ประเด็นต่อประเด็น ข้อต่อสู้ ทบ.กับ 2 นศ.ยะลา คดีศาล ปค.สงขลาสั่งจ่ายค่าเสียหาย 5 แสน
เมื่อปลายเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ศาลปกครองสงขลาได้มีคำพิพากษาในคดีที่นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (ขณะฟ้อง) 2 คนยื่นฟ้องกองทัพบกและกระทรวงกลาโหม ให้จ่ายค่าเสียหายกรณีที่สองนักศึกษากล่าวหาว่าถูกทหารใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกจับกุมโดยมิชอบ มีการซ้อมทรมาน ทำให้ทรัพย์สินเสียหาย และทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง
เหตุการณ์ในคดีนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2551 แม้สุดท้ายศาลมีคำพิพากษาให้กองทัพบกชำระเงินแก่นักศึกษาทั้ง 2 คนจำนวน 505,000 บาทตามฟ้อง และเรื่องนี้ปรากฏเป็นข่าวเล็กๆ ในสื่อทางเลือกบางสำนักในทำนองว่า "ศาลปกครองสั่งกองทัพบกจ่าย 5 แสนฐานคุมตัว 2 นักศึกษายะลาเกินอำนาจตามกฎอัยการศึก" ก็ตาม ทว่าหากหยิบคำพิพากษาจำนวน 22 หน้ามาพลิกอ่านอย่างละเอียดแล้ว จะพบประเด็นน่าสนใจมากกว่านั้นมาก
โดยเฉพาะข้อต่อสู้ของทั้งสองฝ่าย (สองนักศึกษากับกองทัพบก) ทั้งข้อกล่าวหาเรื่องซ้อมทรมาน และคำชี้แจงจากกองกำลังของฝ่ายทหารว่าปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งมีทั้งประเด็นที่ศาลเชื่อและไม่เชื่อ ขณะที่บางเรื่องศาลได้วางมาตรฐานทางกฎหมายเอาไว้ อาทิ การคุ้มครองเจ้าหน้าที่ไม่ให้ต้องรับผิดทางละเมิดหรือทางปกครองจากปฏิบัติการทางทหารว่าสามารถอ้างการคุ้มครองได้แค่ไหน อย่างไร เป็นต้น
"ทีมข่าวอิศรา" จึงขอสรุปประเด็นสำคัญๆ มานำเสนออย่างละเอียดดังนี้
เปิดประเด็นกล่าวหา "ซ้อม-ทรมาน-ทำลายทรัพย์สิน"
คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย คดีหมายเลขดำที่ 187/2552 และคดีหมายเลขแดงที่ 234/2554 ระหว่าง นายอิสมาแอ เตะ ผู้ฟ้องคดีที่ 1 และ นายอามีซี มานาก ผูฟ้องคดีที่ 2 กับกองทัพบก ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และกระทรวงกลาโหม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยคำฟ้องสรุปได้ดังนี้
- ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และเป็นคณะทำงานในสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดยะลา (สนย.)
