เครือข่าย ปชช.ร้องผู้นำไทย-กลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง เร่งจัดการปัญหาเขื่อนจีน
ประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง แถลงเรียกร้องผู้นำไทยและประเทศลุ่มน้ำโขง รีบจัดการปัญหาจีนผูกขาดอำนาจเบ็ดเสร็จเหนือแม่น้ำสากล
สืบเนื่องจาก กรณีที่จีนมีการปล่อยน้ำจากเขื่อนจินฮองในมณฑลยูนาน โดยอ้างว่า ทำไปเพื่อบรรเทาสถานการณ์ภัยแล้งในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง นั้น นายมนตรี จันทวงศ์ ตัวแทนคณะทำงานโครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง กล่าวกับ สำนักข่าวอิศรา ว่า การปล่อยน้ำมาจากจีนไม่ได้เกี่ยวข้องกับการแก้ภัยเเล้งอย่างแน่นอน แต่มองว่า การที่จีนใช้รูปแบบทางการทูตในการประกาศปล่อยน้ำครั้งนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่จีนไม่เคยทำมาก่อน นั้น เพราะต้องการให้การประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่น้ำโขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 1 ที่กำลังเกิดขึ้น นั้น เป็นไปด้วยบรรยากาศที่ดีขึ้น ลดความตึงเครียดจากประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง
ขณะที่ สถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงที่ผิดแผกจากธรรมชาติอันเกิดมาจากสาเหตุการสร้างเขื่อนในจีนกว่า 6 แห่ง นั้น นายมนตรี กล่าวว่า ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเกิดความแปรปรวนไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ซึ่งประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง มีคำที่พูดติดปากเสมอว่า น้ำขึ้น 5 วัน แห้ง 4 วัน แสดงถึงการขึ้นลงของระดับน้ำที่ขัดต่อฤดูกาลทำเกษตรกรรม การประมง และการท่องเที่ยวที่เคยเป็นมา และจากความไม่แน่นอนของระดับน้ำโขง ส่งผลให้ปลาไม่สามารถผสมพันธุ์และวางไข่ได้ ทำลายระบบนิเวศเดิม สร้างความเสียหายอย่างมากตลอด 20 ปีที่ผ่านมา
“การจะแก้ปัญหาเรื่องนี้คงต้องทำในระดับการทูต ต้องมีการกำหนดกติกา ให้ชัดเจนว่า การปล่อยน้ำแบบไหนจะไม่ส่งผลกระทบต่อคนด้านล่าง เพราะที่ผ่านมา จีนเป็นคนคิดเองเออเอง ประเทศด้านล่างไม่ได้มีส่วนรู้เห็น” นายมนตรี กล่าว
ทั้งนี้ ทางเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้มีการออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ผู้นำของไทย และผู้นำในประเทศลุ่มน้ำโขง เร่งดำเนินการ 4 ประเด็น ดังนี้
1.ยอมรับ และนำปัญหาที่เกิดขึ้นจากการผูกขาดอำนาจเบ็ดเสร็จในการจัดการแม่น้ำโขงด้วยเขื่อนตอนบนของจีน มาตลอดหลายปี ขึ้นมาพิจารณาอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะปัญหาข้ามพรมแดน อันเกิดจากการใช้งานเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้า และระบายน้ำเพื่อการเดินเรือของจีน โดย ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศ และการใช้แม่น้ำโขงของชุมชนคนตัวเล็กตัวน้อย ที่อาศัยอยู่ในประเทศท้ายน้ำ
2.ร่วมหาทางแก้ไขบรรเทาผลกระทบข้ามพรมแดนที่เกิดขึ้นทันที และเยียวยาความเสียหายที่ผ่านมา ทั้งภาวะน้ำท่วมฉับพลัน อันเกิดจากการปล่อยน้ำของเขื่อน และภาวะน้ำแห้ง เพราะเขื่อนหยุดระบายน้ำในช่วงที่มีการปรับปรุงร่องน้ำ (ระเบิดแก่ง) ในการเดินเรือ เป็นต้น
3.หยุดและชะลอการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงตอนล่าง ที่กำลังเดินหน้าไปอย่างขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนที่พึ่งพาแม่น้ำโขงอย่างแท้จริง เพื่อป้องกันผลกระทบร้ายแรงต่อระบบนิเวศ และสังคมต่อประชาชนในเขตท้ายน้ำ
4.สร้างกลไกในการบริหารจัดการแม่น้ำโขงอย่างรับผิดชอบและมีส่วนร่วม ร่วมกันทั้ง 6 ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งเป็นผู้ที่เดือดร้อนโดยตรง
ขอบคูณภาพประกอบจาก โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง