WHO ไม่เห็นด้วยให้หลักประกันสุขภาพไทยเป็นเรื่องของคนจนหรือด้อยโอกาส
องค์การอนามัยโลกแนะมองระบบหลักประกันสุขภาพไทยต้องดูภาพรวมทั้ง 3 กองทุน บัตรทอง ข้าราชการ ประกันสังคม เพื่อพัฒนายั่งยืนทั้งระบบสุขภาพ เสนอจำกัดการร่วมจ่าย ป้องกันครัวเรือนล้มละลาย/ยากจน ชื่นชมระบบไทยมีประสิทธิภาพสูงจัดส่งสุขภาพที่ดี ป้องกันภาวะล้มลายด้วยต้นทุนที่ต่ำ เป็นแบบอย่างนานาชาติ เสนอปรับกลไกจ่ายเงินสอดคล้องกัน
นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ในฐานะประธานกรรมการจัดทำแนวทางการระดมทรัพยากรเพื่อความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ องค์การอนามัยโลก โดย พญ.มารี พอล คีน ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ด้านระบบสุขภาพและนวตกรรม (Dr.Marie-Paule Kieny, WHO Assistant-Director General for health systems and innovation) และ นายโจเซฟ กัทซิน ผู้ประสานงานด้านนโยบายการคลังสุขภาพ (Mr.joseph kutzin, Coordinator, Health Financing Policy) มีข้อคิดเห็นต่อข้อเสนอการคลังสุขภาพเพื่อความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพ หรือ SAFE ที่จัดทำโดยคณะกรรมการฯ ซึ่งองค์การอนามัยโลกสนับสนุนการมองระบบหลักประกันสุขภาพที่เป็นองค์รวมของทั้งประเทศ ไม่มองแยกส่วนเฉพาะกองทุนใดกองทุนหนึ่ง และในการปฏิรูปก็ควรดำเนินการทั้ง 3 กองทุน คือ กองทุนสวัสดิการข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อความยั่งยืนของระบบ
ส่วนข้อเสนอเป้าหมายและตัวชี้วัดด้านความเป็นธรรมนั้น องค์การอนามัยโลกเห็นว่า ควรคงเรื่องสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นของประชาชนทุกคน ไม่เห็นด้วยกับการทำให้หลักประกันสุขภาพเป็นแค่เรื่องของคนจนหรือแค่คนด้อยโอกาส แต่หลักประกันสุขภาพควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทยทุกคน ซึ่งวิธีการที่กองทุนบัตรทองของไทยใช้ถือเป็นแนวปฏิบัติที่ดีที่นานาชาติจะยึดถือเป็นแบบอย่างได้
ในเรื่องการเป็นแบบอย่างนี้ องค์การอนามัยโลกกล่าวชื่นชมความสำเร็จของระบบหลักประกันสุขภาพของไทยในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา นพ.สุวิทย์ ระบุว่าเป็นความสำเร็จที่ยอมรับอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างหลักประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้าให้แก่คนไทย การลดปัญหาการเข้าถึงบริการสาธารณสุขด้วยงบประมาณที่ลงทุนต่ำ เมื่อเทียบกับในหลายประเทศ ระบบหลักประกันสุขภาพไทยมีประสิทธิภาพที่สูงในการจัดส่งสุขภาพที่ดีและการป้องกันภาวะล้มลายด้วยต้นทุนที่ต่ำ ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้นำประสบการณ์ปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพของไทยบรรจุในรายงานหลายฉบับขององค์การอนามัยโลก รวมถึงเนื้อหาการอบรมการเงินการคลังสุขภาพและการปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพแก่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกด้วย