- วันที่ 27 ม.ค.2551 เจ้าหน้าที่ทหารพรานและเจ้าหน้าที่ทหารจากหน่วยเฉพาะกิจที่ 11 (ฉก.ยะลา 11) ได้ตรวจค้นบ้านเลขที่ 248/55 ซอยมัสยิดตักวา ต.สะเตงนอก อ.เมืองยะลา ซึ่งผู้ฟ้องคดีทั้งสองกับเพื่อนเช่าพักอาศัยอยู่
- ผู้ฟ้องคดีกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ใช้กำลังบุกเข้าไปในบ้าน ใช้อาวุธปืนจี้บังคับผู้ฟ้องคดีทั้งสองกับเพื่อนรวม 7 คนให้ออกจากที่พัก รื้อค้นทรัพย์สิน ทำร้ายร่างกาย และคุมตัวพร้อมยึดคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ คอมพิวเตอร์ชนิดพกพา (โน้ตบุ๊ค) และอุปกรณ์เก็บข้อมูล ตลอดจนโทรศัพท์มือถือและเอกสารไปยังหน่วยเฉพาะกิจที่ 11
- ผู้ฟ้องคดีกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ได้ทำร้ายร่างกายโดยใช้ของแข็งตี ให้กินข้าวเที่ยงกลางฝนที่ตกหนักและนั่งตากฝนอยู่เป็นเวลานาน และนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำค่ายอิงคยุทธบริหาร (อ.หนองจิก จ.ปัตตานี) โดยไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหา และไม่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อญาติ
- ระหว่างนั้นมีการสอบปากคำ โดยผู้ต้องคดีกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่บังคับให้รับว่าเป็นเจ้าของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เมื่อปฏิเสธก็ถูกซ้อมทรมาน ทั้งทำร้ายและบังคับให้ถอดเสื้อแล้วนำตัวไปนั่งในห้องปรับอากาศตรงจุดที่ไอเย็นตกลงมา
- วันที่ 4 ก.พ.2551 ญาติของผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวต่อศาลจังหวัดปัตตานี ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารปล่อยตัวทั้งคู่ในวันเดียวกัน
- ผู้ฟ้องคดีทั้งสองขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 เป็นเงิน 1,736,000 บาท และแก่ผู้ฟ้องคดีที่ 2 เป็นเงินจำนวน 1,717,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้อง เป็นค่ารักษาพยาบาล ค่าชดเชยความเสียหายของทรัพย์สิน (คอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ) และค่าเสียหายที่ทำให้สูญเสียอิสรภาพและชื่อเสียง พร้อมให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง (กองทัพบกและกระทรวงกลาโหม) จัดให้มีประกาศผลคำพิพากษาในคดีนี้ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอย่างน้อย 2 ฉบับ ฉบับละ 3 วันติดต่อกัน หรือหนังสือชี้แจงหรือหนังสือเวียนถึงหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับผู้ถูกฟ้องคดีและมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
ข้อต่อสู้ของทหาร "มีเหตุอันควรสงสัยจึงจับ-ปัดซ้อมทรมาน"
ด้านผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ 2 ให้การสรุปได้ว่า
- ผู้ฟ้องคดีทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะเจ้าหน้าที่ทหารใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 อันเป็นกฎหมายเฉพาะและเป็นอำนาจของฝ่ายทหาร ซึ่งได้กำหนดว่าผู้ฟ้องคดีร้องขอค่าเสียหายหรือค่าปรับจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารไม่ได้ตามมาตรา 16 ผู้ฟ้องคดีจึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายใดๆ ได้
- ผู้ฟ้องคดีทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กระทรวงกลาโหม) เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กองทัพบก) และที่ 2 (กระทรวงกลาโหม) ต่างเป็นนิติบุคคล มีอำนาจหน้าที่แยกต่างหากจากกัน ขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจที่ 11 และเจ้าหน้าที่ทหารค่ายอิงคยุทธบริหารเป็นข้าราชการทหารในสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 การปฏิบัติหน้าที่จึงอยู่ในความควบคุมดูแลรับผิดชอบของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 โดยตรงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ไม่อาจก้าวล่วงบังคับบัญชาข้าราชการทหารดังกล่าวได้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงไม่ใช่หน่วยงานของรัฐที่ต้องรับผิดต่อผู้ฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539
