เมื่อ ‘พล.อ.ประยุทธ์’ ไม่เข้าใจบทบาท ‘สื่อสาธารณะ’ ดีพอ
"...เหตุการณ์ “เบนซ์ชนฟอร์ด” กับ “สองตายายเก็บเห็ด” เป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง หากไม่มีทีวีสาธารณะหรือโซเซียลมีเดีย คนกลุ่มนี้จะถูกทำร้าย ซึ่งเมื่อมีการนำเสนอขึ้น แม้จะเป็นเรื่องไม่ดี แต่สามารถทำให้ดีขึ้นได้ จะคิดเพียงว่า เป็นเรื่องร้าย ๆ เช่นนั้นไม่ได้..."
กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) วิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของสื่อมวลชน โดยระบุถึง ไทยพีบีเอส ในทำนองที่ว่า นำเสนอเฉพาะปัญหาของประชาชนด้านเดียว แต่กลับไม่ช่วยรัฐสร้างความเข้าใจ ทั้งที่ใช้งบประมาณจากภาครัฐ เมื่อเป็นเช่นนี้สมควรใช้งบประมาณต่อไปหรือไม่ (อ่านประกอบ:จม.เปิดผนึกถึง “บิ๊กตู่”อย่าให้ไทยพีบีเอสเป็นเครื่องมือของ รบ.อีกช่อง)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สัมภาษณ์นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน ‘รศ.มาลี บุญศิริพันธ์’ อดีตคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ ม.หอการค้าไทย ถึงประเด็นดังกล่าว กล่าวว่า ทีวีสาธารณะไม่ใช่ของรัฐบาล แต่เป็นช่องทางที่เกิดขึ้นโดยอาศัยภาษีของประชาชน ซึ่งคำว่า “ภาษี” ในที่นี้เป็นของประชาชนที่นำมารวมกันเพื่อพัฒนาประเทศ
ทั้งนี้ สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนของทีวีสาธารณะทุกแห่งทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยสูง จะมองเห็นความสำคัญของ “เสียงประชาชน” ในการมีส่วนร่วมหรือมีช่องทางในการแสดงความคิดเห็นเพื่อบอกไปยังรัฐบาลหรือสังคมถึงความต้องการในแต่ละด้าน
เพราะฉะนั้น “ทีวีสาธารณะ” ต้องมีเนื้อหาไม่ทำให้ประชาชน “เบื่อหน่าย” โดยมุ่งตอบสนองสิ่งจำเป็นของพวกเขา และมีเนื้อหาดราม่าได้ แต่ต้องมี “คุณภาพ” รัฐบาลในหลายประเทศจึงยินดีทุ่มเงินให้ เพื่อความอยู่รอดของ “เสียงประชาชน”
ส่วนสื่อของรัฐ รศ.มาลี กล่าวว่า รัฐนำภาษีที่ตนเองจัดสรรเพื่อมาตั้งสถานีหนึ่ง โดยได้รับการจัดสรรผ่านกระทรวงการคลัง ซึ่งตามหลักการแล้วรัฐไม่มีหน้าที่เข้าไปควบคุม เพราะเป็นภาษีประชาชน ยกเว้นประกาศเป็นเจ้าของชัดเจน อย่างไรก็ตาม การนำเสนอใด ๆ ก็ต้องใช้วิจารณญาณไม่ทำให้สังคมเสื่อมโทรม
"ระยะหลังรัฐบาลทุกสมัยกลับคิดว่า สื่อของรัฐต้องทำหน้าที่เป็นโฆษกของตนเอง จึงไม่มีผู้ชม เพราะหลักของการสื่อสาร มนุษย์ทุกคนจะเลือกรับชมสิ่งที่ตัดสินใจได้ หากเมื่อใดเนื้อหาถูกจัดสรรมาเพื่อคนใดคนหนึ่ง หรือชมเชยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง คนจะไม่รับชม ไม่ว่าจะเป็น ทีวีหรือหนังสือพิมพ์ สังเกตได้ว่า หนังสือเล่มไหนที่เป็นของรัฐบาลจะไม่มีคนอ่าน เพราะเนื้อหาไม่มีความหลากหลาย"
รศ.มาลี เห็นว่า ปัจจุบัน ประชาชนฉลาดมากพอจะทราบว่า เรื่องไหนจริงหรือเท็จ และรู้สึกการรับข้อมูลด้านเดียวผิดธรรมชาติ นั่นแสดงว่า ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจ ความฉลาด และวิจารณญาณมากขึ้น เพราะฉะนั้นทีวีสาธารณะจึงเข้ามาตอบโจทย์ความต้องการ
