คำถามถึง ก.ล.ต."แจสโมบาย"ถูกยึดเงิน 644ล้าน ฝ่าฝืน พ.ร.บ.หลักทรัพย์หรือไม่?
การเจรจาเพื่อให้นักลงทุนต่างประเทศมาลงทุนในระดับแสนล้านบาท ต้องมีการเตรียมการเจรจามานานหลายเดือนก่อนการประมูลหรือไม่ มิใช่อยู่ดีๆมาเจรจาหลังชนะการประมูล...
นอกจากถูกยึดเงินค้ำประกันการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz 644 ล้านบาทแล้ว บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ (JASMBB)ยังอาจถูกสำนักงานคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)เรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายต่างๆเพิ่มเติมกรณีที่ไม่สามารถนำเงินประมูลงวดแรกจำนวน 8,040 ล้านบาทและหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงิน 72,000 ล้านบาทชำระให้แก่สำนักงาน กสทช.ได้ภายในวันที่ 21 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา อีกด้วย
แม้บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด(มหาชน)ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ บริษัท แจสโมบาย ได้แจ้งตลาดหลักทรัพยแห่งประเทศไทยว่า ที่ปรึกษากฎหมายของบริษัทให้ความเห็นว่า แจสโมบายต้องถูกริบเงินประกันการประมูล 644 ล้านบาทเท่านั้นซึ่งไม่มีผลกระทบต่องบการเงินของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ
แต่คำถามที่เกิดขึ้นคือ การที่จัสมินฯต้องเสียหายสูงถึง 644 ล้านบาทจากกรณีดังกล่าว สมควรหรือไม่ ผู้บริหารได้ใช้ความระมัดระวังในการดำเนินการเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน และมีพฤติการณ์เป็นไปโดยสุจริตหรือไม่?
และที่สำคัญพฤติการณ์และการกระทำของผู้บริหารบริษัทเข้าข่ายฝ่าฝืนพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 หรือไม่?
เพราะตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯนั้น กรรมการและผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ และระมัดระวังเยี่ยงวิญญูชน มิให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท ดังนั้นจึงมีบทบัญญัติ เรื่องนี้ไว้ในมาตรา 281/2 ที่ระบุว่า
" กรรมการหรือผู้บริหารบริษัทผู้ใดไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต ตามมาตรา 89/7 จนเป็นเหตุให้บริษัทได้รับความเสียหายหรือทำให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์จากการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ต้องระวางโทษปรับไม่เกินจำนวนค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหรือประโยชน์ที่ได้รับ แต่ทั้งนี้ ค่าปรับดังกล่าวต้องไม่ต่ำกว่าห้าแสนบาท
"ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งได้กระทำโดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหรือประโยชน์ที่ได้รับ แต่ทั้งนี้ ค่าปรับดังกล่าวต้องไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
จากบทบัญญัติดังกล่าวสามารถแบ่งประเด็นการพิจารณาออกเป็น
1.กรรมการและผู้บริหารของจัสมิน ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริตตามมาตรา 89/7หรือไม่?
2.บริษัทได้รับความเสียหายหรือทำให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์หรือไม่?
3.ถ้าเป็นการกระทำโดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหรือประโยชน์ที่ได้รับ( 1,288 ล้านบาทสองเท่าของ 644 ล้านบาท)
ในประเด็น ข้อ 2. แน่นอนว่า บริษัทจัสมินฯได้รับความเสียหายเบื้องต้นถึง 644 ล้านบาทเพราะถูก กสทช.ยึดเงินประกัน จึงต้องมาพิจารณาว่า กรรมการหรือผู้บริหารบริษัทได้ใช้ความรอบคอบ ระมัดระวังหรือไม่
หนึ่ง จากข้อมูลที่ปรากฏในสื่อมวลชน นายเดชา ตุลานันท์ รองประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพยอมรับว่า แจสโมบายขอวงเงินกู้ไว้ 40,000 ล้านบาท ก่อนการประมูล แต่เสนอราคาประมูลสูงถึง 75,000 ล้านบาท โดยไม่มีแผนธุรกิจและแผนการเงินรองรับถึงรายได้ในอนาคต ทางธนาคารจึงขอให้แจสโมบายนำเสนอแผนธุรกิจเข้ามาใหม่ แต่ในที่สุดธนาคารกรุงเทพก็มิได้ปล่อยเงินกู้หรือค้ำประกันให้แก่แจสโมบาย
เป็นไปได้อย่างไรว่า การทำธุรกิจที่ต้องลงทุนนับแสนล้านบาท(ค่าใบอนุญาต 75,000 ล้านบาท ยังไม่รวมโครงข่ายอีกหลายหมื่นล้านบาท) ไม่มีแผนธุรกิจที่ชัดเจน จนสถาบันการเงินไม่ยอมปล่อยกู้และค้ำประกัน แต่กรรมการและผู้บริหารบริษัทกลับเสี่ยงที่จะเสนอราคาประมูลสูงกว่าวงเงินที่ได้รับเกือบ 2 เท่าตัว
สอง จากคำชี้แจงของนายพิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทจัสมินฯต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอ้างว่า มีการเจรจากับผู้ลงทุนในประเทศจีน แต่เนื่องจากผู้ประกอบการรายใหญ่ของจีน(ซึ่งสนใจร่วมลงทุนในแจสโมบายและได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารพาณิชย์แห่งใหญ่ของประเทศจีน)ติดข้อจำกัดในเรื่องของระยะเวลาการขออนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องของประเทศจีนซึ่งคาดว่า จะแล้วเสร็จประมาณกลางเดือนเมาษยน 2559 จนไม่ทันเงื่อนไขที่ กสทช.กำหนดไว้ 90 วันหลังการประมูล
