ยกเครื่องทั้งระบบ ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ ค้าน กรอ.เล็งลดขั้นตอนขอใบรง.4 เหลือ 15วัน
ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ ไม่เห็นด้วยกรณี กรอ.เตรียมลดขั้นตอนขอใบ รง.4 ชี้ปัญหาเดิมอยู่ที่หน่วยงานราชการทำงานช้า ซ้ำยิ่งแก้ยิ่งหละหลวม แนะรัฐถ้าจะแก้กฎหมายโรงงาน ต้องยกเครื่องใหม่ทั้งระบบ วางมาตรการดูเเลผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้รัดกุมมากขึ้น
สืบเนื่องจากกรณีที่อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) ออกมาเปิดเผยว่าจะมี การเตรียมยื่นแก้ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 โดยมีสาระสำคัญคือการเพิ่มความรวดเร็วในขั้นตอนอนุมัติใบอนุญาตประกอบกิจการ(รง.4)เหลือเพียง 15 วัน พร้อมทั้งเปลี่ยนนิยามของ “โรงงาน” ใหม่จากเดิมที่กำหนดว่าโรงงานต้อมีเครืองจักรการผลิตตั้งแต่ 5 แรงม้าขึ้นไปและมีคนงาน 7 คนขึ้นไป มาเป็น เครื่องจักร 25 แรงม้าและคนงาน 25 คน รวมถึงย้ายการกำกับดูเเลโรงงานขนาดเล็กไปอยู่ในการดูเเลของ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) พร้อมทั้งแก้ไข คำว่า "ตั้งโรงงาน”ใหม่นั้น
นางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศรา ในประเด็นดังกล่าวว่า ไม่เห็นด้วยในแง่ของการเร่งรัดเวลาในการออกใบอนุญาตให้เร็วขึ้นเพราะปัญหาที่ผ่านมา ในการออกใบรง.4 ล่าช้านั้น มาจากการทำงานที่เชื่องช้าและซับซ้อน รวมถึงการไม่ประสานงานของหน่วยราชการกันเอง ในประการต่อมา กระบวนการบางอย่างที่ต้องให้เวลากับสิ่งนั้นจริงๆ เช่น การศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ในกรณีที่โครงการนั้นๆ มีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมมากก็ต้องให้เวลาศึกษาอย่างรอบคอบ และต้องผ่านการอนุมัติ EIAไปก่อน ที่นี้ถ้าตัวรายงานมีปัญหา ระยะเวลาก็จะยืดออกไปอีก แต่จะมาเร่งรัดให้เร็วขึ้นทำไม่ได้ และในระยะเวลาเดิมก็ไม่ถือว่าช้า แต่ช้าเพราะความไม่มีประสิทธิภาพของหน่วยงานราชการเอง
ประเด็นการเปลี่ยนนิยามของ “โรงงาน” ใหม่นั้น ผอ. มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า การเปลี่ยนครั้งนี้ก็จะส่งเสริมให้มีโรงงานขนาดใหญ่ขึ้นและสามารถจัดตั้งได้เร็วขึ้น แต่มองว่า พ.ร.บ.โรงงานฯ ต้องมีการปรับปรุงแก้ไข นิยามของ มลพิษอุตสาหกรรม หรือว่า ความรับผิดชอบของโรงงงานอุตสาหกรรม หรือความรับผิดชอบของผู้ประกอบการในฐานะผู้ก่อมลพิษนั้น ควรมีการรับผิดชอบขนาดไหนอย่างไร ซึ่งกฎหมายโรงงานปัจจุบันไม่ได้ครอบคลุม ยกตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบการไม่ต้องรับผิดชอบต่อ ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่อยู่นอกรั้วโรงงาน เพราะที่ผ่านมาปัญหาสิ่งแวดล้อมมักเกิดขึ้นนอกรั้วโรงงานค่อนข้างเยอะ แต่ที่ผ่านมากฎหมายกำหนดเฉพาะในดูเเลในรั้วโรงงานเท่านั้น และในส่วนค่ามาตรฐานควบคุมสารพิษนั้น รัฐกำหนดอยู่ไม่กี่ตัวเท่านั้น แต่ในขณะเดียวกัน สารพิษที่ปล่อยออกมามีเป็นร้อยๆ ชนิด เพราะฉะนั้นหากจะมีการแก้ไขกฎหมายโรงงาน คิดว่าต้องรื้อกันใหม่ ต้องมีการพูดถึงความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมที่อยู่นอกรั้วโรงงาน และเมื่อโรงงานปิดกิจการไปแล้ว ผู้ที่ปิดกิจการต้องมีการบำบัดฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ภายในรั้วโรงงานให้เรียบร้อยก่อน รวมถึงต้องมีการเยียวยาพื้นที่นั้นให้เรียบร้อยก่อนที่จะมีการปิดกิจการ ตรงนี้กรมโรงงานอุตสาหกรรม ไม่เคย เข้ามากำกับดูเเลรับผิดชอบ
