แห่ทำตาม! สัปดาห์สุดท้าย มี.ค. พบสินค้าใช้ตลาดชิงโชคมากถึง 31 รายการ
เปิดมูลค่าทางการตลาดของเครื่องดื่มชาเขียวเติบโตอย่างต่อเนื่อง พุ่งสูงขึ้นถึง 6.5 เท่า หลังใช้กิจกรรมแจกรางวัลเสี่ยงโชค กรรมการกสทช.หวั่นผู้บริโภคซื้อน้ำแถมโรค ด้านนักวิชาการจี้ควบคุมอย่างจริงจัง
ในการประชุมวิชาการเพื่อพัฒนามาตรการกำกับการจัดกิจกรรมการส่งเสริมการขายด้วยวิธีการเสี่ยงโชค โดยมีตัวแทนจากหลายหน่วยงานเพื่อระดมความคิดเห็นในหัวข้อที่ควรกำกับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในตลาดที่กระตุ้นยอดขายด้วยการเสี่ยงโชค เนื่องจากมีข้อกังวลว่าการตลาดในรูปแบบดังกล่าวจะทำให้ผู้บริโภคคือ ประชาชนมีผลกระทบด้านสุขภาพนั้น
นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) กล่าวว่า การจัดกิจกรรมแจกรางวัลด้วยการเสี่ยงโชค มีแนวโน้มที่จะขยายออกไปในหลากหลายผลิตภัณฑ์ แต่ผลิตภัณฑ์ที่กำลังจัดกิจกรรมดังกล่าวอยู่ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม ที่ชูโปรโมชั่นแจกรางวัลด้วยการนำตัวเลขใต้ฝาส่งข้อความชิงโชคผ่านช่องทางต่างๆ และจะเห็นได้มากในช่วงฤดูร้อนของทุกปี ทั้งนี้ การส่งเสริมกิจกรรมส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค เนื่องจากทำให้มีการซื้อและบริโภคจำนวนที่มากขึ้น ส่งผลไปถึงด้านสุขภาพ
“ทุกวันนี้กลายเป็นว่าซื้อน้ำเพราะอยากได้ของรางวัล หรือเรียกอีกย่างว่าซื้อน้ำแถมโรค เพราะคนอยากได้รางวัลก็ซื้อมาบริโภคเยอะจนเกิดโรค ดังนั้น ต้องแยกให้ออกระหว่างของแถมกับเครื่องดื่ม” นพ.ประวิทย์ กล่าว และว่า ดังนั้น ต้องสร้างแนวคิดป้องกันรวมถึงภาคประชาสังคมและกฎหมายต้องมีการกำกับดูแลอย่างชัดเจน ทั้งนี้ ทราบว่ามีการแยกกฎหมายระหว่างการพนัน และพ.ร.บ.การให้รางวัลด้วยการเสี่ยงโชค พ.ศ.... เพื่อควบคุมกิจกรรมเสี่ยงโชคจากผลิตภัณฑ์ แต่ที่ภาคสังคมมีการกังวล คือ การเสี่ยงโชคมีสถานะที่ใกล้เคียงกับการพนัน หรือการออกพ.ร.บ.ฉบับนี้ออกมา จะกลายเป็นการส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมชิงโชคให้มากขึ้นหรือไม่ อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมการขายด้วยการชิงโชคนั้นมีได้ เพียงแต่ว่าต้องมีการควบคุมว่าไม่เป็นการส่งเสริมที่เกินไปจนส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค
ด้านนายพงศ์ธร จันทรัศมี ผู้จัดการศูนย์นโยบายสาธารณะเพื่อลดปัญหาจากการพนัน มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวว่า กรณีเครื่องดื่มชาเขียว 2 ยี่ห้อดังกำลังจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายด้วยการเสี่ยงโชค แข่งขันกัน และจัดต่อเนื่องในทุกๆ ปี เป็นการสร้างความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในตัวผู้บริโภคต่อการบริโภคสินค้า อีกทั้งตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาที่ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ตามข้างต้นใช้การตลาดด้วยวิธีเสี่ยงโชค ส่งผลให้ยอดขายพุ่งสูงขึ้นเป็นอย่างมาก และทุกวันนี้เริ่มมีผลิตภัณฑ์หลายอย่างทำตาม แต่ที่น่ากังวลคือ ปัญหาด้านสุขภาพของผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ควรจะต้องหามาตรการกำกับดูแลการทำกิจกรรมดังกล่าว เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้บริโภค โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน
“ผู้บริโภคไม่ได้สนใจผลิตภัณฑ์ แต่สนใจเรื่องของรางวัลที่ชิงโชคมากกว่า ผลกระทบสำหรับคือเป็นการบ่มเพาะพฤติกรรการพนัน สร้างการหมกมุ่นเพราะบางผลิตภัณฑ์มีการจับรางวัลทุกชั่วโมง และผลกระทบด้านสุขภาพ เนื่องจากเครื่องดื่มกลุ่มนี้มีน้ำตาลเป็นส่วนผสมสูง สวนทางกับการรณรงค์เรื่องการลดบริโภคน้ำตาล แต่การชิงโชคก็กระตุ้นให้บริโภคมากยิ่งขึ้น” นายพงศ์ธร กล่าว
