สปสช.ดันหมอคืนถิ่น-5 โครงการสุขภาพตามแนวพระราชดำริ เพื่อคนด้อยโอกาส
สปสช.-สธ.-สภากาชาด ร่วมกับพันธมิตรดัน 5 โครงการสุขภาพ แพทย์ชนบทคืนถิ่นทุรกันดาร ปลูกถ่ายตับเด็ก เปลี่ยนกระจกตาผู้พิการ ป้องกันตาบอดจากเบาหวาน ผ่าตัดกะโหลกศีรษะ
นายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่าเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระชนมายุครบ 84 พรรษา สปสช. ร่วมกับพันธมิตรด้านสุขภาพได้ร่วมกันจัดทำนโยบายพัฒนางานสาธารณสุขตามแนวพระราชดำริ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐาน โดยมีทั้งสิ้น 5 โครงการ
ได้แก่ โครงการผ่าตัดปลูกถ่ายตับในเด็กที่มีภาวะตับวายแต่กำเนิด เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัว โดยในแต่ละปีจะพบว่ามีผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคท่อน้ดีตีบตันแต่กำเนิดประมาณ 60-80 คน จำนวนนี้ 30-40 รายที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายตับ มิเช่นนั้นจะเสียชีวิตภายใน 2 ปี สปสช.จึงเห็นชอบขยายสิทธิประโยชน์ดังกล่าว ตั้งเป้าหมายผู้ป่วยเด็ก 40 คน งบ 40-50 ล้านบาท โดยเริ่มให้บริการได้ตั้งแต่ ต.ค.54 ซึ่งประสานความร่วมมือกับโรงพยาบาลที่ให้บริการได้ 4 แห่ง คือ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ รพ.จุฬาลงกรณ์ รพ.รามาธิบดี และรพ.ศิริราช
โครงการจัดหาและบริการดวงตา โดยความร่วมมือระหว่งกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) สปสช. สำนักงานประกันสังคม กรมบัญชีกลาง กรมประชาสัมพันธ์ องค์การเภสัชกรรม ศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย เริ่มตั้งแต่ปี 2552-2556 เป้าหมายเปลี่ยนกระจกตา 3,700 ดวงตาใน 5ปี เพื่อแก้ไขปัญหาผู้ป่วยกระจกตาพิการ สปสช.สนับสนุนงบ 74 ล้านบาท
โครงการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันภาวะตาบอดจากเบาหวาน สปสช.ร่วมกับสำนักงานปลัด สธ. เพื่อให้ผู้ป่วยเบาหวานได้รับการตรวจหาภาวะแทรกซ้อนทางตา ผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนทางตาได้รับการยิงเลเซอร์ป้องกันภาวะตาบอดจากเบาหวาน โดย สธ.ได้จัดหารถยนต์เคลื่อนที่พร้อมอุปกรณ์ผ่าตัดตาด้วยเลเซอร์ 2 คันจากการพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ของมกูฏราชกุมารและพระชายาแห่งเดนมาร์กร่วมกับมูลนิธิเบาหวานโลก ให้การรักษาผู้ป่วยในถิ่นทุรกันดาร เริ่ม 31 ธ.ค.52-31 ธ.ค.54 รวม 2 ปี มี รพ. 76 แห่งเข้าร่วมโครงการ เป้าหมายคือผู้ป่วยเบาหวานขึ้นจอประสาทตาได้รับบริการยิงเลเซอร์ 9,999 ดวงตา สปสช.สนับสนุนงบ 7.6 ล้านบาท ผลดำเนินงานปี 2553 ได้รับบริการ 3,957 ดวงตา ปี 2554 ได้รับบริการ 3,686 ดวงตา
โครงการผ่าตัดเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะชนิดรุนแรง เป็นการดำเนินงานของศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ซึ่งเป็นศูนย์ทางด้านนี้ครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้การรักษาทั่วประเทศโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เป้าหมาย 150 ราย ตั้งแต่ ม.ค.53-ธ.ค.55 สปสช.สนับสนุนการประชาสัมพันธ์และประสานหน่วยบริการระดับพื้นที่ในการส่งต่อผู้ป่วยเข้ารับบริการ
เลขาธิการ สปสช.ยังกล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีโครงการแพทย์ชนบทคืนถิ่นแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว เป็นความร่วมมือระหว่าง สธ. ราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว สำนักงานทุนการกุศลสมเด็จย่าและทุนการกุศลกัลยาณิวัฒนา ร่วมกับ สปสช. เพื่อผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวให้กระจายอยู่ใน รพ.ทุรกันดารให้เพียงพอ และสืบทอดปณิธานสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีและสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯที่ต้องการให้ประชาชนที่อยู่ห่างไกลเข้าถึงบริการสุขภาพได้ทั่วถึงและเป็นธรรม ตั้งเป้าเพิ่มแพทย์ในชนบท 60 คน (3 รุ่นๆละ 60 คน) ปี 2554 มีผู้ได้รับทุน 6 คน โดยใช้เวลาเรียนและฝึกอบรม 3 ปี สนับสนุนค่าใช้จ่ายไม่เกินรายละ 720,000 บาทใน 3 ปี รวมถึงค่าใช้จ่ายฝึกปฏิบัติงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ
“โครงการทั้งหมดนอกจากเป็นประโยชน์กับประชาชน ยังเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างข้าราชการ หน่วยงานเอกชน และประชาชนเพื่อถวายพระเจ้าอยู่หัวและพระเจ้าพี่นางเธอฯ” เลขาธิการสปสช. กล่าว .