หน้าที่นักข่าวต้องขุดคุ้ยกลโกง! วงเสวนาสื่อถกบทบาท ป.ป.ช.สางปมทุจริต
“อยากเห็นนักข่าวทั่วประเทศ เห็นว่า การทำข่าวเปิดโปง การขุดคุ้ยทุจริต เป็นเรื่องที่ต้องทำ มากกว่าการรายงานข่าวแบบวันต่อวัน กระบวนการฝึกอบรม จำเป็นอย่างยิ่ง สื่อควรมีหูตาสับปะรดเรื่องทุจริต การทุจริตระดับชาติ ตรงนั้นไม่ค่อยมีปัญหา เพราะมีหลักฐาน ทำให้ถูกจับตามอง โดยสื่อมวลชนที่ตามอยู่แล้ว จะรู้ที่มาที่ไป แต่นอกจากการขุดคุ้ย เปิดโปงแล้ว บทบาทอย่างหนึ่งคือช่วยเรื่องความตื่นตัว ได้รับรู้ว่า การทุจริต เป็นปัญหาที่ใหญ่มากของสังคม”
เป็นห้วงเวลาที่ ‘สื่อ’ กำลังถูกตั้งคำถามและจับตาอย่างมากจากสาธารณชน !
ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรนักเล่าข่าวชื่อดัง ถูกศาลอาญาพิพากษาว่า มีส่วนร่วมในการโฆษณาเกินเวลาของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ถูกจำคุก 13 ปี 4 เดือน (ปัจจุบันอยู่ระหว่างอุทธรณ์)
หรือแม้แต่กรณีที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงของ 4 องค์กรวิชาชีพสื่อ สรุปผลสอบกรณีสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ให้เงินนักข่าวกว่า 163 รายการ รวมวงเงินกว่า 4.4 ล้านบาท ส่งผลให้อดีตนักข่าวรายหนึ่งที่ถูกระบุว่าได้รับเงินกว่า 2.1 ล้านบาท ปัจจุบันทำงานอยู่สถานีโทรทัศน์ดิจิตอลถูกพักงาน
และในช่วงสิ้นเดือน มี.ค. 2559 คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงของ 2 องค์กรวิชาชีพสื่อ เตรียมจะสรุปผลสอบกรณีซีพีเอฟ ให้เงินนักข่าว-ผู้บริหารองค์กรข่าว รวม 13 ราย อีกด้วย
ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดงานลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับองค์กรต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตทั้งสิ้น 16 องค์กร
พร้อมจัดงานเสวนา ‘สื่อมวลชนกลไกสำคัญ ทางรอดประเทศไทยสู่สังคมโปร่งใส’ โดยเชิญกูรูผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อ และมีความรู้ด้านเปิดโปงคอร์รัปชั่นในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นนายเทพชัย หย่อง ประธานสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย นายมานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) มีนายสมโภชน์ โตรักษา เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
ประเด็นสำคัญของการพูดคุยในงานเสวนาดังกล่าว มีตั้งแต่บทบาทของสื่อมวลชนในการเปิดโปงทุจริตคอร์รัปชั่น การตั้งข้อสังเกตถึงการทำงานของสำนักงาน ป.ป.ช. และบทบาทของภาคธุรกิจเกี่ยวกับการยับยั้งการคอร์รัปชั่น
@บทบาทสื่อต้องขุดคุ้ยเรื่องโกง-เกาะติด-อย่าหวังพึ่งทีมข่าวเฉพาะกิจ
‘เทพชัย หย่อง’ เปิดฉากเล่าว่า บทบาทของสื่อในการตรวจสอบเรื่องทุจริต มีมานานแล้ว ตั้งแต่ก่อนมี ป.ป.ช. เพราะต้องตรวจสอบให้สังคมรับรู้ว่ามีการทุจริตคอร์รัปชั่น มีการนำเสนอข่าวผ่านสื่อมวลชนมาโดยตลอด ซึ่งถือว่าเป็นความโดดเด่นที่สุดอย่างหนึ่งของสื่อ แต่เมื่อยุคสมัยหนึ่งผ่านไป มีรูปแบบซับซ้อนมากขึ้น ทำให้มีกลไกอย่าง ป.ป.ช. เข้ามาดำเนินการ
