กฤษฎีกาตีความ ป.ป.ช.วืดเอาผิดวินัย ‘อดีตบิ๊ก ทศท.’ แก้สัญญามือถือเอื้อเอไอเอส
ป.ป.ช. วืดเอาผิดทางวินัย ‘สุธรรม มลิลา-โอฬาร เพียรธรรม’ อดีตบิ๊ก ทศท. หลังถูก ป.ป.ช.ฟันผิดวินัยร้ายแรง-มีมูลอาญา ปมแก้สัญญามือถือเอื้อ ‘เอไอเอส’ เหตุกฤษฎีกาตีความ ผู้บริหารไม่มีฐานะเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ-เกษียณอายุนานแล้ว ไม่มีระเบียบเอาผิดได้
จากกรณี เมื่อปลายปี 2557 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดทางวินัย และทางอาญา นายสุธรรม มลิลา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ปัจจุบัน คือ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ นายโอฬาร เพียรธรรม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฯ กรณีแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อใช้เครือข่ายร่วม (Roaming) กับผู้ให้บริการรายอื่น และอนุญาตให้หักค่าใช้จ่ายจากการใช้เครือข่ายร่วม ก่อนนำมาคำนวณส่วนแบ่งรายได้นั้น
(อ่านประกอบ : ป.ป.ช. ฟันเงียบ "อดีตบิ๊กทศท.-พวก" แก้สัญญามือถือเอื้อ "เอไอเอส" 2 คดีรวด )
ต่อมา บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) มีหนังสือถึงคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อหารือ กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด นายสุธรรม และ นายโอฬาร เนื่องจาก ทั้งคู่ได้เกษียณอายุราชการไปแล้ว ประกอบกับนายสุธรรม กระทำผิดในขณะที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ตามสัญญาจ้างตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 ซึ่งตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว กำหนดให้ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจไม่มีฐานะเป็นพนักงานของรัฐวิสาหกิจ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) จึงไม่อาจนำข้อบังคับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ. 2536 ในส่วนที่เกี่ยวกับวินัย และการลงโทษมาดำเนินการต่อนายสุธรรมได้
อีกทั้ง ปัจจุบัน นายสุธรรม และนายโอฬาร ได้เกษียณอายุจากบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ไปนานมากแล้ว และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เพิ่งทราบว่า มีการกระทำผิดทางวินัยเกิดขึ้นภายหลัง ประกอบกับไม่มีหลักเกณฑ์กำหนดให้ลงโทษทางวินัยแก่พนักงานทีเกษียณอายุไปแล้ว
ดังนั้น เพื่อให้การพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับความผิดทางวินัยแก่บุคคลทั้งสอง ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดไปแล้วนั้น เป็นไปด้วยความรอบคอบ จึงขอหารือเกี่ยวกับแนวทางการพิจารณาโทษทางวินัยแก่บุคคลทั้งสอง ว่า บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) มีอำนาจลงโทษทางวินัยแก่บุคคลทั้งสองหรือไม่ และหากมีอำนาจ และพิจารณาแล้วว่ามีความผิดจริง จะสามารถลงโทษย้อนหลังได้หรือไม่ ประการใด
ล่าสุด คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ได้พิจารณาข้อหารือดังกล่าวแล้ว โดยมี ผู้แทนกระทรวงการคลัง (สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ) ผู้แทนสำนักงาน ป.ป.ช. และผู้แทนบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริง
โดย ปัญหาข้อหารือนี้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ส่งสำนวนการสอบสวนกรณีนายสุธรรม และนายโอฬาร ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการ โดย คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติเมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2552 รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณา ต่อมา เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2557 มีมติเป็นเอกฉันท์ชี้มูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และมีมูลความผิดทางอาญาแก่ นายสุธรรม และ นายโอฬาร โดย เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2558 มีหนังสือแจ้งมติคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไปยังบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เพื่อพิจารณาโทษทางวินัยแก่ นายสุธรรม และ นายโอฬาร ส่วนความผิดทางอาญา นั้น ได้ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อดำเนินการฟ้องต่อศาลแล้ว
สำหรับปัญหาข้อหารือนี้ เนื่องจาก มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งของบุคคลทั้งสองแตกต่างกัน จึงเห็นควรพิจารณาให้ความเห็นเป็นรายบุคคล ดังนี้
1.กรณีของนายสุธรรม
ปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายสุธรรม ได้ดำรงตำแหน่งเป็น ผอ.องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ตามสัญญาจ้างผู้บริหาร ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ค. 2543-30 ก.ย. 2545 และคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง เมื่อ 18 ธ.ค. 2557 แต่โดยที่มาตรา 8 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 บัญญัติให้ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจไม่มีฐานะเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ ประกอบกับข้อบังคับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ว่าด้วยการพนักงาน ฯ ก็ไม่ได้กำหนดให้ใช้บังคับกับ ผอ.องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยด้วย ดังนั้น เมื่อนายสุธรรมไม่มีฐานะเป็นพนักงานขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) จึงไม่สามารถนำข้อบังคับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ว่าด้วยการพนักงาน ฯ ซึ่งใช้บังคับกับพนักงานขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย มาใช้ลงโทษทางวินัยแก่ นายสุธรรม ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดได้
2.กรณีของนายโอฬาร
ปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายโอฬาร ได้พ้นจากการเป็นพนักงานขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย เนื่องจาก เกษียณอายุ เมื่อ 1 ต.ค. 2545 ตามคำสั่งบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น ฯ (ขณะนั้น) และคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติเมื่อ 18 ธ.ค. 2557 ชี้มูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง อันเนื่องมาจากการกระทำผิดของนายโอฬาร ในขณะที่เป็นพนักงานองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย โดยมีมติหลังจากที่ นายโอฬาร ได้พ้นจากการเป็นพนักงาน เนื่องจาก เกษียณอายุดังกล่าวแล้ว ซึ่งตามข้อบังคับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศ ว่าด้วยการพนักงาน ฯ มิได้กำหนดให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) สามารถลงโทษทางวินัยแก่พนักงานที่พ้นจากการเป็นพนักงานไปแล้วได้ ด้วยเหตุนี้ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) จึงไม่สามารถนำข้อบังคับดังกล่าวมาใช้ลงโทษทางวินัยแก่ นายโอฬาร ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดได้ (ดูเอกสารประกอบ)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกเหนือจากกรณีถูกกล่าวหาแก้ไขสัญญาอนุญาตให้บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อใช้เครือข่ายร่วม (Roaming) กับผู้ให้บริการรายอื่น และอนุญาตให้หักค่าใช้จ่ายจากการใช้เครือข่ายร่วม ก่อนนำมาคำนวณส่วนแบ่งรายได้แล้ว
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังได้ชี้มูลความผิด นายสุธรรม มลิลา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย บริษัท ทีโอที คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กรณีถูกกล่าวหาแก้ไขสัญญาสัมปทาน (ครั้งที่ 6) เพื่อลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า (Prepaid Card) ให้บริษัท แอด วานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด โดยมิชอบด้วย