ร่าง รธน.ฉบับมีชัยกับการต่อต้านคอร์รัปชัน จริงใจหรือไก่กา
องค์กรต้านโกง จัดเสวนารวบรวมข้อเสนอเเนะถึง กรธ. หวังเเก้ไข เพิ่มเติม ร่าง รธน. เนื้อหาประเด็นคอร์รัปชัน 'ประมนต์' ชี้เป็นฉบับดีที่สุดต้านทุจริต โดยเฉพาะการเมือง ด้าน นพ.ชูชัย เสนอผู้สมัครการเมืองเปิดภาษีเงินได้ย้อนหลัง
270 มาตรา ในร่างรัฐธรรมนูญ (รธน.) ฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งกำลังจะมีการพิจารณาครั้งสุดท้ายในวันที่ 29 มี.ค.2559 ก่อนลงประชามตินั้น
ในจำนวนนี้ มีกรอบเนื้อหาที่เกี่ยวโยงกับการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน 44 มาตรา ครอบคลุม 4 หมวด ได้แก่
1.การส่งเสริมภาคประชาชน
2.การป้องกันคอร์รัปชันในระบบราชการ
3.สร้างการเมืองที่ใสสะอาด
4.สร้างความเข้มแข็งและบูรณาการกระบวนการยุติธรรม
ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ร่าง รธน.ฉบับนี้ยังมีช่องโหว่ โดยเฉพาะประเด็น การต่อสู้กับการทุจริต ฉะนั้นเพื่อต้องการเห็นอนาคตของประเทศที่สดใส องค์การต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้จัดเวที "รัฐธรรมนูญฉบับใหม่กับการต่อต้านคอร์รัปชัน จริงใจหรือไก่กา" เพื่อวิพากษ์และเสนอแนะไปยังคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ณ ห้องรอยัล มณียา โรงแรมเรเนซองส์ กรุงเทพฯ
ในเวทีนี้มีบุคคลผู้มีบทบาทในการขับเคลื่อนเรื่องคอร์รัปชั่นร่วมหารือ นำโดย พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ, นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ อดีตรองประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และนายบดินทร์ อัศวาณิชย์ รองประธานอาวุโส สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
“ร่าง รธน.ฉบับนี้ดีที่สุด ในเรื่องการป้องกันปราบปรามคอร์รัปชัน” นายประมนต์ ระบุชัด
พร้อมกับมองว่า โดยเฉพาะประเด็น ‘สร้างการเมืองที่ใสสะอาด’ ซึ่งมีความเข้มข้นมากได้เขียนไว้ถึง 18 มาตรา มีเนื้อหาสำคัญจำกัดคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หากเข้าข่ายเป็นบุคคลล้มละลาย ต้องคำพิพากษา หรือถูกพักราชการ อันเนื่องจากการทุจริต จะถูกตัดสิทธิตลอดชีวิต
นอกจากนี้ รัฐมนตรีหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ต้องคำพิพากษา แม้คดีไม่สิ้นสุด หรือรอลงอาญา ต้องพ้นจากตำแหน่งทันที
รวมถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องรับผิดชอบร่วมกัน กรณีผิดวินัยทางการเงินการคลัง ดังเช่น โครงการรับจำนำข้าว ซึ่งในอดีตไม่มีการกำหนดเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ร่าง รธน. มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ เสนอเพิ่มเติมให้เกิดการทำงานในกระบวนการยุติธรรมอย่างบูรณาการ โดยควรจัดตั้งศูนย์ประสานงาน ให้ ป.ป.ช.เป็นแกนหลัก เพื่อประสานการทำงานกับหน่วยงานต่าง ๆ แก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ตั้งแต่ตำรวจ อัยการ องค์กรอิสระ และศาล
ขณะที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวเนื่องมีหลายประเด็นต้องปรับปรุง ทำให้ ป.ป.ช. มีความคล่องตัว รวดเร็ว เกิดประสิทธิภาพ เพราะที่ผ่านมาล่าช้า ประชาชนไม่รับรู้ว่า สิ่งที่กำลังดำเนินการมีความคืบหน้าอย่างไร รวมถึงต้องเกิดความอิสระ สามารถตรวจสอบทุกคนได้ แม้กระทั่งนายกรัฐมนตรี
นายประมนต์ ระบุถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นอีกเรื่องหนึ่งต้องให้ความสนใจ เพราะงบประมาณที่ลงไปในพื้นที่มีจำนวนมาก และเกิดการคอร์รัปชันสูง เพราะฉะนั้นมาตรการป้องกันหรือกำราบ อปท. ให้เกิดการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ จึงอยากให้เขียนไว้ใน รธน.ด้วย
ขณะนี้ยังไม่มีเนื้อหาส่วนนี้
“อะไรก็ตามที่เราทำ ไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านคอร์รัปชัน หรือเรื่องใด ๆ ก็ตาม ต้องมาจากผู้นำของประเทศ และกระบวนการต่อต้านการทุจริต ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายเหล่านี้เลย หากมีความจริงจัง และทำอย่างต่อเนื่อง ปัญหาของไทยจะลดลงมาก ฉะนั้น รธน.ต้องมีวิธีการทำให้ผู้นำประเทศสำนึกเรื่องนี้ ให้มีความรับผิดชอบ และความละอาย หากไม่ทำ ต้องพิจารณาตนเอง อย่าให้คนอื่นไล่ออก” ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ เน้นหนัก
