ศุภชัย เจียรวนนท์ ประกาศชัดไม่รับซื้อข้าวโพดจากพื้นที่นอกเอกสารสิทธิ์
ประยงค์ ชี้ชัดปัญหาเขาหัวโล้นเมืองน่าน ไม่ใช่แค่ข้าวโพด แต่เป็นเรื่องที่ดิน แนะรัฐต้องเข้ามาจัดการปัญหาอย่างเป็นธรรม ด้านศุภชัย เจียรวนนท์ ยันตั้งใจช่วยแก้ปัญหา ประกาศชัดไม่รับซื้อข้าวโพดจากพื้นที่นอกเอกสารสิทธิ์
เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2559 ที่รูท การ์เด้น ทองหล่อซอย 3 องค์การอ็อกแฟม ประเทศไทย สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ(มพน.) ร่วมจัดงาน “Cornnaction: คน เขา เรา ข้าวโพด การเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืน"
นายประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรีกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม กล่าวถึปัญหาเขาหัวโล้นที่จังหวัดน่าน ที่คนไทยส่วนใหญ่มองว่า ต้นต่อมาจากข้าวโพดนั้น พบว่า มีการรายงานตัวเลขของพื้นที่ปลูกข้าวโพดในบางสื่อคลาดเคลื่อน เช่นมีการรายงานว่า มีพื้นที่ปลูกข้าวโพดกว่า 1.5 ล้านไร่ ทั้งๆ ที่ในความจริงเจังหวัดน่านมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดเพียง 8 แสนไร่ และยังไม่ใช่การบุกรุกป่าใหม่ แต่เป็นการเปลี่ยนพื้นที่ไร่หมุนเวียนเดิมกลายเป็นไร่ข้าวโพด ดังนั้น ข้าวโพดจึงเป็นเพียงปลายเหตุของปัญหา แต่ที่ช่วงที่ผ่านมาเกษตรโดยเฉพาะคนน่านตกเป็นจำเลยของสังคมไทย
“ผมไม่ได้บอกว่า ปลูกข้าวโพดไม่ดี เพียงแต่การให้ข้อมูลต้องอิงความจริงด้วย” นายประยงค์ กล่าว และว่า ตัวปัญหาจริงๆ คือปัญหาการกระจายที่ดินอย่างไม่เป็นธรรมต่างหากที่ไม่มีใครพูดถึง คำถามที่สังคมไทยต้องตอบในวันนี้คือ คนเราจะมีชีวิตที่ดีได้อย่างไร หากไม่มีที่ทำกิน
นายประยงค์ กล่าวอีกว่า ความสัมพันธ์ของปัญหาเขาหัวโล้นนั้น ประกอบไปด้วยห่วงโซ่ ทั้งหมด 4 ห่วง นั่นคือ 1.) ผู้ค้ากว่า 40 บริษัท โรงงานอาหารสัตว์ 2.) เกษตรกร 3.) พ่อค้าคนกลาง 4.) ผู้บริโภค ฉะนั้นจะเห็นได้ว่า เราทุกคนมีส่วนต่อปัญหานี้ทั้งสิ้น และการที่บริษัทอย่างซีพีออกประกาศว่าจะเลิกรับซื้อข้าวโพดที่ปลูกในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์นั้น ก็ไม่ต่างอะไรจากการลอยแพเกษตรกร ซึ่งจะให้เขาไปทำอะไร เพราะลงทุนไปหมดเเล้ว
“ผมคิดว่าบริษัทอาหารสัตว์ต้องแสดงความจริงใจ เอาความจริงมาพูด ถึงแม้ซีพีจะไม่รับซื้อข้าวโพดที่ปลูกนอกเขตเอกสารสิทธิ์ แต่ปัญหาข้าวโพดก็ใช่ว่าจะจบไป ถ้าวันนี้เราอยากได้ป่ากลับมา ต้องแก้กันที่นโยบายของรัฐ และรัฐต้องจัดสรรให้เกิดความเป็นธรรมกับชุมชนด้วย ส่วนเอกชนต้องไปให้ไกลกว่าการทำโครงการ CSR ”
ด้านนายศุภชัย เจียรวนนท์ รองประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า ในส่วนของซีพี ไม่ได้ปฏิเสธความรับผิดชอบในส่วนนี้ โดยเฉพาะการปลูกข้าวโพดในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ทางบริษัทส่งเสริมและเริ่มปักหมุดว่า พื้นที่ของการปลูกข้าวโพดควรมีขอบเขตแค่ไหน เพียงไม่ให้รุกล้ำไปยังพื้นที่ป่า
