ปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 กับความท้าทายของการศึกษาไทย
เศรษฐกิจไทย 40 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์ เพราะเรามี Autopilot คือการส่งออก แต่ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงไป ทรัพยากรขาด คนมีไม่พอ ฉะนั้นปัญหาของไทยที่เศรษฐกิจเติบโตน้อย ส่งออกติดลบ เนื่องจากขาด Autopilot เรากำลังมองหา Autopilot ใหม่ๆ
เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนา 30 ปี วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล รองศาสตราจารย์ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวปาฐกถาเรื่อง "ความท้าทายของการศึกษาไทยในทศวรรษหน้า" ณ ศูนย์ปฏิบัติการโรงแรมศาลายา พาวิลเลียน
ตอนหนึ่งของปาฐกถา รศ.ดร.วรากรณ์ กล่าวถึงสิ่งท้าทายที่จะเกิดขึ้นทศวรรษหน้า ที่ World Economic Forum 2016 ใช้คำว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ถือเป็นการต่อยอดนักวิทยาศาสตร์หลายอย่างเข้าด้วยกัน ทั้งเทคโนโลยีหุ่นยนต์ นาโนเทคโนโลยี โบโอเทคโนโลยี 3D printing
“การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 จะทำให้โลกเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และจะเปลี่ยนแปลงมหาศาลในอีก 10 ปีข้างหน้า ยกตัวอย่าง คนเรียน Marketing รู้เรื่องไอทีบ้างเล็กน้อย ขณะที่คนเรียนไอทีมา เรียน digital ไม่รู้เรื่อง Marketing เลย แต่โลกต้องการ digital marketing ซึ่งไม่เคยมีการสอนมหาวิทยาลัยไหนเลยในประเทศไทย การทำการตลาดบน social media ”
ขณะเดียวกันโลกการทำงาน อดีตรมช.ศธ. ระบุว่า ต้องการคนที่มีทักษะ เช่น ความยืดหยุ่นของความคิด เราไม่รู้งานใหม่ๆที่เกิดขึ้น คืองานอะไร เพราะทุกอย่างผสมผสานกัน ลิงก์กันจนบอกไม่ได้ ฉะนั้นคนที่ความยืดหยุ่นทางความคิด เรียนรู้งานที่แตกต่าง จะเป็นคนที่มีงานทำ แต่สังคมเรายังไม่เกิดขึ้น แต่เชื่อว่า อนาคตอันใกล้จะเกิดขึ้นแน่นอน
“อิทธิพลโลกาภิวัตน์ โลกเชื่อมต่อถึงกันอย่างรวดเร็ว อะไรที่เกิดขึ้นในโลกถึงเรา ดังนั้นเด็กที่เกิดมาใหม่วันนี้ อย่างน้อยต้องรู้ถึง 3 ภาษา คือภาษาตัวเอง ภาษาอังกฤษ และภาษาที่ 3 ทางเลือกที่คนใช้เยอะ ถึงจะไปรอด”
ทั้งนี้ รศ.ดร.วรากรณ์ กล่าวถึงเศรษฐกิจไทย 40 ปีที่ผ่านมาว่า ถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์ เพราะเรามี Autopilot ซึ่งก็คือการส่งออก แต่ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงไป ทรัพยากรขาด คนมีไม่พอ ฉะนั้นปัญหาของไทยที่เศรษฐกิจเติบโตน้อย ส่งออกติดลบ เนื่องจากขาด Autopilot เรากำลังมองหา Autopilot ใหม่ๆ ที่มองไปแล้วไม่ใช่รูปแบบเดิม เช่น ภาคบริการ โรงพยาบาล ภัตตาคาร ร้านอาหาร โรงแรม การท่องเที่ยว Autopilot แบบเดิมไม่ได้แล้ว ต้องมีความหลากหลาย
อดีต รมช.ศธ. ชี้ให้เห็นถึงโครงสร้างประชากรไทย ตั้งแต่ปี 2506-2526 คนไทยเกิดปีละ 1 ล้านคน ผู้หญิงไทยจะมีลูก 6 คน แต่หลังปี 2526 เป็นต้นมา ผู้หญิงไทยมีลูกแค่ 1.6 คน ซึ่งต่อไปประชากรไทยจะต่ำกว่า 67 ล้านคน และจะลดลงไปเรื่อยๆ ตราบใดที่ผู้หญิงไทยยังมีลูกอัตราเท่านี้ และจะส่งผลกระทบต่อแรงงานไทยมีไม่พอ
สำหรับการรับมือความท้าทาย การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 รศ.ดร.วรากรณ์ ชี้ว่า ในระยะสั้น คนไทยต้องมีทักษะในการแก้ไขปัญหา มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ มีวินัย มีสร้างสรรค์ มีทักษะในเจรจาต่อรอง การตัดสินใจ สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ รวมทั้งมีความยืดหยุ่นทางความคิด
“ระยะกลาง ปฏิรูประบบการศึกษา ผลิตกำลังคนให้ตรงกับตลาดแรงงาน เพราะโลกเปลี่ยนแปลง ตลาดแรงงานย่อมเปลี่ยนแปลงไปด้วย ขณะที่บทบาทมหาวิทยาลัย 170 แห่งก็ต้องกลับมาดูแลเรื่องคุณภาพ มากกว่าปริมาณ คนของเราต้องปรับ Mindset เกี่ยวกับอาชีพ ไม่ใช่จบมาด้านใดด้านหนึ่งแล้วต้องทำงานด้านนั้นอย่างเดียว รวมถึงสอนเรื่องความเป็นพลเมือง ยอมรับความแตกต่าง หลากหลาย ขณะที่ระบบสารสนเทศระบบการศึกษาที่ใช้งานได้ รวมไปถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น และมีนวัตกรรมใหม่ๆ”
สุดท้ายความท้าทายของการศึกษาไทยในทศวรรษหน้า รศ.ดร.วรากรณ์ เห็นว่า ประเทศไทย 10 ปีที่ผ่านมา มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเฉลี่ยแค่ 10 เดือน บางปี 3 คน แต่ละคนมีนโยบายที่แตกต่างกัน จึงทำให้นโยบายการศึกษาที่ผ่านมาเปลี่ยนบ่อย ทำให้ครูสับสน แต่ปัจจุบันกำลังมีการนำไปบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ เป้าหมายการศึกษาที่ทุกคนต้องทำตาม เหมือน"วิสัยทัศน์ 2020” หรือ "Vision 2020” ขอมาเลเซีย เบี่ยงเบนไม่ได้