องรับโทษในทางโลกแต่อย่างใด
สำหรับศาสนาอิสลามน่าจะเป็นศาสนาเดียวในจำนวน ๓ ศาสนาที่มีความชัดเจนที่สุดว่าการกำหนดโทษประหารชีวิตนั้นได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาเต็มๆ เพราะในคัมภีร์อัลกุรอานนั้น แม้จะวางหลักไว้ว่าห้ามฆ่าคนแต่ก็มีการกำหนดข้อยกเว้นไว้ โดยกำหนดว่า “ห้ามฆ่าบุคคลซึ่งพระเจ้าเป็นสร้างเว้นแต่จะได้ผ่านกระบวนที่ชอบด้วยกฎหมาย (due process)” ดังนั้นในเวทีการประชุมสหประชาชาติในหลายต่อหลายครั้ง ประเทศกลุ่มอาหรับหรือประเทศมุสลิมจึงมีการตั้งข้อสังเกตคัดค้านการยกเลิกโทษประหารโดยหยิบยกเหตุผลที่เกิดขึ้นจากหลักศาสนามาประกอบคำคัดค้านดังกล่าว
เหตุผลหลักในเรื่องนี้น่าจะเป็นเพราะว่าอิสลามเป็นศาสนาเพียงศาสนาเดียวที่มีการนำหลักคำสอนในพระคำภีร์อัลกุรอานมาบัญญัติเป็นกฎหมาย หรือที่เราเรียกกันว่า “ระบบกฎหมายศาสนา” ซึ่งมีประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายสูงสุดเพราะการปฏิบัติตามกฎหมายเกิดขึ้นจากความศรัทธาของผู้นับถือศาสนานั้นเอง
ดังนั้น จากคำถามข้างต้นจึงสรุปได้ว่า ศาสนาที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดบทลงโทษประหารชีวิตคงมีเพียงแต่ ศาสนาอิสลามเท่านั้น ส่วนศาสนาคริสต์และพุทธศาสนานั้น ตัวแปรอื่นน่าจะมีอิทธิต่อการกำหนดนโยบายในเรื่องการกำหนดโทษประหารชีวิตมากกว่าหลักคำสอนหรือความเชื่อทางศาสนา
มาร์ค เจริญวงศ์
เด็กติดเกาะในแดนไกล
๒๗ มีนาคม ๒๕๕๙
สำหรับผู้สนใจค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบทความนี้สามารถสืบค้นได้จาก
๑. The Death Penalty: A Worldwide Perspective โดย Roger Hood
๒. Of Compassion and Capital Punishment: A Buddhist Perspective on the Death Penalty โดย Damien P. Horigan
๓. Islam and the Death Penalty โดย William A. Schabas และ
๔. The Death Penalty in Traditional Islamic Law and as Interpreted in Saudi Arabia and Nigeria โดย Elizabeth Peiffer
หมายเหตุ-มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด
ภาพประกอบจาก www.youtube.com