ชะตากรรม"แจสโมบาย"จะโดนแค่คดีแพ่ง หรือพ่วงคดีอาญา?
อะไรคือแรงจูงใจให้คณะกรรมการบริษัท จัสมินฯมีมติที่ต้องใช้เงินกว่า 8,140 ล้านบาทไปในด้านอื่นๆ ยามที่บริษัทต้องใช้เม็ดเงินมหาศาลในการลงทุน การตัดสินใจดังกล่าวเกี่ยวข้องราคาหุ้นของบริษัทืหรือไม่ อย่างไร ถ้าใช่ ใครเป็นผู้ได้รับประโยชน์?
หลังจากที่ บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ (JASMBB)ไม่สามารถนำเงินประมูลงวดแรกจำนวน 8,040 ล้านบาทและหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงิน 72,000 ล้านบาทชำระให้แก่สำนักงานคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)ได้ภายในวันที่ 21 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา จนทำให้ บริษัท แจสโมบาย สิ้นสิทธิการที่จะเป็นผู้รับใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ตามที่ทราบกันดีอยู่แล้วนั้น
นอกจาก บริษัท แจสโมบาย ต้องถูกริบเงินค้ำประกันการประมูลจำนวน 644 ล้านบาทแล้ว นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ยังยืนยันว่า จะเรียกร้องค่าเสียหายในการจัดการประมูลใหม่ประมาณ 160 ล้านบาท และค่าเสียหายหรือ"ส่วนต่าง” ในกรณีที่มูลค่าการประมูลใหม่ ได้ราคาต่ำ 75,654 ล้านบาทตามที่บริษัท แจสโมบาย ได้เสนอราคาไว้ ยังไม่รวมถึงค่าเสียโอกาสในทางเศรษฐกิจหากการประมูลต้องล่าช้าออกไปอีกหนึ่งปี
อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายพิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด(มหาชน)ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ บริษัท แจสโมบาย แจ้งตลาดหลักทรัพยแห่งประเทศไทยว่า ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับบริษัท แจสโมบาย ที่ปรึกษากฎหมายของบริษัทให้ความเห็นว่า ต้องถูกริบเงินประกันการประมูล 644 ล้านบาทเท่านั้นซึ่งไม่มีผลกระทบต่อฐานะการเงินของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับเหตุผลที่ บริษัท แจสโมบาย อ้างว่า ไม่สามารถนำหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงินมอบให้สำนักงาน กสทช.ได้ ทางบริษัทจัสมินฯระบุว่า เนื่องจากผู้ประกอบการรายใหญ่แห่งหนึ่งของจีน(ซึ่งสนใจร่วมลงทุนในแจสโมบายและได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารพาณิชย์แห่งใหญ่ของประเทศจีน)ติดข้อจำกัดในเรื่องของระยะเวลาการขออนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องของประเทศจีนซึ่งคาดว่า จะแล้วเสร็จประมาณกลางเดือนเมาษยน 2559 ซึ่งไม่ทันกำหนดระยะเวลา 90 วันตามที่ระบุในประกาศ กสทช.
ไม่ว่า ข้ออ้างของบริษัทจัสมินฯจะเป็นอย่างไร น่าเชื่อถือหรือไม่ แต่มีการคาดการณ์ต่างๆนานาถึงชะตากรรมของบริษัท แจสโมบายและผู้บริหารบริษัท เพราะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่า การที่แจสโมบายประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ในราคาที่สูงเกินศักยภาพของบริษัทที่จะชำระเงินได้ว่า มีเบื้องหน้าเบื้องหลังมากกว่าไปกว่า การไม่สามารถหาผู้ร่วมทุนได้ทันตามข้ออ้างเท่านั้น
มีรายงานข่าวจาก กสทช. ระบุว่า ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) วันพุธที่ 23 มีนาคม 2559 มีวาระเพิ่มเติมกรณีแจสโมบาย นอกจากเพื่อหาทางออกที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งในเรื่องที่ว่าจะมีการจัดสรรคลื่นความถี่ย่านนี้อย่างไรต่อไป การกำหนดกฎกติกาการประมูลที่รัดกุมขึ้นเพื่อป้องกันปัญหากรณีที่ผู้ชนะการประมูลไม่ชำระเงินประมูล ตลอดจนมาตรการลงโทษบริษัท แจสโมบาย ฐานสร้างความเสียหายให้กับรัฐและอุตสาหกรรมโทรคมนาคม
ที่สำคัญคงต้องมีการตรวจสอบอย่างเข้มข้นถึงเจตนาการเข้าร่วมประมูลของบริษัท แจสโมบาย ในครั้งนี้ รวมทั้งพฤติกรรมการเสนอราคาว่า มีความไม่ชอบพากลและมีวัตถุประสงค์เป็นการกีดกันการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมด้วยหรือไม่
ขณะเดียวกันนายสมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ)ได้เรียกร้องให้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตรวจสอบการซื้อขายหุ้นและธุรกรรมอื่นๆ ของบริษัทที่เกี่ยวข้องว่า มีธุรกรรมใดผิดปรกติในลักษณะที่เป็นการเอาเปรียบผู้ถือหุ้นรายย่อยหรือไม่ เพราะในช่วงที่ผ่านมา บางบริษัทมีธุรกรรมจำนวนหนึ่งที่อาจก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างผู้ถือหุ้นกลุ่มต่างๆ ได้
(อ่านประกอบ: ข้อคิดเห็นต่อการจัดประมูลคลื่น 900 MHz ใหม่หลังแจสทิ้งใบอนุญาต )
จากข้อวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว ลองมาตรวจสอบข้อกฎหมาย พฤติกรรมในการเคาะราคาประมูลของบริษัทแจสโมบายฯและข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องเพื่อดูว่า หาก กสทช.ตรวจสอบเจตนาในการเสนอราคาประมูลสูงถึง 75,654 ล้านบาท ผู้บริหารระดับสูงและแจสโมบายจะเผชิญชะตากรรมอย่างไรบ้าง
ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 หรือที่เรียกสั้นๆว่า กฎหมายป้องกันการฮั้วประมูล บัญญัติไว้ใน มาตรา 8 ว่า
"ผู้ใดโดยทุจริตทำการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐโดยรู้ว่าราคาที่เสนอนั้นต่ำมากเกินกว่าปกติจนเห็นได้ชัดว่าไม่เป็นไปตามลักษณะสินค้าหรือบริการ หรือเสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่หน่วยงานของรัฐสูงกว่าความเป็นจริงตามสิทธิที่จะได้รับ โดยมีวัตถุประสงค์เป็นการกีดกันการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมและการกระทำเช่นว่านั้น เป็นเหตุให้ไม่สามารถปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญาได้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสามปี และปรับร้อยละห้าสิบของจำนวนเงินที่มีการเสนอราคา หรือของจำนวนเงินที่มีการทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐแล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า
"ในกรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญาได้ตามวรรคหนึ่ง เป็นเหตุให้หน่วยงานของรัฐต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการดำเนินการให้แล้วเสร็จตามวัตถุประสงค์ของสัญญาดังกล่าว ผู้กระทำผิดต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายให้แก่หน่วยงานของรัฐนั้นด้วย
"ในการพิจารณาคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ถ้ามีการร้องขอ ให้ศาลพิจารณากำหนดค่าใช้จ่ายที่รัฐต้องรับภาระเพิ่มขึ้นให้แก่หน่วยงานของรัฐตามวรรคสองด้วย"
จากบบบัญญัติดังกล่าว ต้องพิจารณาว่า ราคาประมูลที่แจสโมบ่ายนำเสนอนั้น
1.แจสโมบายจงใจ(โดยทุจริต?)สนอผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่หน่วยงานของรัฐสูงกว่าความเป็นจริงตามสิทธิที่จะได้รับ โดยมีวัตถุประสงค์เป็นการกีดกันการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมหรือไม่
และ 2.การกระทำเช่นว่านั้น เป็นเหตุให้ไม่สามารถปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญาได้
สำหรับข้อ 2. นั้นชัดเจนแล้วว่า แจสโมบาย ไม่สามารถปฏิบัติตาทมให้ถูกต้องตามสัญญาได้ แต่การพิจารณาว่า แจสโมบายจงใจที่จะเสนอราคาสูงเพื่อกีดกันการแข่งขันราคาอย่างเเป็นธรรมหรือไม่ ต้องดูองค์ประกอบหลายประการ
หนึ่ง พฤติกรรมการเสนอราคาหรือเคาะราคาประมูลที่มีกระแสข่าวว่า แจสโมบายเคาะราคาทับราคาตัวเองจนทำให้ราคาสูงโด่งเกินกว่าที่ 2 คือ ดีแทคกว่า 5,000 ล้านบาทกล่าวคือ ดีแทคหยุดเคาะราคาในรอบที่ 181 ที่ 70,180 ล้านบาท แต่แจสโมบายยังเคาะราคาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆโดยทื่ไม่มีคู่แข่งจนถึงรอบ 199 หรือ 18 รอบจนถึงราคา 75,654 ล้านบาท
อะไรคือแรงจูงใจให้แจสโมบาย เคาะราคาไปสูงโด่งโดยที่ไม่มีคู่แข่งขัน
สอง นายเดชา ตุลานันท์ รองประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพยอมรับว่า แจสโมบายขอวงเงินกู้ไว้ 40,000 ล้านบาท แต่เสนอราคาประมูลสูงถึง 75,000 ล้านบาท โดยไม่มีแผนธุรกิจและแผนการเงินรองรับถึงรายได้ในอนาคต ทางธนาคารจึงขอให้แจสโมบายนำเสนอแผนธุรกิจเข้ามาใหม่