- การเข้าตรวจค้นบ้านเช่าของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง เพราะรับทราบข่าวว่ามีสมาชิกกลุ่มก่อความไม่สงบพักอาศัยที่บ้านเช่าหลังนี้ เมื่อไปถึงพบว่ามี 2 คนในจำนวน 7 คนเป็นผู้อยู่ในขบวนการก่อความไม่สงบและมีหมายจับ เมื่อค้นบ้านก็พบประกาศกลาโหมเกี่ยวกับการกำหนดชนิดยุทธภัณฑ์ที่ต้องขออนุญาต ข้อมูลเกี่ยวกับอาวุธที่ตำรวจควรรู้ เอกสารเกี่ยวกับสถานการณ์การก่อความไม่สงบ ภาพการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ รูปภาพของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองยะลา ภาพการประกอบระเบิดเครโม และไฟล์การรวบรวมระเบิดแบบต่างๆ ในเครื่องคอมพิวเตอร์
- ระหว่างการควบคุมเจ้าหน้าที่ทหารได้จัดให้อยู่ภายในห้องควบคุมซึ่งมีห้องน้ำภายในและมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ พร้อมจัดอาหารครบ 3 มื้อ ตลอดจนอุปกรณ์เครื่องใช้ให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ไมได้ทำร้ายหรือกระทำทารุณกรรม
- วันที่ 4 ก.พ.2551 ได้ปล่อยตัวผู้ฟ้องคดีทั้งสองและผู้ถูกควบคุมตัว พร้อมคืนสิ่งของของผู้ฟ้องคดีที่ยึดไว้ทั้งหมดในสภาพสมบูรณ์จนครบถ้วน โดยมี นายกูยิ อีแต ผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัวพร้อมผู้ฟ้องคดีที่ 1 เป็นผู้รับคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คและโทรศัพท์มือถือของผู้ฟ้องคดีที่ 1 ไว้แทน ส่วนคอมพิวเตอร์ของผู้ฟ้องคดีที่ 2 ไม่ได้มีการยึดไว้
- คำกล่าวอ้างบังคับให้ตากแดดหรือตากฝน ไม่มีพยานหลักฐานใดๆ ว่าผู้ฟ้องคดีได้รับบาดเจ็บจนต้องเดินทางไปรักษาพยาบาล และค่าเสียหายต่างๆ ที่เรียกก็สูงเกินจริง
- ขณะตรวจค้น เจ้าหน้าที่พบสิ่งของที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ก่อความไม่สงบและบุคคลที่ออกหมายจับร่วมอยู่ในบ้าน พฤติการณ์จึงมีเหตุอันควรสงสัยว่าจะเป็นภัยต่อความปลอดภัยของประชาชนและประเทศ จึงนำมาซึ่งการควบคุมตัวเพื่อสอบสวน จึงต้องกระทบสิทธิและเสรีภาพบ้าง
คำพิพากษาศาล : ทบ.ต้องรับผิดชอบการปฏิบัติของกำลังพล
สำหรับคำพิพากษาของศาล ระบุว่า มีประเด็นต้องวินิจฉัยรวม 2 ประเด็น กล่าวคือ
ประเด็นที่ 1 ผู้ฟ้องคดีทั้งสองมีสิทธิฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 หรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อมีกรณีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฏหมายในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในสังกัด ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองต้องรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ในสังกัดของตนนั้น (เพราะเป็นต้นสังกัด และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้รักษาการณ์ตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457) แม้เจ้าหน้าที่ชุดดังกล่าวจะปฏิบัติหน้าที่ภายใต้การควบคุมและบังคับบัญชาของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) สำนักนายกรัฐมนตรีก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องของการบริหารงานภายในเพื่อให้การสั่งการและแก้ไขสถานการณ์เป็นไปโดยมีเอกภาพ รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพเท่านั้น
วางบรรทัดฐาน "กฎอัยการศึก-พ.ร.ก." ไม่ยกเว้นการรับผิดทุกกรณี
สำหรับกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองอ้างว่า พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 มาตรา 16 บัญญัติว่า ความเสียหายซึ่งอาจบังเกิดขึ้นอย่างหนึ่งอย่างใดในเรื่องอำนาจของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารตามมาตรา 8 ถึงมาตรา 15 บุคคลหรือบริษัทใดๆ จะร้องขอค่าเสียหายหรือค่าปรับอย่างหนึ่งอย่างใดแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารไม่ได้เลย...ดังนั้นผู้ฟ้องคดีทั้งสองจึงไม่มีสิทธิฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองด้วยนั้น
ศาลเห็นว่า มาตรา 15 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกฯ ได้บัญญัติว่า ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใดจะเป็นราชศัตรู หรือได้ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของพระราชบัญญัตินี้ หรือต่อคำสั่งของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจกักตัวบุคคลนั้นไว้เพื่อการสอบถามหรือตามความจำเป็นของทางราชการได้ แต่ต้องกักไว้ไม่เกินกว่า 7 วัน