“บทบาทสื่อชัดเจนอยู่แล้ว คือสร้างความตระหนักให้สังคมรับรู้ถึงปัญหา เข้าไปรายงานข่าว เปิดโปงอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาปัญหาอยู่ที่ว่า เปิดโปงแล้วจบเป็นกรณี ๆ ไป การทุจริตในไทยเป็นระบบ มีความต่อเนื่องมาตลอด สื่อจำเป็นต้อง ยุทธศาสตร์ในการรายงานข่าว ในการต่อสู้กับปัญหาทุจริต”
สิ่งที่ ‘เทพชัย’ อยากเห็นมากที่สุดคือ ไม่อยากให้การทำข่าวการเปิดโปงทุจริต เป็นภารกิจพิเศษที่ต้องมีทีมเฉพาะ ทีมที่เก่งกาจ มาทำหน้าที่ตรงนี้ เพราะการทุจริตมีหลายระดับ ไม่ว่าโกงกี่บาทคือการทุจริตหมด สิ่งที่สื่อควรทำคือทำอย่างไรให้คนที่อยู่ในสังกัดตัวเอง ไม่ว่าอยู่ในพื้นที่ใดก็ตาม ให้ถือว่าการเปิดโปงการหาข้อมูลเกี่ยวกับการทุจริตไม่ว่าเกี่ยวกลุ่มไหน เป็นภารกิจหลักหนึ่งของการทำหน้าที่สื่อ
“อยากเห็นนักข่าวทั่วประเทศ เห็นว่า การทำข่าวเปิดโปง การขุดคุ้ยทุจริต เป็นเรื่องที่ต้องทำ มากกว่าการรายงานข่าวแบบวันต่อวัน กระบวนการฝึกอบรม จำเป็นอย่างยิ่ง สื่อควรมีหูตาสับปะรดเรื่องทุจริต การทุจริตระดับชาติ ตรงนั้นไม่ค่อยมีปัญหา เพราะมีหลักฐาน ทำให้ถูกจับตามอง โดยสื่อมวลชนที่ตามอยู่แล้ว จะรู้ที่มาที่ไป แต่นอกจากการขุดคุ้ย เปิดโปงแล้ว บทบาทอย่างหนึ่งคือช่วยเรื่องความตื่นตัว ได้รับรู้ว่า การทุจริต เป็นปัญหาที่ใหญ่มากของสังคม”
‘เทพชัย’ เน้นย้ำว่า การทำหน้าที่สื่อที่ตรวจสอบได้ดี มีประสิทธิภาพ ตัวสื่อเองต้องปราศจากข้อครหา และใสสะอาดด้วย โดยยกตัวอย่าง กรณีผู้สื่อข่าวรับเงินใต้โต๊ะจากสถาบันวิจัยบางแห่ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า คนในวงการสื่อก็มีปัญหา ดังนั้นถ้าต้องการตรวจสอบ ต้องมั่นใจว่าตัวเองใสสะอาด บริสุทธิ์เพียงพอในการทำหน้าที่ได้
อย่างไรก็ดีผลกำไรในการประกอบธุรกิจสื่อ อาจเป็นอุปสรรคปัญหาหนึ่งที่ทำให้การทำข่าวตรวจสอบไม่ได้เต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ?
‘เทพชัย’ ยืนกรานว่า ใครก็ตามที่ทำหน้าที่สื่อ ต้องมีมาตรฐานทางจริยธรรมที่เชื่อถือได้ การหากำไรจากโฆษณา หรือรับเงินจากหน่วยงานต่าง ๆ แล้วทำให้ลดระดับความเข้มข้นในการตรวจสอบ สังคมคงอยู่ลำบาก ไม่ควรรับฟังข้ออ้างอย่างนี้
ทั้งนี้ ‘เทพชัย’ ยกสำนวนต่างประเทศทำนองว่า “ความผิดพลาดที่ใหญ่ที่สุดของสื่อคือการทำให้คนงี่เง่าดัง” โดยเสนอว่า หากสื่อรู้ว่าใครทุจริต ก็ขอให้เลิกให้ความสำคัญกับคนเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง หรือข้าราชการที่มีความไม่โปร่งใส ก็ให้ใช้วิธีการ Social Sanction เพื่อให้เจ้าตัวรู้ว่า สื่อมีทัศนคติอย่างไรกับคนโกง และให้สังคมเห็นว่า สื่อสามารถพึ่งพาได้
@จี้ ป.ป.ช. โฟกัสงานสำคัญ-อย่าชงใช้ ม.44 พร่ำเพรื่อ
อย่างไรก็ดีในแง่ของสังคมมีการตั้งคำถามในการเข้ามาทำงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบางรายใกล้ชิดนักการเมือง หรืออะไรก็แล้วแต่
แล้วสื่อคาดหวังอะไรได้บ้างกับ ป.ป.ช. ชุดใหม่ ?
