มองอีกมุม: กรณีที่ดินปอเนาะญิฮาด กับคำถามเรื่อง "วะกัฟ"
อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้ และผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ อ.จะนะ จ.สงขลา เขียนบทความแสดงทัศนะเกี่ยวกับที่ดินปอเนาะญิฮาด ที่ถูกคำสั่งศาลแพ่งให้ยึดตกเป็นของแผ่นดิน เอาไว้อย่างน่าสนใจ
ประเด็นนี้เป็นประเด็นทางความรู้สึกของคนในพื้นที่ และยังมีความเข้าใจที่ไม่ตรงกันเรื่องการเป็นที่ดินหรือทรัพย์สิน “วะกัฟ”
บทความของ อาจารย์อับดุลสุโก ระบุว่า สำนักข่าวอิศราได้รายงานส่วนหนึ่งกรณีที่ดินปอเนาะญีฮาด โดยอ้างคำกล่าวของ บัลยาน แวมะนอ ลูกชายอดีตครูใหญ่ของโรงเรียน คือ ดูนเลาะ แวมะนอ ว่าที่ดินเป็นของครอบครัว แต่โรงเรียนเป็นของชุมชน
“เราบอกตลอดว่าที่ดินเป็นของครอบครัว แต่สมบัติและทรัพย์สินบนที่ดินทั้ง 14 ไร่ เป็นการบริจาค (วะกัฟ) ของชาวบ้านและชุมชนในพื้นที่ เรื่องอุทธรณ์จึงเป็นวาระของคนในพื้นที่ ทางศิษย์เก่าได้ไปรวมกลุ่มและร่วมพูดคุยกับทางชุมชนเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดร่วมกัน แต่จะเป็นอย่างไรต้องยอมรับสภาพที่เป็นไปตามกฏหมาย”
(หมายเหตุจากกองบรรณาธิการ : ข้อความตามอ้างจากบทความในเว็บไซต์ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา เผยแพร่เมื่อ 2 ก.พ.2559 แต่ข้อเท็จจริง ณ ปัจจุบัน คือ ครอบครัวไม่ยื่นอุทธรณ์คดี ทำให้คดีสิ้นสุดแล้ว)
จากคำสัมภาษณ์ของ นายบัลยาน สรุปได้ว่า ทรัพย์สิน เช่น อาคารเรียน และอื่นๆ อันเป็นทรัพย์สินสาธารณะหรือวะกัฟตามทัศนะอิสลาม ก็จะต้องเป็นของชุมชน เพราะชุมชนบริจาคให้
แต่คำถามก็คือ ทรัพย์สินเหล่านั้นเคยทำนิติกรรมตามหลักศาสนาอิสลามและกฎหมายไทยหรือไม่ว่าเป็นของส่วนรวมหรือสาธารณประโยชน์ หรือวะกัฟ
คำว่า "วะกัฟ" เป็นคำภาษาอาหรับ หมายถึงการบริจาคเพื่อสาธารณกุศล ตามนิยามวิชาการหมายถึงการจำกัดกรอบตัวทรัพย์แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และอุทิศผลประโยชน์ของมันให้ โดยหวังผลบุญจากอัลลอฮ์ผู้อภิบาลแห่งสากลโลก (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในหลักการอิสลามว่าด้วย“วะกัฟ” กับข้อท้าทายของปอเนาะและโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม http://www.deepsouthwatch.org/dsj/8196)
สิ่งที่ท้าทายไม่ใช่ที่ปอเนาะญิฮาดอย่างเดียว (สังคมไม่กล้าพูด) เพราะจะเห็นได้ว่าในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การวะกัฟนั้นจะมีการจัดงานขอบริจาคมากในปอเนาะและโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม หรือสถาบันสอนศาสนาอิสลาม (แต่ไม่ทุกสถาบัน) ด้วยเหตุผลเพื่อพัฒนาการศึกษา การขอรับบริจาคอาจซื้อที่ดิน สร้างอาคาร หรืออื่นๆ ที่เข้าในเงื่อนไขการวะกัฟ แต่พบว่าหลายแห่งทรัพย์การวะกัฟมิได้ถูกจดทะเบียนเป็นของกลาง แต่ใส่ชื่อบุคคล
หลายกรณีเคยนำทรัพย์เหล่านี้กู้เงินในธนาคาร และไม่สามารถไถ่ถอนได้ หลายที่ก็สามารถผ่อนได้ หลายกรณีผู้ครอบครองนำใช้ทั้งส่วนตัวและส่วนรวม เงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนใช้เพื่อพัฒนาการบริหารโรงเรียน ในขณะที่บางท่านนำใช้ส่วนตัว
ตามทัศนะผู้เขียน ทรัพย์สินวะกัฟต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้บริจาค ในขณะเดียวกันต้องระบุชัดเจน โดยเฉพาะที่ดิน ให้จดทะเบียนภายใต้มูลนิธิ หรือทรัพย์สินอื่นๆ ที่เขาวะกัฟ ก็ให้ระบุชัดเจนเพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในแง่กฎหมายไทย ส่วนกฎหมายพระเจ้านั้นท่านก็ต้องตอบต่อพระเจ้าเอาเอง
อีกข้อเสนอแนะหนึ่ง ควรจัดประชุมเชิงวิชาการด้านกฎหมายอิสลามและกฎหมายไทยว่าจะทำอย่างไรในการบริหารทรัพย์สินเหล่านี้ให้เป็นของสาธารณะจริงๆ มิฉะนั้นประชาชน และชุมชนนั้นแหละจะถูกอธรรมโดยไม่ตั้งใจ
หนึ่งในความผิด บาปอันใหญ่หลวง ที่อัลลอฮ์ทรงสั่งห้ามบ่าวของพระองค์ ซึ่งมีบทลงโทษร้ายแรง ทั้งในโลกนี้ และโลกหน้า ก็คือการอธรรม ดังคำกล่าวของพระองค์ที่ได้ตรัสไว้ในคัมภีร์อัลกุรอาน เช่น
ความว่า “และเจ้าอย่าคิดว่า อัลลอฮฺทรงละเลยต่อสิ่งที่พวกอธรรมปฏิบัติ แท้จริงพระองค์ทรงประวิงเวลาให้พวกเขา จนถึงวันที่สายตาเงย จ้องไม่กระพริบ (วันปรโลก)” (อิบรอฮีม: 42)
อัลลอฮฺได้ตรัสอีกความว่า “ดังนั้น นั่นคือบ้านของพวกเขาที่ว่างเปล่า ทั้งนี้ เพราะพวกเขาอธรรม แท้จริงในการนี้ ย่อมเป็นสัญญาณหนึ่งอย่างแน่นอนสำหรับหมู่ชนที่รู้” (อันนัมลฺ : 52)
อัลลอฮฺได้ตรัสอีกความว่า “และพวกเจ้าจงอย่าโกงกินทรัพย์สินระหว่างพวกเจ้าโดยมิชอบ” (อัลบากอเราะฮฺ : 188)
ท่านศาสนทูตมุฮัมมัดได้รายงานจากพระผู้อภิบาลของท่าน พระองค์ตรัสว่า “โอ้ปวงบ่าวของข้า แท้จริงข้าได้สั่งห้ามการอธรรมต่อตัวข้า และข้าได้สั่งห้ามการอธรรมระหว่างพวกเจ้า ดังนั้นพวกเจ้าจงอย่าอธรรมต่อกัน” (บันทึกโดยมุสลิม: 2577)
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ : "ที่ดินของครอบครัว แต่รร.เป็นของชุมชน" จุดยืนก่อนอุทธรณ์คดีปอเนาะญิฮาด