ด้าน นพ.ชูชัย เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่ ติ...ติง...เติม...เสริม ร่าง รธน. ประเด็นสำคัญที่ฉบับมีชัยไม่มี คือ ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องยื่นสำเนาเอกสารการแสดงภาษีเงินได้ย้อนหลัง 3 ปี นอกเหนือจากบัญชีทรัพย์สิน
เขาเชื่อว่า จะมีคนจำนวนไม่น้อยอาจถอย เพราะหากแจ้งเท็จหรือไม่สอดคล้องกัน จะพ้นจากตำแหน่ง และหมดอนาคตทางการเมือง พร้อมเสนอให้มีคณะกรรมาธิการการต่อต้านคอร์รัปชัน และตรวจสอบงบประมาณแผ่นดิน โดยให้ประธานมาจากฝ่ายค้าน สร้างอำนาจการถ่วงดุล
ส่วน 4 องค์กรตาม รธน. ได้แก่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.), คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.), ป.ป.ช. และผู้ตรวจการแผ่นดิน
เขากล่าวว่า หลายเรื่องยังไม่มีในร่าง รธน. โดยประเด็น ป.ป.ช. ควรให้ดำเนินการเฉพาะข้าราชการระดับสูงที่มีอำนาจอนุมัติงบประมาณหรือโครงการ หากรวมถึงนักการเมืองระดับท้องถิ่นด้วยจะมีภาระหน้าที่เยอะ ซึ่งควรให้ ป.ป.ท.เป็นฝ่ายดำเนินการแทน แต่ต้องสร้างความเป็นอิสระให้ เพื่อจะได้ทำงานควบคู่กัน
ขณะที่ คตง. ต้องตั้งศาลวินัยการคลังการงบประมาณหรือแผนกวินัยการคลังการงบประมาณในศาลอาญา ซึ่งมีความสำคัญสูงมาก หากพบมีการนำงบประมาณก่อให้เกิดความเสียหาย และผู้ตรวจการแผ่นดิน ต้องปรับให้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 จากเดิมอยู่ภายใต้ผู้ตรวจการแผ่นดิน จากเดิมสำนักนายกรัฐมนตรี เน้นเปิดเผยเป็นหลัก
นพ.ชูชัย ยังบอกว่า การจัดตั้งศาลอาญา แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ จะเป็นสัญญาณชี้ให้เห็นว่า ร่าง รธน.ฉบับนี้ต่อต้านคอร์รัปชันจริงหรือไม่ ส่วนศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง น่าจะปรับให้สามารถยื่นอุทธรณ์ในที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาได้ด้วย
ขณะที่ พล.ต.อ.วัชรพล เห็นว่า หากร่าง รธน.มีความชัดเจนในการป้องกันและปราบปรามการคอร์รัปชัน จะช่วยสร้างวิธีการทำงานของ ป.ป.ช.อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ จะเขียนกฎหมายอย่างไร หากการบังคับไม่จริงจัง ขาดความแน่นอน และรวดเร็วในการลงโทษผู้กระทำผิด ซึ่งความรุนแรงอาจไม่มีผลต่อการป้องกัน แต่วัตถุประสงค์เพียงเพื่อต้องการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษและเป็นแบบอย่างช่วงป้องปรามไม่ให้เกิดการคอร์รัปชันอีก
อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.วัชรพล ยอมรับว่า ปัจจุบันกระบวนการค่อนข้างล่าช้า จนกระทั่งอาจมีประเด็น ซึ่งในร่าง รธน.ยังไม่กำหนดอายุความชัดเจน อยากให้ปรากฎไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 อาจไปดูอีกครั้งว่า จะกำหนดกรอบอย่างไร
“การแสวงหาข้อเท็จจริงไต่สวนคดีคอร์รัปชัน ซึ่งกำลังดำเนินการ บางเรื่องต้องใช้เวลา เพราะประเด็นทุจริตไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากมีความพยายามปกปิด จึงต้องอาศัยความร่วมมือ” ประธาน ป.ป.ช. กล่าว
ขณะที่ นายบดินทร์ แสดงความเห็นว่า ประเทศไทยกำลังป่วย ซึ่งคนป่วยต้องหยุดกิจกรรมบางอย่างที่เคยทำหรือชอบทำ จำเป็นก็ต้องผ่าตัด และจำเป็นมากต้องตัดทิ้ง เพื่อกลับมาใช้ชีวิตได้
เช่นเดียวกัน ร่าง รธน.ฉบับนี้ เขามองว่า ไม่ใช่ประชาธิปไตยจ๋า แต่มีความเหมาะสมจำเป็นต้องรักษาบ้านเมืองให้หายก่อน เมื่อไม่มีคอร์รัปชัน มีผู้ปกครองที่ดีแล้ว จะแก้ไขอย่างไรก็ได้ มิฉะนั้นจะกลับไปวังวนเก่า
“แค่นี้พอใจแล้ว ขอให้ผ่าน และดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา แต่ถ้าดีกว่านี้ได้ก็เอา” รองประธานอาวุโส สภาอุตฯ กล่าว และย้ำว่า หากจะเอาคอร์รัปชันต้องให้ร่าง รธน.ผ่าน ไม่อย่างนั้นจะเสียเปล่า
***เหลือเวลาอีกไม่ถึง 7 วัน จะมีการช่วยแก้ไขเนื้อหาในร่าง รธน.ให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะการต่อต้านคอร์รัปชัน ซึ่งคนไทยให้ความสำคัญและตื่นตัวอยู่ในขณะนี้ เพื่อสุดท้ายนำไปสู่ประเทศที่มีความโปร่งใส เป็นที่ยอมรับในเวทีโลกต่อไป .