นักวิชาการ ชี้ใช้กรณีปอเนาะญีฮาด เป็น "โมเดลการจัดการที่ดินวากัฟ" ให้ชัดเจน
นักวิชาการมุสลิม วิเคราะห์ปรากฎการณ์กินข้าวยำช่วยปอเนาะญีฮาด สะท้อนความล้มเหลวต่อนโยบายรัฐที่มีต่อปัญหาชายแดนใต้ ความอัดอั้นของคนในพื้นที่ ชี้มีนัยยะทางการเมืองในกระบวนการสันติภาพ
สืบเนื่องจากปรากฎการณ์ผู้คนกว่าหมื่น ร่วมงานเลี้ยงน้ำชาข้าวยำการกุศลสมทบทุนช่วยเหลือปอเนาะญีฮาด ณ สนามฟุตบอลกลางประจำหมู่บ้านท่าด่าน ต.ตะโละกาโปร์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดซื้อที่ดินวากัฟ จำนวน 10 ไร่ เพื่อเป็นศูนย์กลางการศึกษาของชุมชน และเพื่อช่วยครอบครัวแวมะนอ
อุสตาซ อับดุลสุโก ดินอะ กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้ และผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศรา ถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ การร่วมมือครั้งใหญ่นี้แสดงนัยยะทางการเมืองเรื่องกระบวนการสันติภาพหลายเรื่องมากโดยเฉพาะความรู้สึกว่ากระบวนการยุติธรรมภายใต้รัฐไทยยึดตัวบทมากกว่ารัฐศาสตร์ทำให้ชุมชนทุกภาคส่วนมองว่ายังไม่ได้รับความเป็นธรรม ยิ่งต่อสู้ก็ยิ่งไม่มีความหวัง ดังนั้นชุมชนทุกภาคส่วนร่วมใจใช้กระบวนการสันติวิธีต้านอำนาจรัฐด้วยการยืนด้วยลำแข้งของชุมชนถึงแม้รัฐจะพยายามใช้รัฐศาสตร์เข้าแก้ภายหลัง เหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นการต่อสู้ทางสันติวิธีที่รัฐจะต้องปรับกระบวนการทำงานด้านมวลชนอีกมาก
"นโยบายของรัฐในการจัดการปัญหาชายแดนใต้ที่ผ่านมา มีหลายประเด็นซึ่งเป็นส่วนใหญ่ค่อนข้างล้มเหลว โดยเฉพาะในยุคสมัยที่รัฐบาลทหาร ที่การมี สิทธิมีเสียงของภาคประชาชนน้อยลงทำให้ เกิดความไม่มั่นใจต่อรัฐ ตอนนี้รัฐก็พยายามใช้รัฐศาสตร์เข้าไปแก้ แต่ไม่ทันเเล้ว เหตุการณ์ไปไกลเเล้ว" อุสตาซ อับดุลสุโก กล่าว และว่า รัฐต้องพยายามที่จะทำอย่างไรให้ปอเนาะญีฮาดที่จะเปิดในที่ดินผืนใหม่นั้นได้เปิดโดยเร็ว อย่าไปเอากฎหมายมากีดกั้น
อุสตาส อับดุลสุโก กล่าวถึงในส่วนของชุมชนเองก็ต้องทำให้เกิดความชัดเจนในพื้นที่ที่เป็นของวากัฟ(พื้นที่สาธารณะประโยชน์) ทำอย่างไรที่จะจดทะเบียนพื้นที่ตรงนั้นให้เป็นรูปแบบของสาธารณะประโยชน์อย่างแท้จริง ซึ่งสามารถช่วยในเชิงของกฎหมาย ลดความขัดแย้งหากเกิดปัญหาในภายหลังได้
"ปัญหาที่ผ่านมา คือ ที่ดินเป็นของวากัฟ แต่เป็นจดในชื่อของคนเพียงคนเดียว แม้ว่าในเชิงศาสนาทางชุมชนมองว่า ไม่ควรถูกยึด แต่เมื่อมองกฎหมายไทยนั้นสามารถยึดได้ เพราะมองในเรื่องนิติกรรม ทำให้ชุมชนรู้สึกว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งในหลายๆ พื้นที่ของปอเนาะอื่นๆ ก็ยังมีความคลุมเครือของที่ดินอยู่ ตรงนี้ต้องรีบจัดการ เวลาเลี้ยงน้ำชา บอกว่า ของวากัฟ แต่พอไปจดทะเบียนมักจะจดชื่อส่วนตัว"
กรณีปอเนาะญีฮาด นักวิชาการมุสลิม กล่าวว่า อาจจะกลายมาเป็น "โมเดลการจัดการที่ดินวากัฟ" ให้เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง ซึ่งสามารถไปดูโมเดลในมาเลเซีย หรือประเทศมุสลิมอื่นว่ามีการจัดการทรัพยสินของสาธารณะอย่างไร ให้ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลามและก็กฎหมายของประเทศในระดับสากลด้วย ซึ่งจะช่วยพัฒนาพื้นที่ให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
ส่วนประเด็นที่ทางรัฐสภามาเลเซียมีการพูดคุยในกรณีด้วยนั้น อุสตาซ อับดุลสุโก มองว่า ค่อนข้างส่งผลกระทบในการพูดคุยสันติภาพที่รัฐบาลมาเลเซียเป็นตัวกลางในการพูดคุยระหว่างรัฐไทยกับกลุ่มมารา ฉะนั้นไทยต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้ดีเพราะเมื่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ความไว้เนื้อเชื่อใจหายไป จะส่งผลต่อกระบวนการสันติภาพ และจะสร้างกระบวนการสันติภาพอย่างไรให้ทุกภาคส่วนที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ได้เข้าไปนั่งพูดคุย รับฟังด้วย.
ขอบคุณภาพประกอบจาก http://www.publicpostonline.net/wp-content/uploads/2015/12/photo-5-1.jpg