นายพงศ์ธร กล่าวถึงข้อเสนอจากภาคประชาสังคมว่าหากจะมีการจัดกิจกรรมลุ้นรางวัลด้วยการเสี่ยงโชคของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ หากจะเป็นไปในรูปแบบของการคืนกำไรให้ลูกค้า ก็ไม่ควรจัดบ่อยเกินไป แต่สิ่งที่สำคัญคือการใช้กฎหมายเข้ามากำกับกิจกรรม เพื่อให้เกิด ความเป็นธรรม และปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค
ผศ.ศรัณยพงศ์ เที่ยงธรรม นักการตลาด จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า ผลการศึกษาการจัดกิจกรรมด้วยการเสี่ยงโชคพบว่า โดยเฉลี่ยมีการขออนุญาตจัดชิงรางวัลของผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากถึง 48 ครั้งต่อเดือน และเพียงแค่สัปดาห์สุดท้ายของเดือนมีนาคม2559 มีรายการที่ให้ผู้บริโภคชิงโชคมากถึง 31 รายการ หากมองในมุมของผู้บริโภคอาจคิดว่าไม่ได้เสียหาย เนื่องจากก็มีโอกาสได้รับรางวัลจากการเสี่ยงโชค แต่ในมุมของความเสียหายผู้บริโภคมองไม่ถึง คือเป็นการมอมเมา และผลิตภัณฑ์ที่รับประทานหรือดื่มเข้าไปอาจส่งผลไปยังสุขภาพ
ทั้งนี้ แน่นอนว่าการตลาดด้วยวิธีดังกล่าวถือว่าได้ผลเป็นอย่างมาก เพราะทำให้ผู้บริโภคให้ความสนใจและยิ่งจับจ่ายสินค้าหรือผลิตภัณฑ์นั้นๆ แต่หากผู้ประกอบการกระทำการที่ล้ำเส้นของสังคมเกินไป หรืออาจจะไม่สนใจผลเสียที่กระทบต่อผู้บริโภค จุดนี้อาจจะเป็นเเรื่องใหญ่และควรมีการกำกับดูแล
ด้านน.ส.สุลัดดา พงษ์อุทธา แผนงานวิจัยนโยบายอาหารและโภชนาการ เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า ผลิตภัณท์ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพมีหลายอย่างไม่ใช่แค่เพียงเครื่องดื่มอย่างเดียว สินค้าบริโภคในประเทศไทยส่วนใหญ่มีคุณค่าทางโภชนาการไม่เหมาะสม แม้กระทั่งกลุ่มนมซึ่งถือว่าเป็นอาหารที่ให้ประโยชน์ แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นนมที่เติมน้ำตาลทำให้นมจากเดิมเป็นของดีเปลี่ยนไปเป็นของที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่ไม่เหมาะสม ถึง 91 % หรือชาเขียวมีน้ำตาล 14.5 ช้อนชาต่อหนึ่งขวด และนมเปรียว 19 ช้อนชา ขณะที่ตามปกติไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชาหรือ 24 กรัมต่อวัน
แต่จากข้อมูลเมื่อปี 2554 พบว่า คนไทยบริโภคน้ำตาลเฉลี่ย 100 กรัมต่อวัน ทั้งที่คำแนะนำขององค์การอนามัย (who )ระบุว่า กินไม่เกิน 50 กรัม ลดความเสียงจากโรคที่มาจากน้ำตาล คือเบาหวาน ความดัน และโรคหัวใจ ขณะที่กิน 25 กรัม ไม่เสี่ยงโรคเลย
นอกจากนี้ มูลค่าทางการตลาดของเครื่องดื่มรสหวาน พบว่า นับตั้งแต่มีการส่งเสริมการตลาดแบบเสี่ยงโชค มูลค่าการตลาดของชาเขียวเติบโตอย่างต่อเนื่องและพุ่งสูงขึ้นถึง 6.5 เท่า และทำให้คนไทยบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงขึ้นมาก สิ่งเหล่านี้จะทำให้ประเทศเกิดการสูญเสียมหาศาลทั้งคนและเงิน จากเดิมที่มีผู้ป่วยและการตายจากโรคที่เกี่ยวข้องกับการกินน้ำตาลมากจนทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจหลายแสนล้านบาท ปรากฏการณ์นี้จะยิ่งไปซ้ำเติมประเทศไทยให้สูญเสียมากขึ้นไปอีก
"ควรจะมีการควบคุมอย่าจริงจังเกี่ยวกับการส่งเสริมการขายด้วยการชิงโชค เพราะในอนาคตไม่รู้ว่าจะผู้ประกอบการรายใดใช้วิธีนี้แบบนี้ขึ้นมาอีก” น.ส.สุลัดดา กล่าว
ขณะที่ตัวแทนสำนักการสอบสวนและนิติกร กระทรวงมหาดไทย เสนอความคืบหน้าการร่างระเบียบให้รางวัลด้วยการเสี่ยงโชคต่อที่ประชุม โดยระบุว่า ปัจจุบันกฎหมายพนันฉบับที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ รวมถึงร่างพ.ร.บ.การให้รางวัลด้วยการเสี่ยงโชค พ.ศ.... ได้ผ่านกฎษฎีกาแล้ว และล่าสุดได้เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อร่าง สำหรับรายละเอียดต่างๆ ทั้งกฎหมายลูกในการกำกับดูแล หรือกฎกระทรวงที่ใช้ควบคุม สามารถเพิ่มเติมหรือรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เสนอต่อในขั้นกรรมาธิการได้อีก รวมถึงในชั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ด้วย
ที่มาภาพ:ศูนย์ข้อมูลนโยบายสาธารณะการลดปัญหาจากการพนัน