เครือข่ายชุมชนป้อมมหากาฬ ค้านเวนคืนที่ดิน เสนอรัฐจัดการพื้นที่ร่วมกับชุมชน
นักวิชาการสิทธิ ตั้งข้อสังเกต พรก. เวนคืนที่ดินป้อมฯ ไม่ชอบธรรม ทั้งยังละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ด้านเครือข่ายชุมชนป้อมมหากาฬ ยื่นเสนอรัฐ 5 ข้อ จัดการพื้นที่ร่วมกัน ยันชาวบ้านไม่คัดค้านเรื่องสวนสาธารณะ
วันที่ 27 มีนาคม 2559 ที่ลานชุมชนป้อมมหากาฬ เครือข่ายประชาชนชุมชนป้อมมหากาฬ จัดแถลงข่าวแสดงจุดยืน พร้อมทั้งร่วมแลกเปลี่ยนหาแนวทางการจัดการที่ดินในประเด็นเรื่อง “คน โปราณสถาน สวน ผู้บุกรุก กับส่วนร่วม?”
รศ.ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร กล่าวถึงปัญหาการจัดการที่ดินผืนนี้ได้ถูกวิจัยและหารือมาอย่างยาวนาน จนมีการร่วมตกลงว่า จะให้พื้นที่บริเวณนี้เป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง คือนอกจากจะจัดให้มีพิพิธภัณฑ์ชุมชน 4 แห่งแล้ว พื้นที่ทั้งหมด รวมถึงบ้านเรือนของคนในชุมชนก็คือพิพิธภัณฑ์ในตัว นอกจากนี้ยังมีการแบ่งพื้นที่เป็นส่วนสาธารณะอีก 60% ของพื้นที่ทั้งหมด
"เราคิดว่าจะทำอย่างไรให้ทั้งคนและประวัติศาสตร์อยู่ร่วมกันได้ แต่ก็มีเรื่องที่น่าสังเกตว่า ในใบแนบท้ายของ พระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน ฉบับที่ออกมาเมื่อปี 2535 และต่ออายุมาโดยตลอดนั้น กลับพบว่า ยังคงมีการใช้แผนพัฒนาแบบเดิมคือการทำเป็นสวนสาธารณะทั้ง 100% ทั้งที่มีการศึกษาบริบทของพื้นที่อย่างละเอียด และชี้ชัดเเล้วว่า พื้นที่ตรงนี้ไม่เหมาะสมในการสร้างสวนสาธารณะ เพราะเป็นพื้นที่ปิด มีทางเข้าเล็กๆ เพียง 4 ทาง"
สำหรับการแก้ปัญหาในตอนนี้ รศ.ชาตรี กล่าวว่า ครม.ต้องไปแก้ใน พรก.ฉบับนี้ โดยเฉพาะแผนที่ที่จะมีการพัฒนา และทำความเข้าใจชุมชนใหม่ ชุมชนต้องการพื้นที่แค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด พร้อมทั้งยังช่วยดูเเลรักษา แต่วันนี้รัฐไม่ได้มอง รัฐไม่ยอมแก้ตรงนี้ให้ชาวบ้าน ทั้งๆ ที่เรื่องอื่นใหญ่กว่ารัฐกลับสามารถแก้ไขได้ ยกตัวอย่าง การแก้กฎหมายต่างๆ เพื่อการพัฒนาขนาดใหญ่ วันนี้เราอาศัยช่องว่างแก้สิ่งที่ถูกให้เป็นสิ่งที่ผิด แต่ทำไมจะแก้สิ่งที่ผิดอย่าง พรก.นี้ให้ถูกถึงทำไม่ได้
ด้าน ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ อนุกรรมการสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร กสม. กล่าวว่า ชุมชนป้อมมหากาฬคือชุมชนที่อยู่มาตั้งแต่รัชกาลที่ 3 สมัยที่ดินผืนนี้ได้รับพระราชทานมา การจะไล่รื้อบ้านเรือนชาวบ้านตรงนี้ ต่างอะไรจากการก้าวล่วงเจตนารมณ์เดิมของร.3
นอกจากนี้ โครงการรัฐที่บอกจะเข้ามาฟื้นฟูพัฒนา ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าวว่า แต่ประชาชนที่อาศัยอยู่กลับไม่ได้มีส่วนร่วมในการแสดงความเห็น และหากย้อนไปดูการเวนคืนที่ดินที่ผ่านมา ก็พบว่า มีความไม่ชอบธรรมมากมาย รัฐบอกจะจัดหาที่ดินผืนใหม่ให้ แต่ถามว่า ให้ไปอยู่หนองจอก อยู่มีนบุรี ไม่มีระบบสาธารนูปโภคใดๆ รองรับ ทั้งยังไกลออกไปจากวิถีเดิมของชุมชนแบบนั้นใช่แล้วหรือ