นพ.สุวิทย์ กล่าวต่อว่า องค์การอนามัยโลกสนับสนุนการมุ่งเน้นของไทยที่จะรักษาระดับรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลของประชาชนให้อยู่ในระดับที่ต่ำเช่นนี้ และระบุว่า ขณะเดียวกันมาตรการป้องกันภาวะล้มละลายของครัวเรือนนี้เกี่ยวข้องค่อนข้างมากกับการร่วมจ่าย ดังนั้นองค์การอนามัยโลกจึงขอสนับสนุนมาตรการและเป้าหมายที่สุ่งเน้นการจำกัดการร่วมจ่ายอันจะนำไปสู่ภาวะล้มละลายหรือยากจนของครัวเรือน
“ส่วนข้อเสนอด้านการเงินการคลังนั้น ในส่วนของกองทุนประกันสังคม หากยังคงให้ผู้ประกันตนจ่ายสมทบสวัสดิการสุขภาพทุกเดือน รัฐบาลควรพิจารณายกเลิกเพดานการร่วมจ่าย โดยระบุว่ามาตรการนี้จะช่วยมีเงินในกองทุนประกันสังคมเพิ่มขึ้น ไม่ตกอยู่ในสภาวะถดถอยดังเช่นที่เป็นอยู่”
ที่สำคัญกว่านั้น คือแหล่งที่มาของงบประมาณที่รัฐใช้สำหรับงบหลักประกันสุขภาพ ควรพิจารณาขยายฐานงบกองทุนจากการใช้ภาษีเงินได้ของประชาชน มาเป็นการดึงภาษีจากทุกแหล่ง รวมถึงภาษีลงทุน ภาษีคนรวย เป็นต้น ถือเป็นการเพิ่มความหลากหลายของแหล่งทุนที่จะป้อนเข้าสู่งบ ซึ่งฝรั่งเศสและฮังการีได้ใช้มาตรการนี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาระดับของงบประมาณในกองทุนให้คงที่ไว้ ไม่ให้ลดลง โดยลดผลกระทบเชิงลบต่อรายได้ของประชาชน
สำหรับประเด็นเพิ่มประสิทธิภาพ ความคุ้มค่า และความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพทั้ง 3 ระบบหลักของไทยนั้น องค์การอนามัยโลกระบุว่า ประเด็นสำคัญคือการจ่ายเงินแก่ผู้ให้บริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลไกการจ่ายที่ไม่ส่งเสริมให้ผู้ให้บริการใช้ยาหรือเทคโนโลยีการแพทย์ที่ไม่สมเหตุผล ซึ่งองค์การอนามัยโลกสนับสนุนการใช้งบประมาณปลายปิด ดังที่กองทุนบัตรทองดำเนินการอยู่ และได้ระบุถึงข้อเสียหากใช้งบประมาณปลายเปิดในระบบหลักประกันสุขภาพว่า จะก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการคลังของรัฐ และการคุ้มครองประชาชนต่อภาวะล้มละลาย ทั้งยังนำไปสู่การใช้บริการเกินจำเป็นที่ส่งผลเสียมากกว่าผลดี ดังที่เกิดขึ้นแล้วในจีน และเกิดกับกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการของไทย ที่มีรายงานการใช้บริการเกินความจำเป็นและเสี่ยงต่อชีวิตและสวัสดิภาพ
“องค์การอนามัยโลกเห็นด้วยกับข้อเสนอ SAFE ในประเด็นการปรับกลไกการจ่ายเงินให้ผู้ให้บริการทั้ง 3 กองทุนให้สอดคล้องกัน โดยระบุว่าเป็นการตัดสินใจที่ชาญฉลาดและตั้งอยู่บนหลักฐานเชิงประจักษ์ ซึ่งการปรับกลไกการจ่ายเงินให้มีความเป็นหนึ่งเดียว แม้ว่าประเทศนั้นๆ จะมีหลายกองทุนสุขภาพ เช่น เยอรมนี และญี่ปุ่น จะช่วยลดความด้อยประสิทธิภาพของการคลังในระบบหลักประกันสุขภาพได้” นพ.สุวิทย์กล่าว
ภาพประกอบ:เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์