‘ประสงค์’ มือขุดคุ้ยเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นผู้ตอบคำถามดังกล่าว ด้วยความเป็น ‘กัลยาณมิตร’
“อ่านข่าวที่ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. เตรียมเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ใช้มาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป.ป.ช. โดยให้พนักงานไต่สวน สามารถไต่สวนคดีได้ จากเดิมที่ต้องเป็นพนักงานไต่สวนผู้ชำนาญการ รวมถึงให้สอบแต่เฉพาะคดีอาญา มองว่า ประเทศไทยเอะอะก็ใช้มาตรา 44 หรือใช้อำนาจพิเศษ กฎหมาย ป.ป.ช. มีรายละเอียดบางเรื่องเยอะ บางเรื่องเคยพูด แต่พอแก้ไขไม่เคยถูกแก้ บางเรื่องมีสาระสำคัญมากกว่า แต่ที่ช้า ไม่ใช่เพราะคดีอาญา เป็นเพราะโครงสร้าง ป.ป.ช. หรือไม่ การใช้มาตรา 44 ในลักษณะนี้ ถ้าระยะยาวใช้บ่อย ๆ จะยิ่งเป็นผลเสีย”
เป็นคำยืนยันจาก ‘ประสงค์’ ก่อนจะชี้ให้เห็นจุดอ่อนว่า ป.ป.ช. มักทำหลายเรื่องพร้อมกัน ไม่ยอมโฟกัสประเด็นใหญ่ ๆ
“ป.ป.ช. ควรจะโฟกัสเฉพาะผู้บริหารและนักการเมืองระดับสูง แต่ไม่ใช่ใช้ ม.44 มันจะไม่รอบคอบ ตกหล่น เดี๋ยวผู้นำหน้าแตกอีก ค่อย ๆ ทำ ใจเย็น ๆ ทำอำนาจให้กระชับ ตรงประเด็น ในเรื่องที่ไม่ใช่หน้าที่หลัก ถ้าไม่ใช่ก็เลิกทำ ทำเฉพาะงานหลัก ต้องปรับบทบาทว่า งานหลักที่สำคัญคืออะไร ไปคุยกันให้ตก อย่าคิดว่าเวลาจะแก้กฎหมายให้กระชับอำนาจ”
@ข้อมูลต้องโปร่งใส-ตรวจสอบได้
แม้แต่การทำงานด้านข้อมูลก็ไม่มีความโปร่งใสเท่าที่ควร โดยยกบางคดีที่ไม่ยอมเปิดเผยสำนวนการไต่สวนให้ประชาชนรับทราบ ทั้งที่มีมติตีตกข้อกล่าวหาไปตั้งนาน และเรื่องยุติไปแล้ว ขณะที่ประกาศ ป.ป.ช. ฉบับใหม่ ระบุว่า ถ้าคดีไหนมีมติให้ข้อกล่าวหาตกไป สามารถขอดูได้
“การทำงานข้อมูลต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ การเปิดเผยข้อมูลต้องถูกต้อง ทั้งนี้มีประกาศ ป.ป.ช. ที่ถูกเรียกร้องมานานคือ ระเบียบให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าตรวจสอบดูเหตุผลของคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีมีมติวินิจฉัยว่าข้อกล่าวหาใดไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหานั้นเป็นอันตกไปได้ ระเบียบนี้คือถ้า ป.ป.ช. มีมติให้ข้อกล่าวหาใดตกไป ประชาชนสามารถขอดูรายละเอียดได้ แต่ขณะนี้จะให้ไปดูที่ไหนยังไม่รู้เลย เรื่องนี้สำคัญ เพราะจะได้ตรวจสอบความชอบธรรมในการใช้ดุลยพินิจของ ป.ป.ช. เพราะมีหลายคดีที่หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยว่า คดีนี้หลุดได้อย่างไร จะได้เหมือนบรรทัดฐานเดียวกับศาล ที่มีคำพิพากษาให้ตรวจสอบได้ ป.ป.ช. จึงควรตรวจสอบได้เช่นเดียวกัน”
“การเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร เรื่องนี้พูดมาตลอด ระบบข้อมูล ป.ป.ช. เยอะมาก ปัญหาคือการจัดการข้อมูลเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยังทำไม่ได้ มีการชี้มูลไปแล้วพันกว่าคดีในเว็บไซต์ ป.ป.ช. แต่เสิร์ชหาไม่ได้ ต้องนั่งไล่แต่ละหน้า”
อีกประเด็นหนึ่งที่ ‘ประสงค์’ ชี้ให้เห็นว่า การทำงานตรวจสอบของรัฐบาลยังไม่มีความชัดเจน คือกรณีการใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ย้าย-พักงานข้าราชการประจำ ข้าราชการการเมือง หรือผู้บริหารท้องถิ่น ไปแล้ว 3 ครั้ง ไม่ต่ำกว่า 175 ตำแหน่ง แต่ 10 เดือนที่ผ่านมา ยังไม่เห็นมีคดีอะไรเสร็จเรียบร้อย ข้าราชการที่ถูกย้ายไปก็นั่งกินเงินเดือนฟรี ๆ หรือหากมีการทำคดีเสร็จแล้ว ก็ไม่เห็นออกมาแถลงผลงานอะไรบ้างเลย
ขณะที่ผู้บริหารท้องถิ่นที่ถูกพักงาน คนที่ขึ้นมาแทนคือตำแหน่งรองลงไป ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าเป็นกลุ่มก๊วนเดียวกัน ทำให้ยิ่งสบายไปกันใหญ่ คนที่ถูกพักงานก็อยู่เบื้องหลัง สั่งการอย่างเดียว
‘ประสงค์’ ชี้ให้เห็นจุดอ่อนว่า แม้จะใช้อำนาจพิเศษ แต่ไม่มีการปรับโครงสร้างระบบ ทำไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะไม่มีระบบตรวจสอบ และยิ่งตอนนี้ไม่มีการเลือกตั้ง การใช้อำนาจจะเป็นปัญหา
@ตั้งกองทุนสนับสนุนสื่ออิสระ-ภาคธุรกิจช่วยผลักดัน
ขณะเดียวกัน ‘ประสงค์’ ระบุถึงทางออกในการแก้ไขปัญหาเรื่องทุนครอบงำสื่อคือ ต้องสร้างสื่ออิสระเล็ก ๆ ให้ถูกครอบงำน้อยที่สุด และต้องมีทุน โดยขอให้ได้รับเงินสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นโมเดลจากต่างประเทศ ที่ใช้การลงขันจากภาคประชาชน หรือถ้ามีบริษัทเอกชนที่ร่วมลงนามต่อต้านการทุจริต ก็ให้บริษัทเหล่านั้น เจียดกำไรแค่ 0.01% ของกำไรสุทธิ มาให้กับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น เพื่อตั้งเป็นกองทุนสนับสนุนการทำงานของสื่อจะได้หรือไม่ โดยมีการตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความโปร่งใส และถ้าหมดความจำเป็นก็เลิกไป ตรงนี้จะทำให้สื่อเป็นอิสระอย่างแท้จริง ดีกว่าถูกครอบงำโดยทุนและอำนาจรัฐขนาดใหญ่
ด้าน ‘มานะ’ กล่าวเสริมประเด็นนี้ว่า การปล่อยให้สื่อพึ่งพิงโฆษณาอย่างเดียวเป็นเรื่องที่ใจร้าย การวัดดวงกันเอาเองว่าจะรอดหรือไม่ ถ้าใครมีเส้นสายก็สามารถเอาเงินจากรัฐ หรือนักการเมือง ก็สามารถอยู่ได้และใหญ่โต ตรงนี้เป็นหน้าที่ของคนไทย และนักธุรกิจทุกคนต้องช่วยกันสร้างมาตรฐานใหม่ว่า สื่อที่ดีต้องการให้สนับสนุน อย่าปล่อยไปตามยถากรรม
ทั้งหมดคือความเห็นของ ‘กูรู’ ในแวดวงวิชาชีพสื่อ ที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงของบทบาทในการทำงานสื่อ และให้ ป.ป.ช. ปรับตัวให้ทันสถานการณ์การทุจริตที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป
ส่วนจะมีใครทำตามคำแนะนำนี้หรือไม่ ต้องรอติดตามกันต่อไป !