"การกระทำที่ผ่านมาเท่ากับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ละเมิดสิทธิของชุมชน การออก พระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน ในปี 2535 ซึ่งในความเป็นจริง พรก.มีอายุแค่ 5 ปี แต่กลับต่ออายุมาเรื่อยจนถึงปัจจุบัน กว่า 20 ปี แบบนี้ไม่ชอบธรรม เพราะ พรก.ออกมาเพื่อจัดการกับสิ่งที่เป็นเรื่องฉุกเฉิน นี่จะ30 ปีเเล้ว เรียกว่าฉุกเฉินได้อีกหรือ"
ส่วน รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม นักโบราณคดี กล่าวว่า ชุมชนแห่งนี้อยู่คู่พระนครมาอย่างยาวนาน สิ่งที่ควรทำคือการรักษาชุมชนเอาไว้ เพราะนี่คือมรดกทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ มาวันนี้ทางกรุงเทพฯ จะเข้ามารื้อ บอกจะเอาไปทำสวน แต่จริงๆ แล้วเป็นแค่การไล่คนเก่าแล้วเอาคนใหม่เข้ามา คนใหม่ที่ว่าคือทุนนั่นเอง หากไม่มีชุมชนแห่งนี้เเล้ว ต่อไปกรุงเทพฯจะไม่มีคนกรุงเทพฯ เหลือ
“ผมอยากเอาผ้าสีดำล้อมกำแพงทั้งหมด เพื่อไว้อาลัย และหากมีการรื้อขึ้นมาจริงๆ คสช.ต้องรับผิดชอบในด้านศีลธรรม”
ส่วนอาจารย์ปฐมฤกษ์ เกตุทัต อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ขณะนี้ชุมชนริมคลองอีกมากมายกำลังจะถูกรื้อออกไป เพราะรัฐมองแค่เรื่องการลงทุน ไม่มีวิสัยทัศน์เรื่องของคน โครงการ 200 ปี กรุงเทพฯ มีโครงการจะรื้อฟื้นประวัติศาสตร์เมืองรัตนโกสินทร์ แต่ดำเนินการโดยไล่คนในพื้นที่ออกไป ถามว่า แบบนี้จะเป็นประวัติศาสตร์แบบไหน
"รอยประวัติศาสตร์อาจอยู่กับอิฐ หิน ดิน ปูน แต่ความทรงจำของเมืองนั้นอยู่กับคน วันนี้เราเปลี่ยนทุกอย่างให้กลายเป็นสินค้า เราไม่เอาชาวบ้าน มัวแต่จะหาเงินเข้ากระเป๋าอย่างเดียว" อาจารย์ปฐมฤกษ์ กล่าว และตั้งคำถามว่า เงินที่ได้จากการท่องเที่ยววันนี้ตกอยู่ในมือใครกันแน่ ระหว่างนายทุนกับชาวบ้าน และจริงๆ อยากถามคนกรุงเทพฯ เหมือนกันว่า ทำไมถึงอดรนทนได้ดีเหลือเกิน ทั้งๆ ที่นโยบายต่างๆ ของรัฐลิดรอนสิทธิมากมาย ยกตัวอย่าง สนามหลวงพื้นที่ที่ควรเป็นของสาธารณะ แต่กลับถูกล้อมรั้วเอาไว้”
สุดท้ายนายพรเทพ บูรณบุรีเดช ตัวแทนชาวบ้านชุมชนป้อมมหากาฬ กล่าวถึงการสร้างสวนสาธารณะชาวชุมชนไม่ได้คัดค้าน แต่อยากให้มีการจัดการพื้นที่ร่วมกัน วันนี้สิ่งที่ชาวบ้านในชุมชนมีข้อเสนอต่อทางกรุงเทพฯมี 5 ข้อ ดังนี้
1.) ชุมชนป้อมมหากาฬจะพัฒนาชุมชนให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ โดยชาวชุมชนจะจัดให้มีตลาดน้ำคลองโ้อ่งอ่าง ร้านจัดจำหน่ายสินค้าฝีมือชาวบ้านในชุมชน ศูนย์ฝึกอาชีพ และการแสดงศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่น
2.) ชาวชุมชนขออาสาดูเเลรักษาความสะอาดสวนสาธารณะ โดยที่ทางกรุงเทพฯจะเป็นฝ่ายสนับสนุนในด้านวัสดุอุปกรณ์
3.) ชุมชนป้อมมหากาฬจะกลายเป็นชุมชนตัวอย่างที่แสดงให้เห้นว่า สามารถอยู่คู่กับสวนสาธารณะ และคูคลองในกรุงเทพฯ ได้
4.) กรุงเทพฯ จะมีรายได้จากการจัดเก้บค่าเช่าที่ดินจากชุมชน
5.)ชาวชุมชนจะมีการจัดตั้งเวรรักษาความปลอดภัยและดูเเลประชาชนที่เข้ามาพักผ่อนทั้งเวลากลางวันกลางคืนตามอำนาจหน้าที่กฎระเบียบที่ได้รับหมอบหมายจากทางกรุงเทพฯ โดยไม่คิดค่าตอบแทนใดๆ