"ยอมรับที่ผ่านมาก็ไม่สามารถควบคุมทั้งหมดได้ ขณะที่ในความเป็นจริงเเล้ว ข้าวโพดนั้นไม่เหมาะที่จะปลูกในพื้นที่ลาดชัน วันนี้โจทย์ใหญ่คือเราจะทำอย่างไรให้ชาวบ้านมีชีวิตที่ดีขึ้น ได้รับสิทธิในที่ทำกิน พร้อมทั้งยังได้ดูเเลผืนป่า โดยเอกชนต้องเข้าไปส่งเสริมว่า มีอาชีพหรือทางเลือกอะไรบ้างที่สามารถปลูกในพื้นที่ พร้อมทั้งสร้างมูลค่าที่ดีกว่า"
นายศุภชัย กล่าวถึงสิ่งที่ซีพีกำลังทำคือการส่งเสริมความรู้ให้แก่ชุมชน ทำโครงการส่งเสริมพัฒนากับชุมชน ยอมรับว่า ที่ผ่านมาเราทำพลาด เราซื้อวัตถุดิบมาจากพ่อค้าคนกลาง แต่หลังจากนี้สิ่งที่ทางบริษัทกำลังมองคือความยั่งยืน การผลิตที่รับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การประกาศไม่รับซื้อข้าวโพดจากแหล่งปลูกที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ เป็นต้น
แต่อย่างไรก็ตามก็มีข้อยกเว้นในบางกรณีเช่น หากพื้นที่ดังกล่าวกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงเพื่อการฟื้นฟู เรื่องนี้ต้องร่วมมือกับทางรัฐ และ NGOs เพราะอย่าลืมว่า ความเสียหายเกิดขึ้นเเล้ว วันนี้ทำอย่างไรในทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมกัน และยืนยันว่า จะไม่ลอยแพเกษตรกร
“สิ่งที่ซีพีทำขณะนี้ คือช่วยแก้ปัญหาการปลูกในพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ แต่ในที่สุดรัฐต้องเข้าจัดการในเรื่องนโยบาย ซึ่งปัญหาของชาวบ้านที่พบคือ การขาดองค์ความรู้ การบริหาร การต่อยอดผลิตภัณฑ์ และเรื่องที่ดินทำกิน” นายศุภชัย กล่าว
ด้านนางสาวสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัทป่าสาละ กล่าวถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นต้องประกอบไปด้วยการผลิตที่ยั่งยืน และการบริโภคที่ยั่งยืน ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ต้องอาศัยความรอบคอบและความยุติธรรม ถ้าเราจะเอาแต่ต้นไม้ โดยไม่ได้คิดถึงเรื่องของชาวบ้านก็ไม่ได้ แต่จะสนใจเรื่องคนอย่างเดียวก็ไม่ได้เช่นกัน เพราะทุกอย่างคือฟันเฟืองที่ต้องหมุนไปพร้อมกันทั้งรัฐ เอกชน ชาวบ้าน
"วันนี้สังคมไทยก็ชี้ไปแค่กลุ่มๆ เดียวแล้วบอกว่า ถ้าจัดการตรงนี้ได้ ทุกอย่างจะจบ ในความเป็นจริงไม่ใช่ นโยบายอย่างการทวงคืนผืนป่า คือ สิ่งที่กำลังบอกว่า เอาแต่ป่าแต่ไม่เอาคน แต่สิ่งที่เราอยากเห็นคือการรักษาป่าต้นน้ำ และพัฒนาความเป็นอยู่ของชาวบ้านในพื้นที่ให้เขามีชีวิตสอดคล้องกับวิถีชุมชน" นางสาวสฤณี กล่าว และว่า วันนี้ทำไมชาวบ้านต้องบุกรุกพื้นที่ ก็เพราะยากจน ไม่มีที่ดิน จะชี้หน้าซีพีอย่างเดียวก็ไม่ถูกต้อง ซีพีก็เป็นแค่ห่วงโซหนึ่ง เราไม่สามารถเขียนสมการขึ้นมาง่ายๆ แล้วบอกว่าแก้อย่างนี้เเล้วจบ