คำถามคือ การเจรจาเพื่อให้นักลงทุนต่างประเทศมาลงทุนในระดับแสนล้านบาท ต้องมีการเตรียมการเจรจามานานหลายเดือนก่อนการประมูลหรือไม่ มิใช่อยู่ดีๆมาเจรจาหลังชนะการประมูล ดังนั้น ต้องพิจารณาด้วยว่า มีการเริ่มเจรจาตั้งแต่เมื่อใด มีความตั้งใจจริงแค่ไหน
สาม ต้องพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ประกอบที่อาจเป็นการพิสูจน์ว่า มีผู้ได้รับประโยชน์จากการกระทำดังกล่าวหรือไม่ ขณะที่บริษัทได้รับความเสียหาย เช่น พฤติกรรมการเสนอราคาหรือเคาะราคาประมูลที่มีกระแสข่าวว่า แจสโมบายเคาะราคาทับราคาตัวเองจนทำให้ราคาสูงโด่งจนถึง 75,654 ล้านบาท
ขณะที่แจสโบมาย ต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาลในการลงทุน แต่คณะกรรมการบริษัท จัสมินฯกลับมีมติเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2559 ให้จ่ายเงินปันผลเพิ่มเติมแก่ผู้ถือหุ้น ในอัตราหุ้นละ 0.30 บาท เป็นเงินประมาณ 2,140 ล้านบาท และมีมติเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2559 ให้ใช้เงินของบริษัทซื้อหุ้นคืนจากผู้ถือหุ้นรายย่อยในราคาหุ้นละ 5 บาท เป็นเงิน 6,000 ล้่านบาท รวมเป็นเงินถึง 8,140 ล้านบาท (มากกว่า เงินที่ต้องจ่ายงวดแรกให้ กสทช.8,040 ล้านบาท)
อะไรคือแรงจูงใจให้คณะกรรมการบริษัท จัสมินฯมีมติที่ต้องใช้เงินกว่า 8,140 ล้านบาทไปในด้านอื่นๆ ยามที่บริษัทต้องใช้เม็ดเงินมหาศาลในการลงทุน การตัดสินใจดังกล่าวเกี่ยวข้องราคาหุ้นของบริษัทืหรือไม่ อย่างไร ถ้าใช่ ใครเป็นผู้ได้รับประโยชน์?
เพื่อให้เห็นภาพว่า กรรมการและผู้บริหารบริษัทต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต หมายถึงอะไรนั้น ใน พ.ร.บ.หลักทรัพย์ได้อธิบายเรื่องนี้ไว้ในบทบัญญัติต่างๆดังนี้
มาตรา 89/7 ระบุว่า "ในการดำเนินกิจการของบริษัท กรรมการและผู้บริหารต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต รวมทั้งต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ ข้อบังคับของบริษัท และมติคณะกรรมการ ตลอดจนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น"
มาตรา 89/8 ในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบและความระมัดระวัง กรรมการและผู้บริหารต้องกระทำเยี่ยงวิญญูชนผู้ประกอบธุรกิจเช่นนั้นจะพึงกระทำภายใต้สถานการณ์อย่างเดียวกัน
การใดที่กรรมการหรือผู้บริหารพิสูจน์ได้ว่า ณ เวลาที่พิจารณาเรื่องดังกล่าว การตัดสินใจของตนมีลักษณะครบถ้วนดังต่อไปนี้ ให้ถือว่ากรรมการหรือผู้บริหารผู้นั้นได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบและความระมัดระวังตามวรรคหนึ่งแล้ว
(1) การตัดสินใจได้กระทำไปด้วยความเชื่อโดยสุจริตและสมเหตุสมผลว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทเป็นสำคัญ
(2) การตัดสินใจได้กระทำบนพื้นฐานข้อมูลที่เชื่อโดยสุจริตว่าเพียงพอ และ
(3) การตัดสินใจได้กระทำไปโดยตนไม่มีส่วนได้เสีย ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในเรื่องที่ตัดสินใจนั้น
มาตรา 89/9 ในการพิจารณาว่ากรรมการหรือผู้บริหารแต่ละคนได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบและความระมัดระวังหรือไม่ ให้คำนึงถึงปัจจัยดังต่อไปนี้ด้วย
(1) ตำแหน่งในบริษัทที่บุคคลดังกล่าวดำรงอยู่ ณ เวลานั้น
(2) ขอบเขตความรับผิดชอบของตำแหน่งในบริษัทของบุคคลดังกล่าวตามที่กำหนดโดยกฎหมายหรือตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ และ
(3) คุณสมบัติ ความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ รวมทั้งวัตถุประสงค์ของการแต่งตั้ง
มาตรา 89/10 ในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต กรรมการและผู้บริหารต้อง
(1) กระทำการโดยสุจริตเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทเป็นสำคัญ
(2) กระทำการที่มีจุดมุ่งหมายโดยชอบและเหมาะสม และ
(3) ไม่กระทำการใดอันเป็นการขัดหรือแย้งกับประโยชน์ของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ
จากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายทั้งหมดนี้ จึงมีคำถามต่อสำนักงาน ก.ล.ต.ว่า ควรเข้ามาตรวจสอบกรณีดังกล่าวด้วยหรือไม่ เพื่อให้การดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีความโปร่งใสและเกิดความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนในระยะยาวต่อไป
(อ่านประกอบ:ชะตากรรม"แจสโมบาย"จะโดนแค่คดีแพ่ง หรือพ่วงคดีอาญา?)