ขณะที่มาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกันบัญญัติคุ้มครองการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารตามมาตรา 8 ถึงมาตรา 15 แต่มิได้บัญญัติครอบคลุมยกเว้นความรับผิดกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 15 ทวิ ด้วย ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 15 ทวิ และหากเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารกระทำการอันไม่ชอบด้วยการดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองซึ่งเป็นหน่วยงานที่เจ้าหน้าที่ชุดดังกล่าวสังกัดอยู่ก็ย่อมมีความรับผิดตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 และพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457
เช่นเดียวกับกรณีพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) มาตรา 16 บัญญัติว่า ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฏหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองนั้น
ศาลเห็นว่า มาตรา 12 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าในการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่ต้องสงสัยตามประกาศในมาตรา 11 (1) ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อขออนุญาตดำเนินการ เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแล้วให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมและควบคุมตัวได้ไม่เกินเจ็ดวัน ดังนั้นหากการดำเนินการจับกุมและควบคุมตัวเป็นไปตามมาตรา 12 จึงจะเข้าเหตุยกเว้นตามมาตรา 16 ได้ แต่กรณีที่พิพาทในคดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ทหารไม่เป็นไปตามมาตรา 12 จึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 16 ผู้ฟ้องคดีจึงมีสิทธิฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองต่อศาลปกครอง
ชี้ทหารปฏิบัติการโดยชอบ แต่คุมตัวเกินอำนาจ
ประเด็นที่ 2 การที่เจ้าหน้าที่ทหารใช้อำนาจในการตรวจค้น ยึดทรัพย์สินและควบคุมตัวผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และหากไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้งสองหรือไม่ และผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองต้องรับผิดหรือไม่เพียงใด
ศาลพิเคราะห์แล้วสรุปแต่ละประเด็นได้ดังนี้
- เจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจตรวจค้นสถานที่และผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้ และเมื่อตรวจค้นแล้วพบบุคคลตามหมายจับของศาลในความผิดเกี่ยวกับเหตุความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมอยู่กับผู้ฟ้องคดีทั้งสองด้วย และพบคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์เก็บข้อมูล ประกาศกลาโหมเกี่ยวกับการกำหนดชนิดยุทธภัณฑ์ที่ต้องขออนุญาต ข้อมูลเกี่ยวกับอาวุธที่ตำรวจควรรู้ เอกสารเกี่ยวกับสถานการณ์การก่อความไม่สงบ ภาพการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ รูปภาพของเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรยะลา ภาพการประกอบระเบิดเครโม และไฟล์การรวบรวมระเบิดต่างๆ ซึ่งแม้ทรัพย์สินและเอกสารดังกล่าวจะเป็นข้อมูลทั่วไปและทุกคนเข้าถึงได้ (ตามอ้างของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง) แต่ก็เป็นข้อมูลที่ทุกคนหากไม่เกี่ยวข้องย่อมที่จะไม่นำมาเก็บรวบรวมไว้
ดังนั้นจึงมีเหตุอันควรที่เจ้าหน้าที่ทหารชุดดังกล่าวจะได้ควบคุมผู้ฟ้องคดีทั้งสองและยึดสิ่งของไว้เพื่อดำเนินการตรวจสอบ และการที่เจ้าหน้าที่ได้ตรวจค้นบ้านพักของผู้ฟ้องคดีทั้งสองและยึดสิ่งของดังกล่าวตามฟ้องก็ไม่ปรากฏเหตุความรุนแรง และการใช้อำนาจดังกล่าวก็ย่อมกระทบสิทธิบ้าง แต่ไม่ปรากฏว่าเกินกว่าความจำเป็นที่ต้องกระทำ ดังนั้นการที่เจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นและยึดสิ่งของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง จึงไม่เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด
- สำหรับกรณีเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวผู้ฟ้องคดีทั้งสองไว้เป็นเวลา 9 วัน ถือว่าเป็นการกระทำในคราวเดียวและต่อเนื่องกันตลอดมา หาเป็นคนละคราวดังที่ผู้ถูกฟ้องคดีกล่าวอ้างไม่ จึงเป็นการกักตัวไว้โดยไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 (ซึ่งอนุญาตให้กักตัวไว้ไม่เกิน 7 วันตามมาตรา 15 ทวิ) และเป็นการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ฟ้องคดีทั้งสองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน
แต่ค่าเสียหายจากการถูกควบคุมตัวที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการละเมิดจำนวน 500,000 บาท ตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งสองนั้น ยังเป็นค่าเสียหายที่สูงเกินส่วน เพราะมิได้ถูกควบคุมในเรือนจำและมิใช่ในฐานะจำเลยหรือผู้กระทำความผิด จึงเห็นควรลดเหลือกึ่งหนึ่ง จำนวน 250,000 บาท
เชื่อถูกซ้อมคนเดียว สั่งจ่ายค่ารักษาพยาบาล
สำหรับค่าเสียหายของผู้ฟ้องคดีทั้งสองจากการรักษาพยาบาล กรณีเจ้าหน้าที่ที่ทำการควบคุมตัวผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้ใช้กำลังทำร้ายผู้ฟ้องคดีทั้งสองในระหว่างการจับกุม และควบคุมตัวผู้ฟ้องคดีทั้งสองนั้น เห็นว่า กรณีของผู้ฟ้องคดีที่ 1 มีพยานหลักฐานทางเวชระเบียนประกอบกับภาพถ่ายบาดแผลที่สอดคล้องกัน จึงน่าเชื่อว่าบาดแผลตามที่แพทย์วินิจฉัยไว้เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในระหว่างการควบคุมตัว ดังนั้นเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กองทัพบก) จึงกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีที่ 1 ตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายได้แก่ค่ารักษาพยาบาลให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 เป็นเงิน 5,000 บาทตามขอ
ส่วนผู้ฟ้องคดีที่ 2 นั้น เห็นว่า ไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดๆ สนับสนุนข้อกล่าวอ้างให้ศาลเห็นว่าถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายระหว่างการควบคุมตัว ศาลจึงไม่อาจกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 2 ได้
สำหรับค่าเสียหายจากการใช้ชีวิตอย่างปกติสุขจากการเสียศักดิ์ศรี ถูกดูหมิ่น และค่าเสียหายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 32 (สิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย ห้ามการทรมาน ทารุณกรรม) นั้น เห็นว่าการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ทหารในการตรวจค้น ยึดทรัพย์สิน และควบคุมตัวผู้ฟ้องคดีทั้งสองไม่ได้กระทำการเกินกว่าเหตุ และเป็นค่าเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองคาดหมายโดยไม่ปรากฏพยานหลักฐานให้ฟังได้ตามที่อ้าง เช่นเดียวกับการขอให้ประกาศในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น และมีหนังสือถึงหน่วยงานราชการเกี่ยวกับกรณีนี้ ก็ยังหามีน้ำหนักให้รับฟังขึ้นไม่
ส่วนค่าเสียหายจากเครื่องคอมพิวเตอร์ชนิดพกพาและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ฟ้องคดีที่ 1 นั้น ปรากฏหลักฐานว่า นายกูยิ อีแต ซึ่งเป็นเพื่อนของผู้ฟ้องคดีที่ 1 ลงลายมือชื่อรับทรัพย์สินไปแทนแล้ว และมิได้มีพยานหลักฐานใดแสดงว่าเกิดความเสียหายขณะอยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ทหารดังกล่าว ส่วนทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีที่ 2 ไม่ปรากฏว่าได้มีการตรวจยึด ที่อ้างว่าเกิดความวิตกหวาดกลัวจนขาดสติสัมปชัญญะ จึงลงชื่อไว้ในแบบบันทึกบัญชีทรัพย์สินโดยไม่ได้ตรวจสอบความถูกต้องก่อนนั้น เป็นเหตุผลที่ยังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ เพราะการลงลายมือชื่อดังกล่าวย่อมมีผลกระทบต่อผู้ฟ้องคดีที่ 2 จึงเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ฟ้องคดีที่ 2 จะไม่คัดค้านหากไม่ถูกต้อง
สำหรับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กระทรวงกลาโหม) ศาลเห็นว่าไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาโดยตรงของเจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติการ ดังนั้นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กองทัพบก) จึงต้องรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่อันเกิดจากการใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กองทัพบก) ชำระเงินแก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 (นายอิสมาแอ เตะ) จำนวน 255,000 บาท และผู้ฟ้องคดีที่ 2 (นายอามีซี มานาก) จำนวน 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 14 ม.ค.2552 ซึ่งเป็นวันฟ้องคดีเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพอาคารศาลปกครองสงขลา จากเว็บไซต์เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน http://www.naksit.org/content/view.php?id=584