นอกจากนั้นข้ออ้างว่า มีการเจรจากับผู้ลงทุนในประเทศจีนนั้น ต้องพิจารณาด้วยว่า มีการเริ่มเจรจาตั้งแต่เมื่อใด มีความตั้งใจจริงแค่ไหนเพราะการลงทุนที่ต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาล ต้องใช้ระยะเวลามากพอสมควร แต่กลับอ้างเงื่อนไขในการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลในประเทศจีน ทำให้ไม่ทันตามเงื่อนไขเวลาที่ กสทช.กำหนดไว้ 90 วัน
สาม ขณะที่แจสโบมาย ต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาลในการลงทุน หากได้รับใบอนูญาตคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz แต่คณะกรรมการบริษัท จัสมินฯกลับมีมติเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2559 ให้จ่ายเงินปันผลเพิ่มเติมแก่ผู้ถือหุ้น ในอัตราหุ้นละ 0.30 บาท เป็นเงินประมาณ 2,140 ล้านบาท และมีมติเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2559 ให้ใช้เงินของบริษัทซื้อหุ้นคืนจากผู้ถือหุ้นรายย่อยในราคาหุ้นละ 5 บาท เป็นเงิน 6,000 ล้่านบาท รวมเป็นเงินถึง 8,140 ล้านบาท (มากกว่า เงินที่ต้องจ่ายงวดแรกให้ กสทช.8,040 ล้านบาท)
อะไรคือแรงจูงใจให้คณะกรรมการบริษัท จัสมินฯมีมติที่ต้องใช้เงินกว่า 8,140 ล้านบาทไปในด้านอื่นๆ ยามที่บริษัทต้องใช้เม็ดเงินมหาศาลในการลงทุน การตัดสินใจดังกล่าวเกี่ยวข้องราคาหุ้นของบริษัทืหรือไม่ อย่างไร ถ้าใช่ ใครเป็นผู้ได้รับประโยชน์?
คำถามนี้สอดคล้องกับข้อเสนอของประธานทีดีอาร์ไอที่เรียกร้องให้มีการตรวจสอบการซื้อขายหุ้นและธุรกรรมอื่นๆ ของบริษัทที่เกี่ยวข้องว่า มีธุรกรรมใดผิดปรกติในลักษณะที่เป็นการเอาเปรียบผู้ถือหุ้นรายย่อยหรือไม่
ประเด็นต่างๆเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการพิสูจน์เจตนาในการเข้าร่วมประมูลของบริษัท แจสโมบาย ได้เป็นอย่างดี
นอกจากนั้น หากพิจารณา พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 281/2 ที่ระบุว่า
"กรรมการหรือผู้บริหารบริษัทผู้ใดไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต ตามมาตรา 89/7 จนเป็นเหตุให้บริษัทได้รับความเสียหายหรือทำให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์จากการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ต้องระวางโทษปรับไม่เกินจำนวนค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหรือประโยชน์ที่ได้รับ แต่ทั้งนี้ ค่าปรับดังกล่าวต้องไม่ต่ำกว่าห้าแสนบาท
"ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งได้กระทำโดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหรือประโยชน์ที่ได้รับ แต่ทั้งนี้ ค่าปรับดังกล่าวต้องไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
ส่วน มาตรา 89/7 ระบุว่า "ในการดำเนินกิจการของบริษัท กรรมการและผู้บริหารต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต รวมทั้งต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ ข้อบังคับของบริษัท และมติคณะกรรมการ ตลอดจนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น"
บทบัญญัติตามกฎหมายเหล่าดูเมื่อพิจารณาอย่างผิวเผินแล้ว อาจค่อนข้างเป็นนามธรรม แต่ถ้าพิจารณาจากข้อเท็จจริง เช่น การไม่มีแผนธุรกิจรองรับอย่างเหมาะสมในกรณีที่เสนอราคาสูงกว่า 75,000 ล้านบาท ขณะที่ได้รับวงเงินกู้เพียง 40,000 ล้านบาท การเจรจากับผู้ลงทุนต่างประเทศในระยะเวลากระชั้นชิด จนไม่ทันเงื่อนเวลาตามที่ กสทช.กำหนด ก็บ่งบอกได้ระดับหนึ่งว่า ผู้บริหาร "ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง "หรือไม่
อย่าไงรก็ตาม ชะตากรรมของผู้บริหารระดับสูงหรือแจสโมบาย จะเป็นอย่างไร ต้องขึ้นอยู่กับการตรวจสอบ การรวบรวมข้อเท็จจริง แรงจูใจและพยานหลักฐานต่างๆว่า เข้าองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายหรือไม่
หมายเหตุ ภาพ พ.อ.รศ. ดร. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธาน กทค.และนายพิชญ์ โพธารามิก