ในส่วนของการย้ายการควบคุมโรงงานขนาดเล็กไปอยู่กับ อปท. น.ส.เพ็ญโฉม มองว่า มีทั้งข้อดีข้อเสีย ข้อดีคือ จะทำให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถเก็บภาษีเข้าท้องถิ่นได้มากขึ้น มีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการมากขึ้น อาจจะช่วยสร้างรายได้ให้ท้องถิ่นได้ดีขึ้น แต่ข้อเสียคือ การโอนกิจการเหล่านั้น ต้องมีกระบวนการหลักเกณฑ์ที่ถูกต้องด้วย ยกตัวอย่างเช่น องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวนมากไม่มีความรู้เพียงพอที่จะกำกับ ตรวจสอบหรือติดตามหรือบังคับให้ผู้ประการปฏิบัติได้ถูกต้อง ในแง่การกำกับกิจการที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งเเวดล้อม
"อันนี้น่าจะมีการยกเครื่องขนานใหญ่ว่า อปท. ของไทยนั้นมี ศักยภาพมีความรู้ความสามารถ มีเทคโนโลยี มีความเชี่ยวชาญในการกำกับพฤติกรรม และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้ ดังนั้นส่วนกลางต้องกระจายความรู้ เทคโนโลยีที่จะมากำกับติดตามให้ท้องถิ่นไปด้วย” ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศกล่าวและว่า สิ่งสำคัญคือความโปร่งใส สังคมบ้านเราความโปร่งใสแถบจะไม่เหลือแล้ว การที่บอกว่าสร้างไปก่อนแล้วออกใบอนุญาตตามหลัง ซึ่งทำให้กระบวนหลักเกณฑ์ต่างๆ มั่วไปหมด
“ จะรู้ได้อย่างไรว่าสถานประกอบการนั้นๆ มีผลกระทบหรือเปล่า เมื่ออนุญาตให้สร้างโรงงานไปก่อนแล้วถ้าวันหนึ่งตรวจพบว่า ทำผิดกฎหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง จะไปสั่งปิดเขาก็สั่งปิดไม่ได้เพราะอนุญาตและสร้างไปแล้ว เป็นความหละหลวม เป็นการลดขั้นตอน”
นอกจากนี้ น.ส.เพ็ญโฉม แสดงความเห็นว่า รัฐบาลยุคนี้ออกคำสั่งเยอะแยะไปหมด เพื่ออำนวยให้มีการจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมได้ง่ายขึ้น รัฐกำลังมองแค่ในแง่ของการลงทุนและเอื้อ อำนวยการลงทุนทุกอย่างโดยที่ไม่ได้คำนึงถึง ปัจจัยและสภาวะแวดล้อมอื่นๆ เลย ถ้าปล่อยให้ประเทศเดินไปแบบนี้ ข้างหน้าเราจะเจอปัญหาเยอะแยะไปหมด ปัญหาทุกวันนี้ก็เกิดขึ้นเยอะอยู่เเล้ว แต่ละปัญหาเกิดขึ้นจากการอนุญาตให้มีการจัดตั้งโรงงานที่ไม่ถูกก็เยอะ ซึ่งแม้ว่าจะถูกต้องแต่กระบวนการตรวจสอบ ที่ต้องมีเป็นระยะๆ ก็ไม่มี ส่งผลให้ที่ผ่านมามีปัญหาเยอะแยะมากมาย ปัญหาเหล่านี้รัฐบาลควรจะทบทวนด้วย
"ไหนๆ ก็จะทบทวน ให้มีการส่งเสิรมการลงทุนแล้ว ก็ต้องมองปัจจัยอื่นๆ ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการลงทุนเหล่านี้ มีปัญหาอะไรบ้าง แล้วรัฐบาลจะแก้ไขอย่างไรด้วย มองให้เป็นแพ๊กเกจเดียวกัน อย่างมองแค่เรื่องการลดขั้นตอนการออกใบอนุญาตอย่างเดียว" ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศกล่าว.
ขอบคุณภาพประกอบจากhttp://www.greennewstv.com/