ไทยพีบีเอส ไม่ได้เกิดขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือของรัฐบาล แต่เกิดขึ้นมาเพื่อให้เป็นเวทีสำหรับประชาชนผู้ด้อยโอกาสได้มีส่วนร่วม ด้วยเหตุนี้การออกแบบจึงต้องมีเนื้อหาไม่ทำร้ายสังคม เพิ่มคุณภาพคน โดยรายการมุ่งเน้นเนื้อหาที่มีสาระ นำเสนอน่าสนใจ และมีความหลากหลาย มิใช่มุ่งเสนอเฉพาะผลงานรัฐบาล หรือชนกลุ่มน้อย แต่ต้องนำเสนอทุกกลุ่มของสังคมให้เข้ามามีบทบาท
“ความขัดแย้งเรื่องประมง ถามว่าไทยพีบีเอสไม่นำเสนอ รัฐบาลจะหันมาให้ความสนใจประเด็นปัญหานั้นหรือไม่” นักวิชาการ กล่าว และว่า เพราะฉะนั้นรัฐบาลประชาธิปไตยต้องมีทีวีสาธารณะเพื่อทราบความพึงพอใจในการบริหารงานของรัฐบาลจากประชาชน สุดท้าย จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้
เหตุการณ์ “เบนซ์ชนฟอร์ด” กับ “สองตายายเก็บเห็ด” เป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง รศ.มาลี มองว่า หากไม่มีทีวีสาธารณะหรือโซเซียลมีเดีย คนกลุ่มนี้จะถูกทำร้าย ซึ่งเมื่อมีการนำเสนอขึ้น แม้จะเป็นเรื่องไม่ดี แต่สามารถทำให้ดีขึ้นได้ จะคิดเพียงว่า เป็นเรื่องร้าย ๆ เช่นนั้นไม่ได้
ความหลากหลายจึงช่วยเปิดโอกาสให้รัฐบาลมองเห็นปัญหาที่แท้จริงในการบริหารงานของคนในหน่วยงานภาครัฐ และมองเห็นปัญหาที่แท้จริงของประชาชน สิ่งเหล่านี้จะอำนวยให้ประชาชนรู้สึกตื่นเต้นที่จะมีส่วนร่วมกับการกระตุ้นคุณภาพชีวิตของตนเอง
ท่าทีของพล.อ.ประยุทธ์ วันนั้น จึงแสดงให้เห็นว่า ท่านยังไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่ของสื่อสาธารณะ สื่อของรัฐ และสื่อเอกชน อย่างดีเพียงพอ
ช่วงท้ายของการสนทนา รศ.มาลี ยังเสนอแนะให้ไทยพีบีเอสต้องพัฒนาเทคนิคการนำเสนอ ซึ่งเป็นปัญหาหลัก ให้มีความน่าสนใจมากขึ้น ยกตัวอย่าง ประเด็นคอร์รัปชัน อาจผลิตเป็นละครสั้น มีการผูกเรื่องและนักแสดงที่ดี
และเลิกพูดว่า ทีวีสาธารณะจะมี “กรี๊ด” ไม่ได้ สิ่งเหล่านี้สามารถเพิ่มเติมให้ผลงานมีสีสันมากขึ้น
“ ‘สาบควายลายคน’ เป็นละครที่ดี แต่จับอารมณ์ผู้ชมไม่ได้ จึงควรทำให้สนุกมากกว่านี้ การทะเลาะกันต้องให้มีอารมณ์บ้าง”
รศ.มาลี กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันนับว่า ไทยพีบีเอสมีพัฒนาการที่ดีขึ้นมาก เพียงแต่วิธีการนำเสนอยังดึงดูดคนไม่ทั่วถึง ติดอยู่ในกรอบความเป็นทางการ ไม่กล้าแหกโค้ง ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมาต้องทรงตัวให้มีจุดยืนอย่างมั่นคง มิฉะนั้นเกิดอะไรขึ้นมา จะมีปัจจัยแทรกซ้อน โดยเฉพาะรัฐบาลบางสมัยมีนโยบายตัดงบประมาณ
ทั้งนี้ เมื่อใดที่มีการผ่านกฎหมายให้นำงบประมาณจากภาษีบาปจัดสรรผ่านกระทรวงการคลังจะไม่แตกต่างจากระบบราชการ เนื้อหาทั้งหลายจะถูกบีบ ส่งผลให้ไม่มีลักษณะของทีวีสาธารณะ ประชาชนจะไม่มีเวทีในการแสดงความคิดเห็น จนทำอะไรไม่ได้เหมือนช่อง 11
...รัฐบาลต้องเข้าใจจะคิดแบบเชิงอำนาจไม่ได้ แต่ต้องคิดแบบประชาธิปไตย เปิดเวทีให้ประชาชนพูด ถ้าเราคิดถึงประชาชน พวกเขาก็จะไม่ออกมา หากเมื่อใดตัดแขนตัดขา เพื่อควบคุมให้ง่าย นั่นไม่ใช่ประชาธิปไตย .
ภาพประกอบ:พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา-เว็บไซต์ ทีนิวส์